xs
xsm
sm
md
lg

SPPT ผลงานงวดสิ้นปี 50 ทรุด 80% กำไรขั้นต้นตกใช้จ่ายพุ่งหมดสิทธิภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

SPPT ผลงานงวดสิ้นปี 50 กำไรทรุด 80% อ้างหมดสิทธิประโยชน์ทางภาษี กำไรขั้นต้นลด อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่ม ส่งผลให้กำไรตก สวนทางกับรายได้รวมที่ขยับเพิ่มเล็กน้อย

นายชาคริต เมธิกุลชนันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (SPPT) แจ้งผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยประจำปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2550 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 90.36 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 162.56 ล้านบาท หรือกำไรสุทธิลดลง 79.90%

ทั้งนี้ เป็นผลจากบัตรส่งเสริมการลงทุนฉบับที่ 1 ได้หมดอายุเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2548 บริษัทกลับมาได้รับผลประโยชน์ทางภาษีอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2550 หลังจากได้โอนย้ายไปทำการผลิตที่สวนอุตสาหกรรมอินทราที่สิงห์บุรี ทำให้บริษัทสามารถประหยัดค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลได้มา แต่กำไรสุทธิหลังภาษีเงินได้ก็ลดลง อันเป็นผลจากการลดลงของอัตรากำไรขั้นต้น การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร และผลการขาดทุนของบริษัทย่อย 4.7 ล้านบาท

สำหรับรายได้รวมในปี 2550 บริษัทมี 702.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 38.8 ล้านบาท หรือ 5.8% จากรายได้จากการขายและบริการเพิ่มขึ้น 6.5% เกิดจากรายได้จากการขายกลุ่มธุรกิจ Consumer Electronic &Entertainment เพิ่มขึ้น 144.6% และรายได้จากการขายของกลุ่มธุรกิจ Auto & Machine Parts เพิ่มขึ้น 100.7% และรายได้จากการขายของกลุ่มธุรกิจ Hard Disk Drive ลดลง 2.2% การเพิ่มขึ้นของลูกค้าใหม่ในระหว่างปีในกลุ่มธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มธุรกิจ HDD ช่วยเสริมเพิ่มรายได้จากการขายโดยรวม และเป็นไปตามนโยบายของบริษัทที่จะกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่นๆ นอกจากกลุ่มธุรกิจ HDD ส่วนรายได้อื่น ซึ่งเกิดจากการขายเศษวัตถุดิบที่เกิดจากขบวนการผลิต คือทองเหลืองและสเตนเลส ปรับตัวลดลงเล็กน้อย

สำหรับต้นทุนขายในปี 2550 ก็เพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนวัตถุดิบ ตั้งแต่ครึ่งหลังของปีก่อนเป็นต้นมา ทั้งทองเหลืองและสเตนเลสโดยเฉลี่ยที่ 60% และ 14% ตามลำดับ ค่าใช้จ่ายในการผลิตเพิ่มขึ้นมากอันเนื่องมาจากการขยายกำลังการผลิต และการเปิดดำเนินงานการผลิตโรงงานแห่งที่สอง ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะเป็นเงินเดือนและค่าจ้าง สวัสดิการพนักงาน ค่าเสื่อมราคา และค่าขนย้ายเครื่องจักร จึงทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารก็เพิ่มตาม อันเป็นการเตรียมความพร้อมในเรื่องของบุคลากร เพื่อรองรับการขยายงานในอนาคตและได้รวมค่าใช้จ่ายของบริษัทย่อยด้วยอัตราร้อยละการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เนื่องจากบริษัทยังไม่สามารถรับรู้รายได้จากบริษัทย่อยได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนี้

จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่ออัตรากำไรขั้นต้นปี 2550 ลดลงจากเดิม 26.1 % เหลือ 14.5 % เกิดจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการผลิตได้เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการเปิดโรงงานใหม่ ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่อหน่วยปรับตัวสูงขึ้นมาก จึงต้องใช้เวลาเพื่อปรับตัวเพื่อให้ได้ปริมาณกับขนาดของการผลิตที่เหมาะสมและประหยัด (Economy of Scale) ขณะที่การปรับราคาขายสินค้าได้ไม่ทันกับต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้กำไรขั้นต้นลด
กำลังโหลดความคิดเห็น