คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
“ผู้สูงอายุที่กะดูกแข็งแรง สามารถเดินได้ อายุจะยืน” เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ดังนั้นก๊วนกอล์ฟเราจึงออกรอบโดยการเดินไม่ใช้รถ แต่วันนี้คุณชูสง่าหัวหน้าก๊วนอนุมัติเป็นพิเศษให้น้องมายด์แคดดี้คนสวยให้ใช้รถได้ เพราะปวดสะโพกเนื่องจากเดินสะดุดหกล้มเมื่อเช้านี้ แต่ไม่ยอมลาป่วยเพราะเป็นห่วงนาย
ได้ไปเยี่ยมเพื่อนที่ป่วยเรื้อรังนอนติดเตียง เพื่อนบอกว่าสิ่งที่อยากได้ที่สุดในตอนนี้คือ อยากกลับไปเดินได้ด้วยขาของตัวเองอีกครั้ง! ดังนั้นเราควรเดินให้มากขึ้นในแต่ละวันก่อนที่ขาของเราจะเดินไม่ได้ การชดเชยแคลเซี่ยมให้กระดูกด้วยการเดินจะได้ประโยชน์มากกว่าการกินแคลเซี่ยม
กระดูกจะพรุนหรือไม่อยู่ที่การเดินมากกว่าการกินแคลเซี่ยม และต้องเดินเยอะๆตั้งแต่เด็กเหมือนคนญี่ปุ่น จะสะสมความแข็งแรงของกระดูกไว้ได้
นายแพทย์โย๊ะชิโนะริ นะงุโมะ ผู้อำนวยการของโรงพยาบาลใหญ่4แห่งในญี่ปุ่น เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งได้เขียนหนังสือหลายเล่มที่เป็นผลงานระดับBest seller และหนึ่งในนั้นมีบทที่ชื่อว่า “มาชดเชยแคลเซี่ยมด้วยการเดินกันเถอะ” ซึ่งเหมาะมากกับผู้สูงวัย
คุณหมอแนะนำว่า “ถ้าต้องการให้กระดูกแข็งแรง คุณต้องเดินให้มากเป็นสองเท่าของคนทั่วไป เพราะแรงโน้มถ่วงจะทำให้กระดูกเพิ่มปริมาณแคลเซี่ยมขึ้นได้ตามธรรมชาติ” แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมจึงมีการพูดกันโยทั่วไปว่าแคลเซี่ยมจะลดน้อยลงตามอายุล่ะ? เรื่องนี้คุณหมออธิบายว่าเมื่อแคลเซี่ยมในเลือดลดลงก็จะนำแคลเซี่ยมจากกระดูกมาใช้แทน กระดูกก็จะค่อยๆเปราะบางลง ถ้าผู้สูงอายุมีการเดินที่ไม่เพียงพอ การออกกำลังกายน้อยลง ผู้สูงอายุบางรายแทบไม่ได้มีการขยับตัวเลยในแต่ละวัน นอกจากนี้ปริมาณฮอร์โมนที่ลดต่ำลงก็ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกและความบึกบึนของกล้ามเนื้อลดลง โดยเฉพาะในเพศหญิง
นอกจากนี้ พวกเราผู้สูงวัยก็มีแนวโน้มที่จะเดินน้อยลงเรื่อยๆ จึงยิ่งทำให้ขาดแคลเซี่ยมมากขึ้น ส่งผลให้มีอาการปวดเข่า และปวดสะโพก ทำให้ยิ่งเดินน้อยลงไปอีก เป็นวงจรแย่ๆที่ทำให้ต้องนั่งรถเข็น กระดูกก็ยิ่งอ่อนแอลงจนเกินแก้ไขเดินเองไม่ได้
ในทางกลับกัน ต่อให้เป็นวัยหนุ่มสาว หากนั่งทำงานอยู่แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ วันๆแทบไม่มีการขยับตัว แล้วจู่ๆวันหนึ่งก็ลุกขึ้นมาใช้ขาอย่างหักโหม เช่นการไปท่องเที่ยวทันทีก็จะมีอาการปวดข้อปวดเข่า เพราะร่างกายไม่เคยชิน ดังนั้นเราควรฝึกนิสัยรักการเดินให้เป็นกิจวัตรอย่างสม่ำเสมอ
คุณหมอเองมีอายุถึง 60 ปีแล้ว แต่อายุกระดูกที่ตรวจวัดได้มีอายุเพียงแค่ 20 ปี ซึ่งอ่อนกว่าอายุจริงถึงกว่า 30 ปี นั้นเป็นเพราะคุณหมอรักการเดินเป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่เด็ก คุณหมอยังเตือนว่า การเดินน้อยในวัยเด็กจะมีผลอย่างยิ่งต่อระดับความรุนแรงของโรคกระดูกพรุนเมื่ออายุมากขึ้น
พ่อแม่ชาวญี่ปุ่นจะฝึกให้ลูกเดินเยอะๆ โดยให้เดินไปโรงเรียนแทนการนั่งรถ แต่ถ้าขึ้นรถก็พยายามให้เด็กได้ยืนเพื่อฝึกกำลังขาและสะโพกให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความแข็งแรงของกระดูกไปตลอดชีวิต