xs
xsm
sm
md
lg

ระวังซ้ำรอย "อินโดนีเซีย" โดน "ฟีฟ่า" แบนไม่ใช่เรื่องตลก ชวดสิทธิ์เตะคัดบอลโลก-เอเชียน คัพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังจากที่ "บิ๊กอ๊อด" พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ออกแถลงการณ์ลาออกจากตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ โดยอ้างว่ามาจากคำสั่งของ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ

นอกจากนี้ "บิ๊กอ๊อด" ยังกล่าวปิดท้ายอีกว่าตนจะแจ้งผลและเหตุผลแห่งการลาออกต่อ สหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (AFF) สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) และสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ได้ทราบ ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสมาคมฯ ตามหน้าที่ของประเทศสมาชิก

อย่างไรก็ตามจากการประกาศลาออกในครั้งนี้ของ พล.ต.อ.ดร.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อาจไม่ใช่ผลดีของประเทศไทย และทีมชาติไทยอย่างที่ใครหลายคนคิด เพราะการกระทำในลักษณะนี้อาจจะเข้าข่ายการถูกแทรกแซงจากบุคคลภายนอก หรือกลุ่มการเมือง ซึ่งทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า มีกฎเหล็กอย่างชัดเจนว่าสมาคมฟุตบอล ห้ามถูกแทรกแซงโดยเด็ดขาด เพราะอย่าลืมว่า "สมาคมฟุตบอล" ของทุกประเทศ ขึ้นตรงและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ "ฟีฟ่า" องค์กรอื่นไม่มีสิทธิ์เจ้ามายุ่มย่ามโดยเด็ดขาด

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้หลายชาติเคยถูกโดนสหพันธ์ฟุตบอลนาชาติ หรือฟีฟ่า ลงโทษแบนมาแล้วในข้อหามีกลุ่มการเมืองเข้าไปแทรกแซงการบริหารงาน โดยเฉพาะ อินโดนีเซีย ที่เคยถูกแบนเพราะมีการแทรกแซงจากการเมืองอย่างชัดเจน

- ปัญหาเริ่มต้นของอินโดนีเซีย

ฟีฟ่า สั่งลงโทษแบนอินโดนีเซียจากการแข่งขันระดับนานาชาติเมื่อปี 2015 หลังพบว่ารัฐบาลเข้าไปสั่งยกเลิกสมาคมฟุตบอล ก่อนจะตั้งสมาคมฟุตบอลขึ้นมาเอง จุดต้นตอของเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2011 ฟีฟ่า เคยสั่งแบน นูร์ดิน ฮาลิด อดีตนายกสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซีย หลังจากเจ้าตัวต้องติดคุกในข้อหารับสินบน และคอรัปชั่น ต้องมีการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ ต่อมาในช่วงกลางปี 2011 กำลังจะมีการเลือกตั้งนายกสมาคมฯ คนใหม่ แต่ทาง "ฟีฟ่า" ประกาศห้ามสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซียอย่าเพิ่งจัดการเลือกตั้ง เพราะ 1 ใน 3 ผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกฯ ณ เวลานั้น ยังถูกลงโทษแบนจากฟีฟ่าอยู่ นั่นก็คือ นูร์ดิน ฮาลิด และทางฟีฟ่า ก็แต่งตั้งคณะกรรมการส่วนกลางเข้ามาดูแลการเลือกตั้งแทน

อย่างไรก็ตามหลังมีการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลคนใหม่ของอินโดนีเซีย ในช่วงนั้นมีการแบ่งขั้วอำนาจออกเป็น 2 ขั้ว แยกลีกแข่งขันออกเป็น 2 ลีกใหญ่ๆ ได้แก่ อินโดนีเซีย ซูเปอร์ลีก และอินโดนีเซีย พรีเมียร์ลีก มิหนำซ้ำยังมีการแยกทีมชาติออกจากกันอีกต่างหาก สืบเนื่องมาจาก 2 ขั้วอำนาจแก่งแย่งชิงดี ไม่พอใจซึ่งกันและกัน เรื่องนี้ส่งผละกระทบอย่างชัดเจนในฟุตบอลโลก 2014 รอบคัดเลือก เมื่อปี 2012 เนื่องจากกลุ่มขั้วอำนาจหนึ่ง ไม่ยอมส่งนักฟุตบอลตัวเก่งให้เข้าร่วมการแข่งขัน ทำให้ อินโดนีเซีย ไม่ได้ใช้ผู้เล่นชุดที่ดีที่สุดไปแข่งขัน ก่อนจะพ่ายแพ้ต่อ บาห์เรน เละเทะ 0-10 จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ฟีฟ่า ต้องส่งใบเตือนมายังอินโดนีเซียว่าอาจถูกแบนถ้ายังไม่แก้ไข

- รัฐบาลเข้าแทรกแซงการทำงานของสมาคมฟุตบอล

หลังจากนั้นถึงแม้ทั้ง 2 ขั้วอำนาจจะตกลงกันได้ และกลับมาจับมือกัน รวมลีกเป็นลีกเดียวกันคือ อินโดนีเซีย ซูเปอร์ลีก ในปัจจุบัน แต่ความขัดแย้งดังกล่าวเหมือนจะยังไม่หาย เมื่อสมาคมฟุตบอลอินโดนีเซียถูกรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงตั้งแต่ช่วงปี 2014 ลากยาวมาจนถึงปี 2015 เวลานั้น อินโดนีเซีย ซูเปอร์ลีก มีปัญหาเรื่องเอกสารรับรองต่างๆ ของสโมสรในลีกสูงสุด ทำให้กระทรวงกีฬามีมติเลื่อนการแข่งขันเพราะต้องรอให้ทุกสโมสรส่งเอกสารให้ครบเสียก่อน แต่สุดท้ายมี 2 ทีมที่ส่งเอกสารไม่ทัน กระทรวงกีฬา จึงออกคำสั่งให้สมาคมฟุตบอลฯ ตัด 2 ทีมนั้นออกจากลีก แต่สมาคมฯ ไม่ตัดออก และจัดการแข่งขันต่อไปเช่นเดิม เพราะ 2 สโมสรดังกล่าวก็ไม่ยอมที่จะถูกตัดสิทธิ์

ต่อมาการแข่งขันฟุตบอลลีกในช่วงนั้นมีปัญหาเรื่องล้มบอลเกิดขึ้นอีกหลายนัด มีบางแมตช์ทั้ง 2 ทีมนัดกันทำเข้าประตูตัวเองทั้ง 5 ประตูที่เกิดขึ้นในเกมเดียว จนแฟนบอลอินโดนีเซียออกมาเรียกร้องให้ปฏิวัติวงการฟุตบอลขึ้นใหม่ กระทรวงกีฬาเข้ามาออกคำสั่งอีกครั้งด้วยการสั่งพักการแข่งขันฟุตบอลลีกชั่วคราว และลงโทษแบนสมาคมฟุตบอลฯ สุดท้ายพวกเขาก็ถูก "ฟีฟ่า" ลงโทษแบนจากการแข่งขันระดับนานาชาติ เพราะมีการแทรกแซงอย่างชัดเจนจากการเมือง ขัดกับธรรมนูญฟีฟ่า มาตรา 13 และ 17 ส่งผลให้ในฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย อินโดนีเซีย ถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขัน เวลานั้น ทีมชาติไทย สมัย "ซิโก้" เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง รับผลพลอยได้ไปด้วย เพราะไม่ต้องพาทีมมาแข่งขันกับอินโดนีเซีย ในรอบคัดเลือก จนทัพ "ช้างศึก" สามารถคว้าตั๋วผ่านไปเล่นในรอบคัดเลือก 12 ทีมสุดท้ายได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตามอินโดนีเซียสามารถแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวได้ในระยะเวลา 1 ปี โดยในปี 2016 พวกเขาได้รับการปลดโทษแบนจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ เพราะมีการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลอย่างถูกต้องตามกฎของฟีฟ่า และไม่มีการแทรกแซงจากการเมือง

- ผลกระทบที่ได้รับจากการถูก "ฟีฟ่า" แบน

แน่นอนว่าการถูกสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า ลงโทษแบน ไม่ใช่เรื่องสนุก และไม่ใช่เรื่องที่ดีกับชาตินั้นๆ เพราะชาติที่ถูกแบนจะเสียสิทธิ์ต่างๆ มากมาย ทั้งการถูกห้ามแข่งขันในรายการระดับนานาชาติ ที่ฟีฟ่าควบคุมดูแล ไล่ตั้งแต่ฟุตบอลระดับโลก ระดับทวีป ไปจนถึงระดับภูมิภาค อย่างเช่น อินโดนีเซีย ถูกตัดสิทธิ์ห้ามเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก

ขณะเดียวกันในช่วงที่ถูก "ฟีฟ่า" แบน จะไม่สามารถเก็บคะแนนเข้า "ฟีฟ่า แรงกิ้ง" ได้ ไม่ว่าจะติดต่อเชิญใครมาอุ่นเครื่องบ่อยแค่ไหนก็ตาม รวมไปถึงฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รอบคัดเลือก และรอบสุดท้าย ก็จะถูกตัดสิทธิ์เช่นเดียวกัน

- ชาติอื่นที่เคยถูก "ฟีฟ่า" ลงโทษแบนในลักษณะใกล้เคียงกัน

> อิรัก เคยถูกแบนในปี 2008 เพราะรัฐบาลสั่งยุบคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติ และสหพันธ์กีฬาแห่งชาติ ก่อนได้รับการยกเลิกโทษแบนในปีเดียวกันเพราะสามารถแก้ไขปัญหาได้

> ไนจีเรีย เคยถูกแบนในปี 2014 เพราะสหพันธ์ฟุตบอลไนจีเรียถูกแทรกแซง หลังศาลไนจีเรียแต่งตั้งให้คนในรัฐบาลเข้ามาบริหารสหพันธ์ อย่างไรก็ตามพวกเขาถูกแบนเพียงแค่เดือนเดียว ก่อนที่ "ฟีฟ่า" จะยกเลิกโทษแบนเพราะเคลียร์ปัญหาได้เร็ว

> คูเวต เคยถูกแบนในปี 2015 ปีเดียวกับอินโดนีเซีย เพราะ ฟีฟ่า พบว่ารัฐบาลของคูเวตแทรกแซงการทำงานของสมาคมฟุตบอล ก่อนถูกยกเลิกโทษแบนในปี 2017

> ปากีสถาน เคยถูกแบน 2 ครั้ง ในปี 2017 และ 2021 เพราะถูกแทรกแซงจากหน่วยงานรัฐในการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอล

> อินเดีย ถูกฟีฟ่าลงโทษแบนเมื่อปี 2022 เพราะศาลอินเดียมีคำสั่งยุบสมาคมฟุตบอลอินเดียเป็นการชั่วคราว ก่อนแต่งตั้งคณะกรรมขึ้นมาควบคุมแทนจากการที่อดีตนายกสมาคมฯ อยู่ในตำแหน่งเกินวาระและไม่ยอมจัดการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ฟีฟ่า ยกเลิกโทษแบนของพวกเขาในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา เพราะรัฐบาลประกาศเลิกแทรกแซงสมาคมฯ และทางสมาคมฯ ก็มีแผนจัดการเลือกตั้งใหม่

- ทีมชาติไทย อาจชวดเล่นคัดบอลโลก และเอเชียน คัพ รอบสุดท้าย

ปฏิทินในปี 2023 "ช้างศึก" ทีมชาติไทย มีคิวลงทำการแข่งขันฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก 2 นัด แน่นอนว่าถ้าหาก ไทย ถูก ฟีฟ่า ลงโทษแบน ก็จะถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขัน ไม่มีสิทธิ์ลุ้นไปบอลโลกที่ 3 ชาติจากโซนคอนคาเคฟเป็นเจ้าภาพในรอบสุดท้ายในปี 2026 เหมือนอย่างที่ อินโดนีเซีย ถูกแบนมาแล้วในฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก

ขณะเดียวกันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย "เอเชียน คัพ 2023" รอบสุดท้าย ที่กาตาร์ จะเป็นเจ้าภาพซึ่งมีการโยกไปฟาดแข้งในช่วงต้นปี 2024 ถึงแม้ "ช้างศึก" จะคว้าตั๋วไปเล่นรอบสุดท้าย และมีการจับสลากแบ่งสายไปแล้ว แต่ถ้าหากถูกฟีฟ่าลงโทษแบน ก็จะถูกตัดสิทธิ์จากรอบสุดท้าย เพราะฟุตบอลชิงแชมป์ทวีปก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ "ฟีฟ่า" อีกที

นอกจากนี้การถูกแบนจาก ฟีฟ่า ถ้าไม่มีการเคลียร์ตัวเองโดยเร็วที่สุด และปล่อยให้ถูกแบนอยู่แบบนั้น การลงสนามในเกมอุ่นเครื่องตามปฏิทินฟีฟ่าเดย์ก็จะไม่มีการจดบันทึกคะแนนให้ ไม่สามารถลงแข่งขันรายการระดับนานชาติ และอาจทำให้อันดับโลกรูดกราว เหมือนอย่างที่ อินโดนีเซีย เคยมีอันดับโลกร่วงไปถึง 191 ในปี 2016 ซึ่งต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์

ทั้งนี้ทุกอย่างจะไม่เกิดขึ้น ถึงแม้ ฟีฟ่า จะลงโทษแบน ถ้าหาก ไทย สามารถเคลียร์ตัวเองจากเรื่องการแทรกแซงได้โดยเร็ว ก็จะพ้นโทษแบนได้อย่างรวดเร็วเช่นกันเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับ อินเดีย ที่ถูกแบน และปลดแบนภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ และทุกอย่างจะไม่เกิดขึ้นอีกเช่นกัน ถ้า ฟีฟ่า พิจารณาว่าการลาออกของ "สมยศ" ในครั้งนี้ ไม่ใช่การถูกแทรกแซงแต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น