โบรกฯ เผยลือกันตั้งแต่เช้า รมว.คลัง กดดันหนักให้ยกเลิก 30% หวั่นตลาดหุ้นผันผวนแรง หลังเงินเก็งกำไรไหลเข้าพัก เพื่อรอเข้าลุยส่วนฟันต่างในตลาดการเงิน พร้อมเชื่อว่า หากมีการยกเลิกในเร็วๆ นี้ อาจได้เห็นค่าเงินบาทแข็งแตะ 29 บาท/ดอลลาร์
วันนี้ (29 ก.พ.) แหล่งข่าวจากวงการบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) เปิดเผยว่า มีข่าวลือสะพัดไปตามห้องค้า ว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับแรงกดดันอย่างมากจากภาครัฐ ให้ทำการยกเลิกการใช้มาตรการสำรอง 30% โดยเฉพาะในช่วงเช้ามีข่าวหนาหูออกมาว่า ธปท.อาจจะต้องยกเลิกมาตรการดังกล่าวเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างขึ้นกับ ธปท.เป็นผู้ผู้ตัดสินใจในครั้งนี้ เพราะไม่ว่าทางผู้ว่าการ ธปท.จะตัดสินใจอย่างไรออกมา ก็จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดเอาไว้อยู่แล้ว ต่อให้รัฐมนตรีคลัง ก็ไม่สามารถทำอะไรได้
ดังนั้น หากประเมินจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ มองว่าเป็นเรื่องยากที่ ธปท.จะประกาศยกเลิกมาตรการสำรอง 30% หากยังไม่ได้มีมาตรการอื่นมารองรับเลย อีกทั้งค่าเงินบาทก็ยังแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหากมีการยกเลิกมาตรการสำรอง 30% จริง ก็มีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นอีก โดยขณะนี้มองการแข็งค่าของเงินบาทไว้แถว 29-30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
“ที่จริงตอนนี้มีเงินรออยู่นอกตลาด พร้อมที่จะเข้ามาเล่นเก็งกำไรค่าเงินบาท ทันทีที่ยกเลิกมาตรการสำรอง 30% ก็จะสนับสนุนให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นในระยะหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะมีแรงขายออกมา เพื่อที่จะทำการโยกเม็ดเงินออกจากตลาดทุนไปเล่นเก็งกำไรเงินบาทในตลาดเงินแทน และเชื่อว่ายังไงเงินบาทก็ต้องแข็งค่าขึ้นอีกแน่นอน หากยกเลิกมาตรการสำรอง 30% จริง”
ขณะที่ บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันซ่า กล่าวถึงกระแสข่าวลือที่แบงก์ชาติจะเปิดแถลงด่วนบ่าย 4 โมง วันนี้ เกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะยกเลิก เนื่องจากนับแต่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 18 ธ.ค.06 ค่าเงินบาทแข็งค่าไปแล้ว 13% มากกว่าเพื่อนบ้าน แสดงว่าให้ยาไม่ตรงกับโรค
นอกจากนั้น ที่ผ่านมา ได้มีการแก้ไข ผ่อนผัน และยกเว้นไปเยอะแล้ว จนกระทั่งเฉพาะเงินลงทุนจากต่างประเทศที่จะมาลงทุนในตราสารหนี้และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) ที่ยังโดน 30% ในขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้น หรือเงินลงทุนโดยตรง (FDI: Foreign Direct Investment) ไม่โดน
ส่วนผลกระทบหากมีการยกเลิกมาตรการ 30% ระยะสั้น เป็นตัวกระตุ้นให้เงินไหลเข้ามาไทยมาขึ้น (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) โดยเฉพาะการหนีร้อน (USD) มาพึ่งเย็น (THB) ซึ่งหุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์ไม้แรก คือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ที่มีแผนจะออก หรือขยาย Property Fund ได้แก่ CPN TICON SF TDF และ AMATA ในอนาคต
กลุ่มที่เป็นไม้รอง คือ “กลุ่มโบรกเกอร์” ที่วอลุ่มอาจทะลัก จับตา PHATRA BSEC และ KGI
ส่วนกลุ่มที่อาจโดนขายออก คือ “ส่งออก ตระกูล 3 อ” คือ ออโต้ อิเลกทรอนิกส์ และอาหาร
โดยในระยะยาว ต้องติดตามผลกระทบของการแข็งค่าเงินบาทให้ดี เพราะท้ายสุดแล้วหากแข็งกว่าคู่แข่งมากเกินไปอาจทำให้สะเทือนความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจส่งออกซึ่งคือเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของบ้านเรา