xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติออกบอนด์ล็อตแรก วงเงิน 5 หมื่นล.-เพิ่มการออม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติคลอดพันธบัตรออมทรัพย์ล็อตแรกของปีนี้ วงเงิน 50,000 ล้านบาท อายุ 4 ปี และ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรอายุ 4 ปี 3.91% ต่อปี ส่วนพันธบัตรอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 4.53% ต่อปี เปิดขายให้ประชาชนตั้งแต่วันที่ 18-26 กุมภาพันธ์ 2551 นี้ ระบุเพื่อเป็นทางเลือกในการออมและการลงทุนให้ประชาชน

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.พร้อมด้วยตัวแทนจากธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง ร่วมลงนามในบันทึกความตกลงว่าด้วยการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท.ปี พ.ศ.2551 ครั้งที่ 1 อายุ 4 ปี และ 7 ปี วงเงิน 50,000 ล้านบาท เมื่อวานนี้ (7 ก.พ.) เพื่อรองรับความต้องการซื้อตราสารหนี้ต่างๆ เมื่อพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากบังคับใช้ และเป็นทางเลือกในการออมที่มีการลงทุนความเสี่ยงต่ำและผลตอบแทนดีให้แก่ผู้ที่ต้องการออมระยะยาวและมีรายได้ดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินนโยบายการเงินด้วยการดูแลสภาพคล่องตลาดเงินในระบบ

“การออกขายพันธบัตร ธปท.ครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อการระดมทุนไปใช้ประโยชน์อะไร แต่ต้องการสร้างทางเลือกในการออมและการลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยให้กับประชาชน พร้อมทั้งการออกพันธบัตรครั้งก่อนมีกระแสตอบรับที่ดี ส่วนหากความต้องการของประชาชนทั่วไปมีมากจนยอดจองเกินกว่าวงเงินออกพันธบัตร 5 หมื่นล้านบาท ก็จะขอดูสถานการณ์ก่อน”

ทั้งนี้ ธปท.จะประกาศอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรทั้ง 2 ประเภท ในวันที่ 15 ก.พ.นี้ โดยอ้างอิงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 4 ปี และอายุ 7 ปี เป็นฐานในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย บวกด้วยส่วนต่างไม่เกิน 15% ของอัตราผลตอบแทน ซึ่งพันธบัตรจะลงวันที่ 27 ก.พ.2551 และผู้ถือพันธบัตรจะได้รับดอกเบี้ยปีละ 2 งวด คือ ในวันที่ 27 ก.พ.และ 27 ส.ค. ของทุกปี จนกว่าพันธบัตรจะครบกำหนด และได้รับชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวนเมื่อถือจนครบอายุในพันธบัตร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับอัตราอ้างอิงของผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve) ของธปท.ซึ่งประกาศล่าสุด ณ วันที่ 7 ก.พ.พันธบัตรอายุ 4 ปี อยู่ที่ 3.40% ส่วนพันธบัตรอายุ 7 ปี อยู่ที่ 3.94% ซึ่งหากบวกส่วนต่าง 15% ของผลตอบแทน อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรอายุ 4 ปี จะอยู่ที่ประมาณ 3.91% ต่อปี ส่วนพันธบัตรอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ประมาณ 4.53% ต่อปี

สำหรับประชาชนผู้สนใจจะซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ของ ธปท.ได้ในวงเงินซื้อขั้นต่ำ 50,000 บาทต่อราย และซื้อเพิ่มเป็นจำนวนเท่าของ 10,000 บาท โดยผู้ที่มีสิทธิ์ซื้อ ได้แก่ บุคคลธรรมดา สหกรณ์ มูลนิธิ และองค์กรสาธารณะที่ไม่มุ่งหวังกำไร ดังนั้น ผู้ที่สนใจสามารถขอรับหนังสือชี้ชวนและใบคำเสนอขอซื้อพันธบัตรฯ ผ่านธนาคารพาณิชย์ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายทั้ง 9 แห่ง ซึ่งสถาบันการเงินแต่ละแห่งจะได้สัดส่วนในการออกขายพันธบัตร ขึ้นอยู่กับฐานเงินฝากแต่ละแห่งได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย กสิกรไทย ไทยธนาคาร นครหลวงไทย ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น ซิตี้แบงก์ ไทยพาณิชย์ และ ธนาคารยูโอบี ได้ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 และสามารถจองซื้อพันธบัตรตั้งแต่วันที่ 18-26 กุมภาพันธ์ 2551 นี้

โดยก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท.เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2550 วงเงิน 8.99 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะออกเพียง 4 หมื่นล้านบาท เมื่อเดือนส.ค.49 แบ่งเป็นอายุ 4 ปี ดอกเบี้ย 4.25% และ อายุ 7 ปี ดอกเบี้ย 5.00% ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายฐานนักลงทุนในพันธบัตร ธปท.ไปสู่ผู้ออมรายย่อย ขณะเดียวกัน เพื่อช่วยดูดซับสภาพคล่องในตลาดเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อสานต่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว ธปท.จึงได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท.อีกครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 นี้

นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง ธปท.กล่าวว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์จะไปในทิศทางไหน ขึ้นอยู่กับความต้องการสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ หากต้องการสินเชื่อจำนวนมาก อัตราดอกเบี้ยก็มีโอกาสปรับขึ้นได้ จึงเป็นเรื่องที่ยังไม่แน่นอนและค่อนข้างผันผวนอยู่ ส่วนที่ธนาคารพาณิชย์มีการแย่งระดมเงินฝากมากในขณะนี้ เชื่อว่า ส่วนหนึ่งต้องการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดมากกว่า

ด้าน นายธีระ อภัยวงค์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถฟันธงทิศทางอัตราดอกเบี้ยได้ เนื่องจากตลาดทั่วโลกและเศรษฐกิจทั่วโลกยังมีความผันผวนอยู่ ซึ่งเห็นได้จากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา ขณะที่หลายประเทศได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยยังคงคาดการณ์ได้ลำบาก ขึ้นอยู่กับการลงทุนของโครงการเมกะโปรเจ็กต์ และสภาพเศรษฐกิจในอนาคต เมื่อต้องการสินเชื่อมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นในสถานการณ์ที่ผันผวนเช่นนี้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริโภคเป็นสำคัญ

**แจงขาดทุนบาทแข็งค่า 1.74 แสนล้าน**

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าในช่วงที่ผ่านมาธปท.ได้ออกพันธบัตรไปแล้ว 1.9 ล้านล้านบาท จากยอดวงเงินที่ขออนุมัติจากคลังทั้งสิ้น 2 ล้านล้านบาท ทำให้เหลือวงเงินออกพันธบัตรแค่ 1 แสนล้านบาท ว่า ณ สิ้นปี 2550 ธปท.ได้มีการออกพันธบัตรและมียอดคงค้างทั้งสิ้นในระบบ 1.35 ล้านล้านบาท ทำให้ธปท.มีวงเงินเหลือในการออกพันธบัตรเพิ่มประมาณ 7 แสนล้านบาท และการออกพันธบัตรในช่วงที่ผ่านมาเป็นธุรกรรมตามปกติที่ใช้ในการดำเนินนโยบายการเงินไม่ได้เกิดจากการเข้าไปดูดซับสภาพคล่องของ ธปท.มากเกินไป

สำหรับประเด็นที่ กรณีที่กระทรวงการคลังจะออกพันธบัตร เพื่อระดมเงินสนับสนุนการก่อสร้างรถไฟฟ้าจำนวน 500,000 ล้านบาท ซึ่งหลายฝ่ายเกรงว่าจะเป็นการเข้าไปดูดซับสภาพคล่องในระบบมากเกินไปหรือไม่นั้น นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท.กล่าววว่า ขณะนี้ตลาดมีสภาพคล่องเหลือมาก และการออกพันธบัตร เพื่อระดมเงินในการสนับสนุนสร้างรถไฟฟ้าคงไม่ได้ออกครั้งเดียวจำนวนมากจนสภาพคล่องในระบบหมดไป แต่เชื่อว่าจะค่อยๆ ทยอยออก ซึ่งภาคการเงินของประเทศน่าจะสามารถปรับตัวได้ และที่ผ่านมา ธปท.ออกพันธบัตรจำนวนมาก หากจำเป็นต้องไปปล่อยสภาพคล่องเพิ่มเติมก็น่าจะสามารถทำได้

ส่วนการขาดทุนจากการบริหารทุนสำรองทางการของฝ่ายการธนาคาร ทำให้มีผลขาดทุนสะสมทั้งสิ้น 94,600 ล้านบาทตามงบการเงินล่าสุด ณ วันที่ 13 ธ.ค.2550 ที่ผ่านมานั้น เป็นผลขาดทุนที่สะสมมาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่ง ธปท.ขาดทุนจากการตีราคาอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท 174,000 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2549 มีการขาดทุนจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์กว่าประเทศอื่นถึง 17% ขณะที่ในปี 50 เงินบาทแข็งค่าประมาณ 7% แต่ก็ไม่ได้แข็งกว่าประเทศอื่นและมีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศในสกุลเงินอื่น นอกเหนือจากเงินดอลลาร์มากขึ้น ทำให้เมื่อรวมงบดุลของฝ่ายการธนาคารและทุนสำรองเงินตราในฝ่ายออกบัตรธนาคารธปท.จะมีกำไร 2.2 หมื่นล้านบาท แต่กำไรนี้ยังไม่ได้หมายความว่า ธปท.จะกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น