คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
“วันนี้เจอโปรแอ๊ว” คุณชูสง่าบอกพี่หมอ “พี่แอ๊วแกเก่งนะอายุ 80 แล้วยังมาออกรอบสม่ำเสมอ” “เห็นว่าแกเป็นโรคต่อมลูกหมากโตใช่ไหมครับเฮีย” “ใช่ แกเลยต้องใส่แพมเพิร์สประจำ…เออ! เดี๋ยวนี้เฮียก็ชักกลั้นฉี่ไม่ค่อยอยู่แล้วนะ บางทีควักออกมาแทบไม่ทัน มันนึกปุ๊บก็เล็ดออกมาเลย สงสัยต้องไปตรวจซะแล้ว” “ดีครับ เพราะเป็นโรคฮิตของชายแก่..เอ๊ย!ชายสูงอายุเลยครับ…เดี๋ยวผมจัดการให้”
อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาจเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งมีหลายสาเหตุต่างกันไปตามเพศและวัย มาดูกันว่าอาการเหล่านี้เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง
-ต่อมลูกหมากโต
อาการอั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่สุด เป็นอาการยอดฮิตของผู้ชายวัยกลางคนไปจนถึงวัยชรา คือในช่วง 40-70ปี อาจเป็นสัญญาของโรค “ต่อมลูกหมากโต” อธิบดีกรมการแพทย์ นายสมศักดิ์ อรรฆศิลป์ กล่าวว่า ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะหนึ่งในระบบสืบพันธุ์ โดยถูกกระตุ้นให้มีการเจริญเติบโตจากฮอร์โมนเพศชาย เมื่ออายุมากขึ้น ต่อมลูกหมากจะโตขึ้นและอาจทำให้ท่อปัสสาวะตีบตัน ส่งผลให้ปัสสาวะลำบาก หรือรบกวนระบบสืบพันธุ์ ซึ่งอาการดังกล่าวบ่งบอกถึงต่อมลูกหมากโต
-ไอจามปัสสาวะเล็ด
ผศ.นพ.ภควัฒน์ ระมาตร์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ ยูโรวิทยา ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ระบุว่า อาการไอจาม ปัสสาวะเล็ด ซึ่งเป็นปัญหาที่เนื่องมาจากกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อรองรับอวัยวะในอุ้งเชิงกรานเกิดการหย่อยยาน ซึ่งอาจเป็นผลต่อเนื่องมาจากการฉีกขาดจากการตั้งครรภ์ การคลอดบุตรผ่านทางช่องคลอด เนื้องอกในอุ้งเชิงกราน หรือจากผลของการผ่าตัดเนื้องอกในอุ้งเชิงกราน ส่งผลให้หูรูดและท่อปัสสาวะไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ หูรูดปิดได้ไม่สนิท ผู้ป่วยจะมีอาการปัสสาวะเล็ดออกมาในขณะที่มีการเพิ่มขึ้นของความดันภายในช่องท้องอย่างรวดเร็วทันที เช่น การไอ การจาม หรือจากการยกของหนัก
-ปัสสาวะราด
อาการปัสสาวะราดเกิดมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของความดันในกระเพาะปัสสาวะ ในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการปวดปัสสาวะและไม่สามารถยับยั้งได้ ส่งผลให้ความดันในกระเพาะปัสสาวะสูงมากกว่าความดันในท่อปัสสาวะในขณะปิดตัว จึงเกิดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ซึ่งสาเหตุเกิดจากกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะมีการบีบตัวที่เร็วและรุนแรงมากกว่าปกติ เป็นผลมาจากสมองหรือไขสันหลังทำงานผิดปกติ เช่นมีการอักเสบติดเชื้อหรือผู้ป่วยโรคเส้นเลือดสมองตีบ หรืออาจเกิดจากกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะมีการทำงานมากกว่าปกติขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ
-ปัสสาวะรดที่นอน
สาเหตุของอาการปัสสาวะรดที่นอนมาจากการที่กล้ามเนื้อหูรูดของท่อปัสสาวะ มีการคลายตัวมากกว่าปกติในขณะหลับ เพราะมีการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติบกพร่อง หรือเกิดจากมีการสร้างน้ำปัสสาวะในช่วงกลางคืนมากกว่าปกติ ส่งผลให้มีน้ำปัสสาวะค้างอยู่มากจนความดันในกระเพาะปัสสาวะสูงกว่าท่อปัสสาวะ
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆอีก ซึ่งควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป