"มิ่งขวัญ" อ้างหลักการค้าเสรี ยังไม่กล้าออกประกาศห้ามเคลื่อนย้ายสุกรออกนอกพื้นที่-ส่งออกต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาหมูแพง ตามที่พาณิชย์เคยขู่เอาไว้ก่อนหน้านี้ กกร.ตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุดดูแลน้ำมัน ปุ๋ย และอาหารสัตว์ พร้อมกำชับ การส่งออกต้องมีใบขนย้ายถูกต้อง
วันนี้(19 มี.ค.) นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่า กกร.ยังไม่มีมติออกประกาศห้ามเคลื่อนย้ายสุกรออกนอกพื้นที่ โดยเฉพาะการส่งออกลูกสุกรและสุกรไปต่างประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามกลไกการค้าเสรี แต่ยอมรับว่า การส่งออกสุกรเมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 97,551 ตัว ซึ่งเป็นตัวเลขทางการ แต่ได้รับรายงานการส่งออกสุกรที่มีการลักลอบและไม่ได้แจ้งอย่างเป็นทางการนับแสนตัว และหากดูตัวเลขเดือนมกราคม 2551 ตัวเลขทางการ มีการส่งออกถึง 14,738 ตัว
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์จะออกประกาศให้ผู้ส่งออกสุกรในเขตพื้นที่จังหวัดต่างๆ ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนทั้งใบขนย้าย ใบส่งออก ใบรับรองจากกรมปศุสัตว์ และอื่นๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และจะขอดูไปสักระยะหนึ่ง หากเห็นว่ายังมีปัญหาลักลอบหรือส่งออกลูกสุกร หรือสุกรเป็นปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง กกร.จะประกาศห้ามเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ทันที
นายมิ่งขวัญ กล่าวว่า เท่าที่มีการติดตามปริมาณสุกรทั้งการบริโภคและส่งออก คาดการณ์ปีนี้จะมีการผลิตประมาณ 14 ล้านตัว เฉลี่ยต่อเดือนจะอยู่ที่ 1.1 ล้านตัว เฉลี่ยต่อวัน 38,000 ตัว ซึ่งขณะนี้ปริมาณยังปกติ แต่หลายฝ่ายกังวลจากปัญหาลูกสุกรเกิดโรคระบาดท้องเสียอาจจะทำให้สุกรขาดแคลน ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ มติที่ประชุม กกร. ยังเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการดูแลสินค้าปุ๋ย อนุกรรมการดูแลอาหารสัตว์ และอนุกรรมการดูแลน้ำมันพืช โดยจะมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมในคณะอนุกรรมการดังกล่าว เพื่อศึกษาต้นทุนที่แท้จริงของสินค้าทั้ง 3 รายการว่ามีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบทั้งในประเทศและต่างประเทศมีต้นทุนแท้จริงอย่างไร
โดยทั้ง 3 คณะจะเร่งพิจารณาต้นทุนต่างๆ ให้เสร็จภายใน 3 สัปดาห์ก่อนประกาศกำหนดราคาแนะนำในการจำหน่าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและประโยชน์ต่อผู้บริโภค รวมถึงเกษตรกรและผู้ประกอบการ ซึ่งจะต้องมีความเป็นธรรมไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ โดยราคาแนะนำจะเป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนแท้จริงเป็นราคาตามกลไกตลาด เพื่อให้มีความชัดเจน ในกรณีสินค้าปุ๋ย ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บ หากไม่แจ้งจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“มาตรการที่ต้องการให้ผู้ประกอบการแสดงหลักฐานข้อยืนยันในการส่งออกสุกร ไม่ได้ห้ามส่งออก แต่ต้องการทำให้ทุกฝ่ายดำเนินการตามกฎหมาย และกระทรวงพาณิชย์จะติดตามอย่างใกล้ชิด หากจำเป็นก็ต้องใช้มาตรการอื่นดูแล เพราะต้องการดูตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางและราคาที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะมีการพิจารณาปรับสูตรคำนวณต้นทุนของสุกรทั้งระบบใหม่ เพื่อให้เกิดความยุติธรรม เชื่อว่าจะชัดเจนในเร็วๆ นี้” นายมิ่งขวัญ สรุปทิ้งท้าย