xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทยจ่อหลุด 800 จุด ข่าวลือท่วมตลาด-พิษซับไพรม์ลาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต่างชาติตะบันทิ้งหุ้นไทยไม่หยุด ล่าสุดดัชนีปริ่ม 800 จุด โบรกเกอร์ฟันธงหลุด 800 จุดแน่ เหตุนักลงทุนวิตกผลการดำเนินงานกลุ่มสถาบันการเงินในสหรัฐฯ-ยุโรป ไตรมาส 4/50 ย่ำแย่กว่าที่คาดการณ์ ล่าสุดปิดที่ 800.18 จุด ลดลงจากวันก่อนหน้ากว่า 20 จุด ขณะที่ปัจจัยในประเทศต้องลุ้นคำตัดสินศาลกรณียุบพรรคพลังประชาชน 15 ม.ค.นี้ ด้าน"วิเชฐ" ยอมรับเงินเฟ้อพุ่ง-บาทแข็งไม่หยุด กระทบเอกชนแต่เชื่อกระทบบจ.ไม่มากเพราะมีการป้องกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้าแล้ว

ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ (10 ม.ค.) นักลงทุนต่างชาติยังคงกระหน่ำขายในหุ้นขนาดใหญ่ทั้งในกลุ่มพลังงานและกลุ่มสถาบันการเงิน เนื่องจากความกังวลต่อผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ในช่วงไตรมาส 4/50 ที่ใกล้ประกาศออกมาอาจจะแย่กว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจจะบานปลายจนส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจประเทศกลุ่มยุโรปและเศรษฐกิจโลก
ขณะเดียวกัน โกลด์แมนแซคส์กรุ๊ป ได้คาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่อาจจะรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ จากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เข้าสู่ภาวะถดถอย โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยปลายปีอาจจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3%

ทั้งนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงมาปิดที่จุดต่ำสุดของวันที่ 800.18 จุด ลดลง 20.29 จุด หรือ 2.47% ขณะที่จุดสูงสุดของวันอยู่ที่ 817.86 จุด มูลค่าการซื้อขาย 15,306.22 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,493.65 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 52.28 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 1,441.37 ล้านบาท
สำหรับหุ้นที่ถูกแรงขายออกมาอย่างหนักยังคงเป็นหุ้นในกลุ่มพลังงาน อาทิ บมจ.ปตท. หรือ PTT ราคาปิดที่ 332 บาท ลดลง 16 บาท หรือ 4.60% มูลค่าการซื้อขาย 2,374.25 ล้านบาท, บมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น หรือ PTTAR ราคาปิดที่ 40.50 บาท ลดลง 2.50 บาท หรือ 5.81% มูลค่าการซื้อขาย 1,715.27 ล้านบาท, บมจ.ปตท.ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม หรือ PTTEP ราคาปิดที่ 152 บาท ลดลง 7 บาท หรือ 4.40% มูลค่าการซื้อขาย 1,551.90 ล้านบาท, บมจ.บ้านปู หรือ BANPU ราคาปิดที่ 382 บาท ลดลง 14 บาท หรือ 3.54% มูลค่าการซื้อขาย 836.80 ล้านบาท และบมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP ราคาปิดที่ 80 บาท ลดลง 3 บาท หรือ 3.61% มูลค่าการซื้อขาย 605.61 ล้านบาท

นายแสงธรรม จรณชัยกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด กล่าวว่า ความกังวลต่อผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินในสหรัฐฯรวมถึงในยุโรปที่เตรียมจะประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/50 ว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์มากกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งอาจจะมีหลายแห่งที่ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดทุนอย่างมากอีกครั้ง

ทั้งนี้ ยังเป็นการคาดการณ์ที่ยากที่จะระบุว่าผลกระทบจากปัญหาซับไพรม์จะสิ้นสุดเมื่อใด และในรอบนี้ผลการดำเนินการไตรมาส 4/50 จะออกมาเป็นอย่างไร แต่จากความกังวลทำให้มีการขายหุ้นที่ลงทุนทั่วโลกออกมาเพื่อโยกไปลงทุนในสินค้าอื่นๆเพื่อลดความเสี่ยงและเตรียมเงินสดสำรองการไถ่ถอนหน่วยลงทุนรอบใหม่

สำหรับการเคลื่อนไหวตลาดหุ้นในช่วงนี้ เชื่อว่ายังมีโอกาสที่ดัชนีจะยังปรับตัวลดลงได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ โดยในรอบนี้มีความเป็นไปได้ที่ดัชนีอาจจะลดลงมาแตะระดับ 760 จุด

"อาจจะมีบิ๊กเซอร์ไพรท์เกี่ยวกับผลการดำเนินงานที่จะประกาศออกมา แต่จะเป็นการเซอร์ไพรท์ในทางที่แย่ซึ่งจะเป็นอีกแรงที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนทั่วโลก"นายแสงธรรรมกล่าว

**แนะจับตาคำสั่งยุบพปช.

นางสิริณัฏฐา เตชะศิริวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์ บล.ไซรัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมากกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคเนื่องจากยังคงมีปัจจัยในประเทศเข้ามากระทบต่อจิตวิทยาในการลงทุน โดยประเด็นทางด้านการเมืองที่ยังต้องติดตาม ไม่ว่าจะเป็รกรณีการพิจารณารับรองผลการเลือกตั้งส.ส.ว่าในท้ายที่สุดจะสามารถรับรองได้จำนวนเท่าไร รวมถึงกรณีการพิจารณาดังกล่าวจะนำไปสู่การบุบพรรคการเมืองอีกหรือไม่

นางสาวศิริลักษณ์ ปโกฏิประภา ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า นักลงทุนยังรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีความแน่นอนเนื่องจากต้องรอคำตัดสินจากศาลเกี่ยวกับกรณีที่มีการยื่นเรื่องเพื่อขอให้มีการยุบพรรคพลังประชาชน ในข้อหาเป็นนอมินีให้กับ 111 คนจากไทยรักไทยในวันที่ 15 มกราคม นี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวทำให้ปัจจัยการเมืองมีความเสี่ยงขึ้นมาอีกครั้ง และกรณีดังกล่าวอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของไทย

**เชื่อบาทแข็ง-เงินเฟ้อไม่กระทบบจ.

นายวิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการสายงานศูนย์ระดมทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากส่วนใหญ่มีการจัดการกับความเสี่ยงด้วยการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าไว้แล้ว

ทั้งนี้ จากเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคงปฏิเสธได้ยากว่าทั้ง 2 เรื่องจะไม่กระทบต่อภาคธุรกิจ แต่เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นเอกชนไทยยังสามารถควบคุมได้

สำหรับประเด็นที่ภาคธุรกิจอยากให้เกิดขึ้นโดยเร็ว คือ การจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเข้ามาสานต่อหรือดำเนินนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างจริงจัง ซึ่งจากการคาดการณ์ของหลายหน่วยงานที่ระบุว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีในปีนี้จะอยู่ในระดับ 4- 5 % ถือว่าเป็นตัวเลขที่ยังน่าพอใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น