ประเทศไทย ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ของโลก กับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC) ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย. ขณะที่ วงการกีฬาของไทย คึกคักไม่แพ้กัน เพราะว่าห้วงของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 นั้นได้มีการจัดใหญ่กิจกรรม "World Youth Festival Bangkok 2022" (เวิลด์ ยูธ เฟสติวัล แบงค็อก 2022) เทศกาลยุวทูตเยาวชนจากทั่วโลก ควบคู่กันไปด้วย
กิจกรรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่มี "บิ๊กก้อง" ดร.ก้องศักด ยอดมณี เป็นผู้ว่าการ และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) ที่มี ดร.สุปราณี คุปตาสา เป็นผู้จัดการกองทุนฯ โดยได้ร่วมกับ United Through Sports (UTS) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่มี มร.สเตฟาน ฟ็อกซ์ เป็นประธาน จัดขึ้นที่ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ประสานมิตร ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย.65 มียุวทูตเยาวชน จาก 21 ประเทศ 5 ทวีปทั่วโลก และเจ้าหน้าที่ รวมกว่า 2,000 คน ร่วมเข้าแคมป์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกีฬาและการศึกษา
"เวิลด์ ยูธ เฟสติวัล แบงค็อก 2022" มีกิจกรรมต่างๆ มากมายหลายหลากให้เหล่าเยาวชนจากทั่วโลกได้ทำร่วมกัน ซึ่งไฮไลต์สำคัญที่เป็นประโยชน์อย่างมหาศาลต่อวงการกีฬาไทย ก็คือการจัดการอบรมสัมมนา เรื่องสารต้องห้ามทางการกีฬา (World Tolerance Day-Fairplay Workshop) โดย หน่วยงานอิสระตรวจสารต้องห้ามนานาชาติ International Testing Agency หรือ ITA (ไอทีเอ) และองค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency) หรือ WADA (วาด้า)
การอบรมสัมมนา เรื่องสารต้องห้ามทางการกีฬา (World Tolerance Day-Fairplay Workshop) จัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 16-17พ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก วิโทลด์ บันกา ประธานองค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก ส่งคลิปวิดีโอ มาร่วมเปิดการอบรม ให้ความรู้ความเข้าใจกับบุคคลากรในวงการกีฬาไทย ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องการต่อต้านสารต้องห้าม ให้กับบุคคลากรกีฬาไทย โดยเฉพาะคนในวงการมวยของไทย ที่ให้ความสนใจมาร่วมการสัมมนากันเป็นจำนวนมาก
"เยาวชนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมด้านการกีฬาและการศึกษาครั้งนี้จะมีส่วนสำคัญในการเรียนรู้และศึกษาการต่อต้านสารต้องห้ามทางการกีฬา มีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สารกระตุ้น ซึ่งตนเชื่อว่าจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจครั้งสำคัญในการเล่นกีฬาอย่างขาวสะอาด ซื่อตรงและเป็นธรรม ซึ่งวาด้าเองมีจุดยืนคือการปกป้องนักกีฬาและเยาวชนทั่วโลก ให้ปลอดจากการใช้สารต้องห้ามอย่างเด็ดขาด" วิโทลด์ บันกา กล่าว
"ดร.หญิง" ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ แม่งานใหญ่ กล่าวว่า อย่างที่เราทราบกันดีว่า ก่อนหน้านี้ ประเทศไทย ถูกองค์กีฬาโลกสั่งลงโทษเพราะถูกมองว่าเรามีปัญหาเรื่องการตรวจสารต้องห้ามทางการกีฬา แต่โชคดีที่ทุกฝ่ายทุกภาคส่วนของวงการกีฬา ทั้ง ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. และคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซี เมมเบอร์หญิงชาวไทย รวมทั้งผู้ใหญ่ในรัฐบาล ต่างก็ร่วมมือร่วมใจกันต่อสู้ แก้ปัญหาให้กับชาติ จนกระทั้งสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงพาประเทศไทย พ้นมลทิน หลุดพ้นจากการถูกลงโทษ ธงชาติชาติ สามารถกลับมาขึ้นสู่ยอดเสาได้อย่างสมเกียรติภูมิอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทย จะพ้นมลทินแล้ว แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์แบบแต่อย่างใด และในโอกาสที่เราได้จัดกิจกรรมครั้งสำคัญของโลก ก็เลยต้องมีการเชิญบุคคลระดับผู้นำองค์กรกีฬาโลกทั้งจากไอทีเอ และ วาด้า มาร่วมการสัมมนาเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับนักกีฬาและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ซึ่งในเบื้องต้นที่เราได้มีการนำบุคลากรจากวงการกีฬามวย เข้ามาเป็นหลักนั้น ก็เพราะว่าประเทศไทย มีนโยบายในการผลักดัน "กีฬามวยไทย" ไปสู่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ในอนาคต
ที่สำคัญปัจจุบันกีฬามวยไทย มีทั้งกีฬาอาชีพและสมัครเล่น (กีฬาเป็นเลิศ) แต่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของสารต้องห้ามที่ถูกต้องกับระบบสากล ยกตัวอย่างเช่น เรื่องของการลดน้ำหนัก ก็ถือว่าผิด รวมทั้งการใช้น้ำมันนวดร่างกาย ซึ่งบางชนิดกีฬามีสารต้องห้ามที่ซึมเข้าร่างกาย เมื่อตรงจพบก็จะมความผิดทันที ซึ่งสารต้องห้ามในนักกีฬา ไม่จำเป็นต้องรับประทานเข้าไปเท่านั้น แต่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายหลายวิธี หากไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจน ก็จะเกิดผลเสียหายต่อตัวนักกีฬาได้ เพราะที่ผ่านมามีนักกีฬาหลายคนถูกต่างประเทศสั่งแบน ติดแบล็กลิสต์ เพราะเรื่องของสารต้องห้ามมาแล้ว จึงถือเป็นบทเรียนที่ชาวกีฬาไทยทุกส่วนจะต้องตระหนักและร่วมกันแก้ไขเพื่อเดินอย่างถูกทาง ไปสู่ความสำเร็จบนเวทีกีฬาโลกอย่างยั่งยืนและถูกต้อง
"ต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมากที่ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรกีฬาโลกทั้งไอทีเอ กับ วาด้า แสดงจุดยืนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าองค์กรกีฬาโลก พร้อมสนับสนุนประเทศไทย ให้ต่อสู้ในเรื่องของสารต้องห้ามไปด้วยกัน รวมทั้งยอมรับกับการที่ประเทศไทย ลุกขึ้นมาสู้และปรับปรุงวิธีการต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องสารต้องห้ามทางการกีฬา โดยเฉพาะกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และ กกท. พร้อมดูแลเรื่องนี้อย่างเต็มที่แน่นอน เพื่อไม่ให้นักกีฬาของเราเจอกับปัญหาเรื่องสารต้องห้ามอีกต่อไป" ดร.หญิง กล่าว
ดร.สุปราณี ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โดยภาพรวมของกิจกรรม "World Youth Festival Bangkok 2022" (เวิลด์ ยูธ เฟสติวัล แบงค็อก 2022) เทศกาลยุวทูตเยาวชนจากทั่วโลกครั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าน่าพอใจเป็นอย่างมาก เพราะไม่คิดมาก่อนเลยว่าจะทำได้ และสำเร็จเกินคาดเช่นนี้ การที่เราต้องนำเยาวชนจากทั่วโลกกว่า 2,000 คน มาเข้าแคมป์ร่วมกัน รวมทั้งได้รับความสนใจและการสนับสนุนจากคีย์แมนกีฬาระดับโลก โดยเฉพาะจากเชื้อพระวงศ์จากทั้งซาอุดิอาระเบีย และมาเลเซีย นั้น ถือว่าการจัดงานครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก
"ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ทว่าทาง กกท. และกองทุนฯ ก็ทำได้จริงๆ ก็ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ ดร.ก้องศักด ยอมณี ด้วย" ดร.หญิง กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องของการต่อต้านสารต้องห้ามในนักกีฬา ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่อันดับหนึ่งของโลกในเวลานี้ เพราะไม่เพียงแต่ทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่เอารัดเปรียบกันแล้ว แต่เรื่องของความปลอดภัยต่อชีวิตนักกีฬา นั่นต่างหากที่เป็นวาระของโลก
ฉะนั้นการที่ประเทศไทย โดย กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้เดินหน้าประสานสิบทิศกับพันธมิตรองค์กรกีฬาโลก เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาไทย ทั้งในสนามและนอกสนาม เดินหน้าอย่างถูกจุด และสอดคล้องกับตัวบทกฎกติกาแห่งกีฬาโลก จึงถือเป็นปฐมบทครั้งสำคัญและเป็นนิมิตหมายที่ดีของวงการกีฬาไทย ที่จะย่างก้าวเติบโตไปอย่างยั่งยืนและปลอดภัยนั่นเอง