มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต พร้อมด้วย มูลนิธิกองทุนพัฒนาการกีฬา และภาคีเครือข่าย จัดโครงการเสวนาทางวิชาการเรื่อง "อาสาพัฒนาบอลไทย" (Change Together) โดยเชิญแคนดิเนตนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่สมัครชิงเก้าอี้ทั้ง 5 ประกอบด้วย "มาดามแป้ง" นวลพรรณ ล่ำซำ อดีตประธานสโมสรการท่าเรือ เอฟซี และผู้จัดการทีมชาติไทยชุดใหญ่, วรงค์ ทิวทัศน์ อดีตเลขานุการ บริษัท ไทยลีก จำกัด, "พอลลีน" พยุริน งามพริ้ง อดีตผู้ก่อตั้งกลุ่มเชียร์ไทยพาวเวอร์, ธนศักดิ์ สุระประเสริฐ อุปนายกสมาคมฯ ชุดปัจจุบัน และ "อ๋อ" คมกฤช นภาลัย ผู้สื่อข่าวสายกีฬาฟุตบอลไทย เข้าร่วมดีเบตวิสัยทัศน์การบริหารจัดการสำหรับการพัฒนาและยกระดับวงการฟุตบอลไทย ที่ห้องประชุมออดิทอเรียม ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตามการดีเบตครั้งนี้มีผู้สมัครชิงนายกบอลไทยมาเพียง 3 คน คือ คมกฤช นภาลัย, พยุริน งามพริ้ง, วงรค์ ทิวทัศน์ ขณะที่ ธนศักดิ์ สุระประเสริฐ ส่งตัวแทนมาเป็นทาง ยุทธนา ทวีสรรพสุข ส่วน "มาดามแป้ง" นวลพรรณ ล่ำซำ ไม่ได้เดินทางมาและไม่ได้ส่งตัวแทนมา โดยให้เหตุผลว่ามีธุระเร่งด่วน และในการดีเบตมีหัวข้อที่น่าสนใจสอบถามกับผู้สมัครและตัวแทนที่ลงชิงเก้าอี้นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯได้พูดคุยตอบคำถาม ประกอบด้วย เรื่องของแนวทางนโยบายของแต่ละคน เรื่องหากได้รับเลือกตั้งเป็นนายก 100 วันแรกงานที่จะเร่งทำให้เห็นผลคืออะไร, เรื่องการจัดการระบบทีมชาติไทย และเรื่องการปรับโครงสร้างการเลือกตั้ง
โดยทาง "พอลลีน" พยุริน งามพริ้ง ได้กล่าวภาพรวมทั้งหมดว่า นโยบายหลักคือการทำให้ฟุตบอลเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งลีกและทีมชาติ การพัฒนากลไกในการพัฒนาเยาวชน การสร้างบรรทัดฐานใหม่ของการบริหารสมาคมฟุตบอลด้วยความบริสุทธิ์สุจริตไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน การเลือกตั้งจะต้องให้ทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลได้มีสิทธิ์ในการออกสิทธิ์เลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ งานชิ้นแรกที่จะทำให้เสร็จภายใน 100 วัน คือการจัดการเรื่องบัญชี เรื่องงบดุล ในการหารายได้เข้าสมาคม"
ด้าน วรงค์ ทิวทัศน์ ได้กล่าวในประเด็นที่น่าสนใจกับการดีเบตครั้งนี้ว่า "อยู่กับฟุตบอลไทยมาตั้งแต่อายุ 17 ปีทั้งการเป็นนักฟุตบอลรวมถึงบริหารไทยลีก ทำให้ค่อนข้างเข้าใจบริบท ดังนั้นผมจึงเสนอเรื่องนโยบาย 3 ประด็นหลัก คือการปรับโครงสร้าง ทั้งวิธีเลือกตั้งและโครงสร้างบริหาร การสร้างมูลค่าให้มีสูงขึ้นกับวงการฟุตบอลไทย และการเพิ่มมาตราฐานให้มีความยั่งยืน สิ่งที่ต้องเร่งทำหากได้รับเลือกใน 100 วันแรก คือการแก้ไขปัญหาเรื่องของฟุตบอลลีก ที่ประเด็นออกเป็น 2 ประเด็น คือการสร้างมูลค่าให้เพิ่มขึ้น และการแก้ไขเรื่องมาตรฐานของผู้ตัดสิน ส่วนการเรียกนักเตะแล้วโดนปฏิเสธที่ ส่งนักเตะให้กับทีมชาติ เรื่องนี้มีระเบียบเขียนไว้อยู่แล้ว ปัญหามาจากโครงสร้างของผู้บริหารที่ไม่ยึดตามระเบียบที่เขียนไว้ เรื่องนี้แก้ไม่ยาก โดยมีแนวทางที่จะใช้บรรดานักเตะลูกครึ่งเป็นแกนหลัก เตรียมทีมอยู่ต่างประเทศเลย แล้วเสริมด้วยผู้เล่นที่เล่นอยู่ในลีก เมื่อถึงทัวร์นาเม้นต์สำคัญๆที่จะต้องแข่งขัน ขณะที่ประเด็นเรื่องการปรับโครงสร้างการเลือกนายก ก็อยากให้แต่ละสโมสรได้มีส่วนร่วมมากกว่าที่เป็นอยู่"
ทาง คมกฤช นภาลัย ได้กล่าวว่า "ส่วนตัวนั้นนโยบายแทบไม่แตกต่างกันกับคุณวรงค์ ทิวทัศน์ และคุณพอลลีน งามพริ้ง เพราะที่ผ่านมาได้มีการคุยกันมาตลอด และมองเห็นการบริหารของคณะทำงานชุดปัจุบันว่าเป็นอย่างไร ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารของสมาคมฟุตบอลไทย ตามนโยบายที่วางเอาไว้คือการปรับเรื่องของโหวตเตอร์ให้สมาชิกมีความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะในตำแหน่งตำแหน่งตุลาการที่จะต้องใช้คนที่มีความรู้เรื่องฟุตบอลจริงๆมาทำหน้าที่ ไม่ใช่เอาตำรวจเกษียรมาตัดสิน ซึ่งมันคนและสายงานกันนำมาใช้กันไม่ได้ หากได้รับเลือกภายใน 100 วันจะเร่งปรับโครงสร้างเรื่องของเยาวชนอย่างแท้จริง ในทุกภาคส่วน อย่างฟุตบอลลีกเยาวชนต้องแยกจากฟุตบอลนักเรียนอย่างชัดเจน"
ขณะที่ ยุทธนา ทวีสรรพสุข ตัวแทนของ "บิ๊กตุ๋ย" ธนศักดิ์ สุระประเสริฐ ได้กล่าวในการดีเบตครั้งนี้ว่า "แนวทางนโยบายของพี่ตุ๋ย ที่อยู่กับฟุตบอลมานาน ความสำเร็จในการบริหารงานของผู้บริหารชุดนี้ส่วนหนึ่งมาจากการผลักดันในหลายโครงการ ดังนั้นฟุตบอลในยุคของพี่ตุ๋ยจะพัฒนาในส่วนดีให้ดีขึ้นไปอีก และแก้ไขสิ่งที่ยังไม่ดีให้ดีขึ้น ส่วนเรื่องภารกิจเร่งด่วนใน100 วัน หลักๆจะมี 5 เรื่อง 1.ต้องรีบตั้งเลขาธิการสมาคม โดยวางเอาไว้คือ พาทิศ ศุภะพงษ์ เลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯชุดปัจจุบัน, 2.ตั้งประธานบริษัทไทย 3.แต่งตั้งประธานเทคนิคทีมชาติไทย 4.การปัญหาที่แก้ไม่ได้เลยตลอดคือเรื่องกรรมการ ที่จำเป็นต้องแยกออกจากสมาคมฟุตบอลฯเพื่อความยุติธรรมในการตัดสิน และ 5.การพัฒนาศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติให้เสร็จโดยเร็ว"