xs
xsm
sm
md
lg

วางกรอบโบรกลงทุนนอก ก.ล.ต. อนุมัติ 5 ล.ดอลล์/ครั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.ล.ต.ร่อนหนังสือเวียนกำหนดกรอบให้บริษัทหลักทรัพย์ขนเงินออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ระบุต้องขอวงเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อพิจารณาอนุมัติในสักษณะเรียลไทม์วงเงินรวมสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่อนุมัติไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อครั้ง พร้อมเรียกวงเงินคืนหากไม่ใช้เงินภายใน 30 วันนับจากวันอนุมัติ

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า ก.ล.ต. ได้ส่งหนังสือเวียนถึงบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เรื่องการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของบริษัทหลักทรัพย์ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ผ่อนคลายให้บริษัทหลักทรัพย์ทรัพย์สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้

โดยปัจจุบัน ธปท. ได้แจ้งต่อก.ล.ต.ขอให้การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของบริษัทหลักทรัพย์เป็นส่วนหนึ่งในการใช้วงเงินที่ก.ล.ต.ได้รับจัดสรรจากธปท.ด้วย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2551

ทั้งนี้ เพื่อให้ก.ล.ต.จัดสรรวงเงินการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และบล.มีความคล่องตัวในการทำธุรกรรมดังกล่าว สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้ออกประกาศเรื่องการรายงานการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศของบริษัทหลักทรัพย์ พร้อมยกเลิกหนังสือเวียนที่ก.ล.ต.ธ.(ว)15/2550 เรื่องการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์ในต่างประเทศลงวันที่ 19 มีนาคม 2550 และกำหนดแนวทางการปฎิบัติกรณีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของบริษัทหลักทรัพย์ดังนี้

บริษัทหลักทรัพย์จะต้องขออนุมัติวงเงินการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของก.ล.ต. (Foreign Investmen Allotment : FIA) ซึ่งเป็นระบบที่จะอนุมัติวงเงินในลักษณะ (real time) โดยแต่ละบล.จะสามารถลงทุนในต่างประเทศภายใต้วงเงินสูงสุดไม่เกินบริษัทละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ระบบดังกล่าวจะจัดสรรวงเงินลงทุนให้ครั้งละไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสามารถขอจัดสรรเพิ่มได้เมื่อใช้วงเงินที่จัดสรรไปแล้วถึง 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และก.ล.ต.จะเรียกวงเงินจัดสรรดังกล่าวคืนหากวงเงินที่ได้รับจัดสรรไม่ได้ถูกใช้ไปภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับอนุมัติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัทหลักทรัพย์ได้ซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศและได้นำเงินออกไปนอกประเทศหรือเมื่อมีการขายหลักทรัพย์และนำเงินกลับคืนมาในประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ต้องรายงานการใช้วงเงินผ่านระบบFIA อย่างช้าภายในวันทำการถัดจากวันที่บริษัทมีการชำระราคาการลงทุนดังกล่าว ซึ่งก.ล.ต.ไม่ได้มีการกำหนดกรอบการลงทุนสำหรับบริษัทหลักทรัพย์ในทำนองเดียวกับหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนรวม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตราสารที่บริษัทเลือกลงทุนจะมีผลต่อการคำนวณ และความสามารถในการดำรงเงินกองทุนสภาพคล่องของบริษัท

ดังนั้น บริษัทหลักทรัพย์จึงต้องมั่นใจว่าตนมีความพร้อมในการลงทุน โดยควรจัดให้มีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งจัดให้มีระบบงานที่รัดกุมเพื่อรองรับการบริหารจัดการความเสี่ยง ซึ่งอย่างน้อยควรประกอบด้วย credit risk,mark risk และ foreign exchange risk

นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์จะต้องแจ้งนโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงานในการลงทุนต่างประเทศ และนโยบาย ระบบและขั้นตอนการบริหารจัดการความเสี่ยงตามประกาศดังกล่าว ให้ก.ล.ต.ใน 30 วัน นับจากวันที่เริ่มทำการลงทุนในต่างประเทศ บล.ต้องแบ่งแยกพอร์ตเพื่อการลงทุน และเพื่อการค้าอย่างชัดเจน บล.จะต้องรายงานข้อมูลการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ เช่นเดียวกับแนวทางการรายงานปัจจุบันตามรูปแบบและวิธีการที่ธปท.กำหนด

ส่วนในกรณีที่บล.ออกตราสารทางการเงินสกุลบาท (structured note) อ้างอิงตัวแปรต่างประเทศขายแก่บุคคลทั่วไป หากบริษัทหลักทรัพย์ต้องการบริหารความเสี่ยงโดยback to back กับต่างประเทศโดยการซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศ ให้ถือว่าการซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศนั้นถือเป็นการลงทุนและนับเป็นวงเงินของลูกค้า แต่หากเป็นการบริหารความเสี่ยงโดยการทำธุรกรรมderivatives กับต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ต้องได้รับอนุญาตจากธปท.ก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น