xs
xsm
sm
md
lg

บจ.ผลตอบแทน Q4/50 พุ่ง ดบ.ลดหนุนกำไรสุทธิเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยไตรมาส 4/50 บจ.ให้อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นเพิ่มเป็น 3.1% จากงวดเดียวกันปีก่อน 2.8% หลังกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น จากมีภาระจ่ายดอกเบี้ยต่ำลง นำโด่งโดยกลุ่มเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นสูงสุด ด้านการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรลดลง 1.7% ซึ่งกลุ่มบริการลดลงมากที่สุด 49.4% ขณะที่การระดมทุนมีมูลค่า 4.9 หมื่นล้านบาท ลดลง 25%

สายงานวิจัยและข้อมูลสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานข้อมูลด้านประสิทธิภาพการดำเนินงาน การลงทุน และการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประจำไตรมาส 5 ปี 2550 ว่า บริษัทจดทะเบียนไม่รวมกลุ่มการเงินและกลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด (Non-Performing Group : NPG) มีประสิทธิภาพการดำเนินงานโดยรวมดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันปี 2549

โดยกลุ่มบริษัทจดทะเบียนมีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return on Equity: ROE) เพิ่มขึ้นเป็น 3.1% จากไตรมาส 4/49ที่ 2.8% เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนกำไรสุทธิซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 5.1% มาอยู่ที่ระดับ 6.8% เพราะบริษัทจดทะเบียนมีภาระค่าดอกเบี้ยน้อยลง
สำหรับกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) และกำไรสุทธิมากที่สุด คือ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม โดยอยู่ที่ระดับ 4.3% และ 10.6% เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปีก่อนที่มี 1.1 และ 2.7% ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเพิ่มขึ้นของ ROE และอัตรากำไรสุทธิมากที่สุด คือ กลุ่มเทคโนโลยี เพิ่มขึ้นจาก 3% และ 5.3% มาอยู่ที่ระดับ 4.3%และ 7.9%

ส่วนอัตราผลตอบแทนจากการใช้ทุน (Return on Capital Employed: ROCE) เพิ่มขึ้น 0.1% มาอยู่ที่ 3.3% จากเดิม 3.2% ขณะที่ด้านความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนลดลง โดยมีอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (interest coverage ratio) เพิ่มขึ้นจากระดับ 5.1 เป็น 8 เท่า นอกจากนี้บริษัทจดทะเบียนยังมีกระแสเงินสดที่ดี โดยมีเงินสดรับจากการดำเนินงาน (Cash flow from operation) จำนวน 1.45 แสนล้านบาท (ซึ่งกลุ่มทรัพยากรมีเงินสดรับจากการดำเนินงานมากที่สุด 6.21 หมื่นล้านบาท)

ทั้งนี้ ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมใช้เงินสดรับในด้านการลงทุน 1.05 แสนล้านบาท โดยเน้นลงทุนในสินทรัพย์ถาวร 8.84 หมื่นล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 1.7% ซึ่งกลุ่มบริการมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรลดลงมากที่สุด 49.4%มาอยู่ที่ 1.27 หมื่นล้านบาท ขณะที่กลุ่มทรัพยากรมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมากที่สุด 4.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.7% ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร1.23 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 148.8% จากงวดเดียวกันปีก่อน

สำหรับการระดมทุนในไตรมาส 4/50 มีมูลค่ารวมกว่า 4.9 หมื่นล้านบาท ลดลงร้อยละ 25.9 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2549 แบ่งเป็น การระดมทุนในตลาดแรกโดยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก มูลค่า 1.7 พันล้านบาท และระดมทุนในตลาดรองรวม 4.76 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนแบบเฉพาะเจาะจงมูลค่า 3.64 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 73.8% ของยอดระดมทุนรวม รองมาเป็นการระดมทุนผ่านผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหลักทรัพย์ (วอร์แรนต์) มีมูลค่า 5.1 พันล้านบาท คิดเป็น 10.3% ของยอดระดมทุนรวม ส่วนและการเสนอขายหุ้นออกใหม่ แก่ประชาชนทั่วไป (PO) 1.7 พันล้านบาท คิดเป็น 3.4%ของยอดระดมทุนรวม

อย่างไรก็ตามบริษัทที่มีการระดมทุนในตลาดรองมาที่สุดคือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)หรือ TMB จำนวน 3.76 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 79%ของยอดระดมทุนโดยส่วนใหญ่เป็นระดมทุนโดยเสนอขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจง รองมาคือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY จำนวน 3.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 6.5%ของยอดระดมทุนในตลาดรอง

ทั้งนี้ จากภาพรวมการระดมทุนแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น พบว่ามีการระดมทุนกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงิน คิดเป็น 82.8% ของมูลค่าระดมทุนรวมหรือ 4.08 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.7%จากไตรมาส4/2549 รองมาคือกลุ่มทรัพยากร คิดเป็น 4.6% ของการระดมทุนทั้งหมด มูลค่าระดมทุน 2.3 พันล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น