xs
xsm
sm
md
lg

ฟุตบอลแห่งอนาคต / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

ในเกมฟุตบอลนั้น เราอาจลืมไปว่า ไม่เพียงแต่ผู้รักษาประตูเท่านั้น นักเตะคนอื่นๆก็ใช้มือเล่นกันได้ทั้งนั้น อย่างน้อยก็ตอนทุ่มบอลไง หลายคนอุตส่าห์คิดค้นหาวิธีที่จะทุ่มบอล (Throw-in) ให้ได้ระยะไกล เพราะถ้าทุ่มไปถึงหน้าประตู มันมีโอกาสทำประตูได้เลย แต่ถ้ากำลังแขนไม่ดีจริงๆก็คงไม่ได้ระยะขนาดนั้น บางคนคิดท่าทุ่มแบบตีลังกาซะ 1 รอบก่อน เรียกว่า ฟลิพ ธโรว (Flip throw) ซึ่งจะทำให้ได้แรงเหวี่ยงมากขึ้น ในขณะที่บางคนแอบตบตาผู้ตัดสินโดยการใช้แรงจากแขนข้างเดียว มันจะทำให้ทุ่มไปได้ไกลกว่าการใช้ 2 แขน แต่ผิดกติกา อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้ การทุ่ม อาจหายไปจากเกมฟุตบอล เพราะเขากำลังคิดใช้วิธี เตะเข้าสนาม (kick-in) แทน คราวนี้ก็จะเหลือเพียงผู้รักษาประตูเท่านั้นที่ใช้มือได้คนเดียวจริงๆ

คณะกรรมการฟุตบอลสากล (International Football Association Board - IFAB) ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1886 สมาชิกประกอบด้วย อังกฤษ สก๊อทแลนด์ เวลส์ และ อายร์แลนด์เหนือ รวม 4 ชาติ มีเสียง 50% และจาก สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Fédération Internationale de Football Association - FIFA) อีก 50% เป็นผู้คุ้มกฎ กติกา ที่เรียกว่า ลอว์ส อ๊อฟ เดอะ เกม (Laws of the Game) และคอยปรับปรุงให้เหมาะสมกับยุคสมัย เพิ่งประชุมกันที่ กรุงโดฮา (Doha) กาตาร (Qatar) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยมีประเด็นสำคัญคือเรื่องการนำลูกบอลที่ออกนอกสนามกลับเข้าสู่เกม การจับล้ำหน้าด้วยอุปกรณ์แทนคน และจำนวนการเปลี่ยนตัวผู้เล่น

การทุ่มนั้นใช้บังคับในเกมฟุตบอลมาตั้งแต่ปี 1863 โดยในอดีตเคยมีการเสนอให้ใช้การเตะเข้าสู่สนามเหมือนกันแต่ไม่เป็นที่ยอมรับ กติกาการทุ่มที่ปรับปรุงล่าสุดนั้นอยู่ในข้อ 15 กำหนดว่า ใครทำบอลออกนอกสนามก็ให้อีกฝ่ายได้ทุ่ม แต่จะทุ่มเข้าประตูไปเลยไม่ได้ ต้องสัมผัสนักเตะก่อน ถ้าดันทุ่มเข้าประตูก็ให้ฝ่ายเสียทุ่มเอาบอลมาตั้งเตะจากประตู แต่ถ้าทุ่มเข้าประตูตนเอง อันนี้เสียลูกเตะมุมครับ

คนทุ่มบอลต้องยืนหันหน้าเข้าสู่สนาม เท้าทั้ง 2 ข้างเหยียบบนเส้นขอบสนามหรืออยู่ภายนอกสนามไปเลย ต้องใช้ทั้ง 2 มือทุ่มบอลจากด้านหลังและเหนือศีรษะตรงจุดที่ลูกบอลออกนอกสนาม แล้วต้องให้บอลไปสัมผัสคนอื่นก่อนที่ผู้ทุ่มจะมีสิทธิ์สัมผัสบอล ที่สำคัญ ฝ่ายตรงข้ามต้องยืนห่างจากเส้นขอบสนาม 2 เมตร หรือ 2 หลา ไม่ใช่ 10 หลาเหมือนการเตะฟรีคิค ตรงนี้ไง มันถึงได้มีการทุ่มใส่หน้าฝ่ายตรงข้ามอยู่บ่อยๆ แต่การทุ่มใส่คู่แข่งโดยเจตนาเพื่อที่ตนจะได้เล่นในจังหวะที่บอลกระดอนมานั้น ถ้าไม่อัดซะเต็มแรง ผู้ตัดสินก็จะอนุญาตให้เล่นได้เลย ในกรณีที่มีการทุ่มผิดกติกาก็จะถูกเปลี่ยนให้อีกฝ่ายได้ทุ่มแทน

อารแซน เว็งเกอร (Arsène Wenger) อดีตโค้ชของ อาร์เซน็อล (Arsenal) ซึ่งในปัจจุบันเป็น หัวหน้าฝ่ายพัฒนาฟุตบอลของ ฟีฟ่า เป็นตัวตั้งตัวตีในการเปลี่ยนเป็น คิค-อิน เพื่อให้เกิมเดินไปอย่างต่อเนื่องรวดเร็วไม่เสียเวลาไปเปล่าๆ เขาอ้างว่าเรื่องนี้มีการคำนวณค่าเฉลี่ยระยะเวลาที่ได้เล่นบอลจริงๆจากเกมใน เพรอมิเอ ลีก (Premier League) ฤดูกาล 2021-22 นั้น ใน 90 นาที ได้เล่นจริงๆเพียง 55 นาที 3 วินาที เท่านั้น นอกนั้นเสียเวลาไปกับลูกออกและการเตะฟรีคิค

อย่างไรก็ตาม หากเปลี่ยนจากการทุ่มเข้าสนามเป็นการเตะเข้าสนามแทนจริงๆ คำถามก็ต้องเกิดขึ้นว่า แล้วจะให้ฝ่ายตรงข้ามยืนห่างจากเส้นขอบสนามเท่าใดแน่ 2 หลาเหมือนการทุ่มหรือเปลี่ยนเป็น 10 หลาอย่างการเตะฟรีคิคทั่วๆไป อันนี้น่าจะ 10 หลาใช่มั้ยครับ และการ คิค-อิน จะเตะเข้าประตูไปเลยได้หรือไม่ ซึ่งก็จะคล้ายกับลูกเตะมุม (Corner Kick) หรือจะต้องให้สัมผัสใครจังหวะหนึ่งเสียก่อน ทั้งนี้ คงมีการทดลองการเล่น Kick-in เสียก่อนจึงจะนำมาใช้จริง

การประชุมของ IFAB ที่ผ่านมาได้พูดถึงการนำเครื่องตรวจจับลูกบอลมาใช้จับการล้ำหน้า (Offside) ด้วย โดยสามารถแสดงผลได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วินาที เขากำลังทดลองใช้งาน ซึ่งถ้าเป็นผลสำเร็จก็จะทำให้เกมฟุตบอลเป็นไปอย่างถูกต้องเป็นธรรมยิ่งขึ้น นอกจากนั้น การเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ 5 คนที่ถูกนำมาใช้ด้วยเหตุการแพร่ระบาดของ โควิด-19 (COVID-19) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 นั้นก็จะถูกนำมาใช้ต่อไปในฤดูกาล 2022-23 ที่สำคัญ กรณีบาดเจ็บที่ศีรษะสามารถเพิ่มโควต้าเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้อีก 1 คนนั้น เขายังให้ทดลองใช้ต่อไปอีกถึงเดือนสิงหาคม 2023 ดังนั้น ต่อไปนี้ในใบรายชื่อนักเตะคงต้องใส่สำรองเข้าไปถึง 15 คน ไม่ใช่แค่ 12 คนซะแล้วครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น