คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
… ‘ยกเว้นใครเหรอ?พี่หมอ’ ‘ก็มึงไง!’ พี่หมอตอบเจ้าเก่งด้วยปากร้ายแต่ใจดี ‘เออจริง!’ คุณชูสง่าเห็นด้วย ‘เฮียเห็นมันนอนดึกตื่นเช้าทุกวัน...ไม่เห็นแรงมันตกเลยมีแค่งีบหลังกินอิ่มเท่านั้น’ ‘ใช่ครับเฮีย..ผมว่ามันเป็นคนในกลุ่มมนุษย์กลายพันธุ์กลุ่มน้อยในโลกที่มียีน ‘ARDB1’ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าเป็นยีนกลายพันธุ์ชนิดดี’ ‘หา!จริงดิ’ เฮียและเจ้าอ้วนอุทานเกือบพร้อมกัน
กลุ่มนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร Science Advance ที่แสดงถึงรูปแบบการนอนของคนทั่วโลก โดยนำเอาข้อมูลจากแอพพลิเคชั่นมือถือมาใช้ในการวิเคราะห์ สิ่งที่พวกเขาเรียกว่า เป็นวิกฤตการนอนน้อยของคนทั่วโลก ผลการศึกษาพบว่า ชาวดัชต์มีชั่วโมงการนอนหลับที่ยาวนานกว่าคนสิงคโปร์และญี่ปุ่น โดยคนสิงคโปร์และญี่ปุ่นมีชั่วโมงนอนโดยเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 24 นาที ในขณะที่คนเนเธอร์แลนด์ นอน 8 ชั่วโมง 12 นาที ส่วนคนอังกฤษนอนโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 8 ชั่วโมง และสั้นกว่าชั่วโมงการนอนของคนฝรั่งเศสไม่มาก นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า ผู้หญิงที่มีอายุเฉลี่ยระหว่าง 20-60ปี มีเวลานอนยาวกว่าผู้ชายในช่วงอายุเดียวกันถึง 30 นาที
ด้านศาสตราจารย์ แดเนียล ฟอร์เกอร์ หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า ในขณะที่สังคมสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีส่งผลทำให้คนเราเข้านอนดึก แต่นาฬิการ่างกายของเรากลับต้องการให้เราตื่นแต่เช้าตามปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมากทั่วโลกและเป็นการฝืนธรรมชาติ และนั่นอาจจะทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมาทางด้านสุขภาพ
สิ่งนี้ตรงกับความเห็นของ ศ.แมทธิว วอล์คเกอร์ ผู้แต่งหนังสือ Why We Sleep ที่บอกว่า ทุกโรคที่คร่าชีวิตคนในโลกยุคใหม่ ตั้งแต่มะเร็งไปจนถึงอัลไซเมอร์ หัวใจวาย เบาหวาน โรคอ้วน โรคหลอดเลือดสมองหรือแม้แต่การฆ่าตัวตายล้วนมีความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญกับการนอนหลับไม่เพียงพอ โดยการนอนไม่พอนั้น พยากรณ์การเสียชีวิตได้ในทุกสาเหตุ ศาสตราจารย์ วอล์คเกอร์ เห็นว่า โลกยุคใหม่ที่เต็มไปด้วยมลภาวะต่างๆรวมทั้งมลภาวะทางแสง ทำให้คนเราใช้ชีวิตแบบไม่หยุดพัก ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกๆวัน ซึ่งนั่นขัดกับวงจรนาฬิกาชีวภาพของร่างกายเราและไปรบกวนการนอนหลับ ทำให้นอนพักผ่อนไม่เพียงพอหรือไม่ถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ
แต่อย่างไรก็ตาม ในอีกขั้วหนึ่งของเรื่องสุขภาพกับการนอน ทีมนักวิจัยจาก ม.แคลิฟอร์เนียของสหรัฐ รายงานว่าพบยีนกลายพันธ์ชนิดหายาก ในกลุ่มคนจำนวนหนึ่งซึ่งยีนนี้จะทำให้เซลล์สมองตื่นตัวได้ง่ายและยาวนานกว่าคนทั่วไป ผู้วิจัยระบุว่าคนที่มียีน ADRB1 ชนิดกลายพันธ์จะต้องการเวลาเพื่อนอนหลับพักผ่อนขั้นต่ำน้อยกว่าคนทั่วไปโดยเฉลี่ยราว 2 ชั่วโมงต่อคืน ซึ่งหมายความว่าคนกลุ่มนี้จะสามารถนอนหลับเพียงคืนละ 4 ชั่วโมงและตื่นขึ้นมาทำกิจกรรมต่างๆได้โดยไม่รู้สึกอ่อนเพลีย ซึ่งการนอนน้อยที่เป็นผลมาจากพันธุกรรมนี้ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายเหมือนกับการอดนอนของคนทั่วไปแต่ยังมีแนวโน้มที่จะเป็นคนมีพลังงานกระฉับกระเฉงมองโลกในแง่ดี อดทนต่อความเจ็บปวดได้สูงและอาจจะมีอายุยืนยาวกว่าคนทั่วไปด้วย ดังนั้นในอนาคตเราอาจผลิตยาที่ทำให้มนุษย์นอนน้อยลงแต่มีสุขภาพดีขึ้น โดยเลียนแบบกลไกการทำงานของยีนกลายพันธ์ตัวนี้