xs
xsm
sm
md
lg

รายย่อย IRPC โวยบอร์ดเล่นปาหี่ พร้อมใจลาออกอ้างสปิริตหนีการซักฟอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ถือหุ้นรายย่อย "ไออาร์พีซี" โวย บอร์ดแสดงละครปาหี่ประกาศลาออกทั้ง 16 คน หลบหนีการซักฟอกกรณีความขัดแย้งและการฟ้องร้องกับผู้ถือหุ้นบางราย ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง ด้าน "บิ๊กหมง" อ้างเพื่อแสดงความโปร่งใส-จริงใจและเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นวิพากษ์การบริหารได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ "ปิติ" เผยแผนปีนี้เดินหน้าลงทุนเพิ่มอีกหมื่นล้าน แม้กำไรสุทธิจะลดลงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและค่าการกลั่นที่ต่ำลง

วานนี้ (22 ม.ค.) บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ได้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2551 ที่จังหวัดระยอง โดยมีวาระสำคัญ 2 วาระ คือ วาระที่ 3 การพิจารณารับทราบกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา และให้คณะกรรมการชี้แจงเกี่ยวกับความขัดแย้งที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทบางราย รวมถึงบรรดาคดีความที่มีการฟ้องร้องบริษัทและผู้บริหาร และวาระที่ 4 การพิจารณาเรื่องกรรมการและอำนาจกรรมการ

โดยช่วงการเริ่มต้นพิจารณาในวาระที่ 3 ตัวแทนที่ปรึกษากฎหมายบริษัทได้ชี้แจงว่า บริษัทมีความขัดแย้งกับผู้ถือหุ้นบางราย ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารไออาร์พีซี (ชื่อเดิมบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ) มี 2 คดีใหญ่ คือคดีสยามรัฐ ที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ได้ยื่นฟ้องกรรมการบริษัท และบริษัทสยามรัฐ ได้ลงบทความเกี่ยวกับสัญญาตั๋วใช้เงินมูลค่า 8 พันล้านบาท ที่นายประชัยได้นำเงินจากทีพีไอไปปล่อยกู้ให้กับ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท พรชัยวิสาหกิจ จำกัด บริษัท ทีพีไอโฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท ทีพีไอ อีโออีจี จำกัด โดยผู้บริหารชุดปัจจุบันได้ฟ้องเรียกหนี้คืน แต่ได้รับการปฏิเสธ ดังนั้นไออาร์พีซีจึงได้ยื่นฟ้องล้มละลายกับทั้ง 3 บริษัท

ต่อมานายประชัย ได้ตั้งบริษัท เลี่ยวไพรัตน์วิสาหกิจ จำกัด ยื่นขอฟื้นฟูกิจการบริษัททั้ง 3 แห่งต่อศาลล้มละลายกลาง ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งศาลได้อนุมัติตามแผนฟื้นฟูฯ ส่งผลให้คดีฟ้องล้มละลายไม่สามารถดำเนินการต่อได้ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เห็นชอบให้บริษัท แอดวานซ์แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้บริหารแผนตามที่ไออาร์พีซีเสนอ เนื่องจากไม่อนุมัติให้เจ้าหนี้ คือ เลี่ยวไพรัตน์วิสหกิจ มีสิทธิออกเสียงในการตั้งผู้บริหารแผน เพราะเห็นว่าไม่ใช่เจ้าหนี้ที่แท้จริง

ขณะที่บริษัทได้ยื่นคำร้องเพิกถอนมูลหนี้ 1.2 หมื่นล้านของบริษัทเลี่ยวไพรัตน์วิสาหกิจ ขณะเดียวกันนายประชัยได้ยื่นฟ้องกรรมการบริษัทเรียกค่าเสียหายต่อศาลแพ่งอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท

ส่วนคดีที่ 2 คดีเช่าอาคารทีพีไอ ทาวเวอร์ 90 ปี โดยบริษัทเห็นว่ามีความไม่ชอบมาพากล ที่ต้องชำระค่าเช่าล่วงหน้าเป็นเงินถึง 900 ล้านบาท จึงทำหนังสือขอยกเลิกการเช่าและขอเงินค่าเช่าคืน แต่ได้รับการปฏิเสธ จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาล แต่ศาลได้ยกคำร้อง ดังนั้นจึงได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว ขณะที่นายประชัย ได้ยี่นฟ้องคณะกรรมการไออาร์พีซีทั้งหมดในข้อหาผิดพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา

ด้านพลเอกมงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ประธานในที่ประชุม ได้กล่าวว่า คณะกรรมการได้ดำเนินการทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ซึ่งคดีความดังกล่าวคู่กรณีที่มีข้อพิพาทไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นไออาร์พีซีแล้ว แต่เนื่องจากมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นแสนล้าน ทำให้ผู้ถือหุ้นบางรายมีความกังวลจึงได้ทำหนังสือให้เรียกประชุมวิสามัญครั้งนี้ เพื่อให้ชี้แจงเกี่ยวกับคดีความต่างๆ ซึ่งในวาระพิจารณาเรื่องกรรมการและอำนาจกรรม จะเปิดให้ผู้ถือหุ้นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการอย่างเต็มที่ เพื่อแสดงความโปร่งใสและจริง

หลังจากนั้น พลเอกมงคล ในฐานะประธานกรรมการได้ประกาศลาออกพร้อมกรรมการทั้งหมด 16 คน โดยให้มีผลทันทีในเวลาประมาณ 15.20 น. และคณะกรรมการทั้งหมดจึงได้เดินออกจากห้องประชุม ท่ามกลางความสับสนของผู้ถือหุ้น โดยระหว่างนั้นได้มีผู้ถือหุ้นบางรายกล่าวด้วยได้อาการไม่พอใจว่า "การแสดงลาออกครั้งนี้เป็นการแสดงละครหลอกผู้ถือหุ้นหรือปาหี่ เพราะสุดท้ายแล้วก็ต้องมีการเลือกคณะกรรมการชุดเดิมกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง"

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกฎหมายของไออาร์พีซี ได้เสนอให้ที่ประชุมตั้งประธานที่ประชุมชั่วคราว เพื่อพิจารณาวาระที่เหลือต่อไป ดังนั้นที่ประชุมได้ตั้งนายสุรพล เอกโยคยา อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นไออาร์พีซี 32,000 หุ้นเข้ามาทำหน้าที่แทน

ในระหว่างนั้นตัวแทนสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ได้ชี้แจงว่า เมื่อคณะกรรมการลาออกทั้งคณะแล้ว ควรให้ยกเลิกการประชุม และให้คณะกรรมการชุดเดิมรักษาการไปก่อนจนกว่าจะมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อตั้งคณะกรรมการชุดใหม่แทน ขณะที่ฝ่ายกฎหมายยืนยันว่าการลาออกของคณะกรรมการมีผลโดยสมบูรณ์แล้ว และนายสุรพล ในฐานะประธานที่ประชุมต้องการให้ดำเนินการประชุมในวาระต่อไป

โดยมีผู้ถือหุ้นได้เสนอให้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดเดิมกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ เนื่องจากเห็นว่าคณะกรรมการไม่มีความผิดอะไร และสามารถบริหารบริษัทได้ดีจนสามารถจ่ายปันผลคืนให้กับผู้ถือหุ้นได้ โดยมีคะแนนเสียงเห็นชอบ 94.50% จากจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด 931 ราย ขณะที่ผู้ถือหุ้นที่ไม่เห็น 28 ราย คิดเป็น 2.04% และงดออกเสียง 67 ราย คิดเป็น 1.30% และบัตรเสีย 7 ราย คิดเป็น 2.08%

"บริษัทได้มีการเตรียมการไว้เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยเองกลับถูกมัดมือชกให้ยอมสภาพดังกล่าว" ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ตั้งข้อสังเกต

ด้านตัวแทนสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวนี้ไม่น่าเกิดขึ้นกับไออาร์พีซี การลาออกทั้งคณะเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ และทำลายภาพลักษณ์บริษัท

ด้านนายปิติ ยิ้มประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไออาร์พีซี กล่าวว่า การประกาศลาออกของกรรมการทั้งคณะไม่มีการจัดฉากแต่อย่างใด แต่ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นวิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มที่ และไม่ต้องห่วงหน้าแตก ถ้าผู้ถือหุ้นเสนอให้ปลดบอร์ดทั้งคณะในระหว่างการประชุม แต่เมื่อพิจารณาแล้วการเดินออกจากห้องประชุม (วอร์กเอาท์) ในระหว่างการประชุมน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่า

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 51 นี้ บริษัทคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 4-5% แต่จากค่าการกลั่นน่าจะปรับตัวลดลง 4-5% และกำลังการกลั่นน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 1.8 แสนบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปีก่อนที่เฉลี่ยอยู่ที่ 1.8-1.9 แสนบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้กำไรปีนี้น่าจะลดลง แต่กำไรก่อนหักดอกเบี้ยค่าเสื่อมและภาษี (EBITDA) จะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

โดยสาเหตุที่กำไรลดลงเกิดจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการลดลง ซึ่งบริษัทจะปรับเพิ่มสัดส่วนการส่งออกมากขึ้นจากเดิมสัดส่วนใช้ในประเทศอยู่ที่ 50% แต่ปีนี้คาดว่าจะลดเหลือแค่ 35% ที่เหลือส่งออกทั้งหมด ขณะที่ตลาดต่างประเทศเองก็ประสบปัญหาเรื่องซับไพรม์ด้วยเช่นกัน ราคาสินค้าส่งออกต่ำกว่าราคาขายในประเทศ 4-7%

ด้านแผนการลงทุนปีนี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง 200 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้คาดอีก 2 เดือนจะได้ผู้รับเหมาก่อสร้าง โครงการท่อก๊าซ ขณะเดียวปตท.ยื่นขออนุมัติผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งหากปตท.ไม่สามารถดำเนินการได้ บริษัทจะดำเนนิการทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2 พันล้านบาท และโครงการจะแล้วเสร็จปลายปี 2552 และโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพกำลังการผลิต ขณะนี้อยู่ระหว่างการเลือกเทคโนโลยี คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 4 ปีข้างหน้า

สำหรับแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสด ณ สิ้นปี 50 มีอยู่ 1.4 -.1.5 หมื่นล้านบาท ทำให้เชื่อว่าภายใน 1-2 ปีข้างหน้า ไออาร์พีซีไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม เนื่องจากบริษัทในแต่ละปีมี EBITDA อยู่ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันภาระหนี้ระยะยาว 550 ล้านเหรียญสหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น