xs
xsm
sm
md
lg

“ขี้หลงขี้ลืม” เป็นตามวัยหรือเข้าใกล้อัลไซเมอร์ / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

“เห็นคลิปวีดีโอที่คนแก่สาละวนหาแว่นตาที่คาดไว้ที่หน้าผาก หรือหน้ากากอนามัยที่หล่นลงมาคาดที่คางแล้วก็อดขำไม่ได้ แต่วันนี้ขำไม่ออกที่ตัวเองหากุญแจสตาร์ทรถไม่เจอ...เออ!ดูสิ กำลังรีบจะไปฉีดวัคซีนเข็มสองที่โรงพยาบาล...ก็เพิ่งใช้เปิดประตูรถเข้ามาอยู่เมื่อกี้เองนี่นา หรือจะคาอยู่ที่กุญแจ พอจะลุกออกไปดู..โภ..หล่นจากตักทั้งพวงเลย” คุณชูสง่าบ่นบรรยายยาวเลย “ผมก็เคยบ่อยๆครับ” เจ้าเก่งบอกเฮียเชิงปลอบใจ “เฮียจะเป็นอัลไซเมอร์ มั๊ยหมอ?” “ก็อาจเป็นได้ถ้าลืมบ่อยๆ แต่ผมมีวิธีแก้ครับ”

วิธีแก้อาการขี้ลืม

1.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะถ้านอนไม่หลับหรือหลับไม่เพียงพอน้อยกว่า7-8ชม.ต่อวันอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้สมองเหนื่อยล้า ไม่มีสมาธิ หงุดหงิดง่าย รวมถึงอาการหลงๆลืมๆ

2.ทานอาหารหรือวิตามินที่ช่วยบำรุงสมอง วิตามินหรืออาหารเสริมบางอย่างอาจช่วยเพิ่มความจำสำหรับคนที่มีอาการขี้หลงขี้ลืม เช่น ใบแปะก๊วย ผักโขม หรือวิตามินจำพวกน้ำมันตับปลา

3.จดบันทึก การมีสมุทรบันทึกจำเป็นสำหรับคนขี้ลืม ควรพกสมุดเล็กๆติดตัวหรือจดไว้ในมือถือ เพื่อช่วยเตือนสิ่งที่จะต้องทำในแต่ละวัน การฝึกจดบันทึกจะช่วยแก้นิสัยขี้ลืมได้มาก

4.แปะกระดาษโน้ต (Post-it) การแปะกระดาษโน้ตไว้ในที่ที่คุณมองเห็นง่ายๆ หรือเดินผ่านประจำ เช่น ฝาตู้เย็น ประตู ขอบโต๊ะ หน้าจอคอม จะช่วยเตือนสมองให้จดจำเรื่องที่จะต้องทำได้แม่นยำขึ้น

5.จัดระเบียบสิ่งของเป็นหมวดหมู่ ทำให้สามารถนึกได้อย่างรวดเร็วว่าของสิ่งนี้อยู่ตรงไหน เช่น กุญแจรถกุญแจบ้านแขวนอยู่ในตู้เล็กข้างประตู ยาประจำตัววางอยู่บนโต๊ะข้างหัวเตียง อุปกรณ์ช่างต้องอยู่ในห้องเก็บของ แบบนี้จะทำให้คุณไม่ลืมว่าเก็บอะไรไว้ตรงไหนบ้าง

6.ทำทีละอย่าง การจำแค่สิ่งเดียวสำหรับบางคนก็ยังลืม ไม่ต้องพูดถึงการทำอะไรหลายๆอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น การขับรถพร้อมกับคุยโทรศัพท์ไปด้วย พอรู้ตัวอีกทีขับไปทางไหนแล้วก็ไม่รู้ นั่นเพราะว่าไม่มีสมาธิ ฉะนั้นเราควรทำทีละอย่างเพื่อโฟกัสและจดจำกับสิ่งที่กำลังทำได้ดียิ่งขึ้น

7.พูดกับตัวเองบ่อยๆ อาจพูดในใจถ้ากลัวคนอื่นมองว่าเพี้ยนหรือสติไม่ดี โดยไล่เรียงลำดับว่าวันนี้จะต้องทำอะไรบ้าง ก่อนที่จะเริ่มต้นทำกิจกรรมต่างๆ เป็นเหมือนการเตือนสติและย้ำกับตนเองให้จำในสิ่งที่ต้องทำ จะช่วยให้ไม่หลงลืมสิ่งที่ต้องทำ

8.ทำอะไรให้ช้าลง หากคุณเป็นคนคิดเร็ว ทำเร็ว พูดเร็ว จะทำให้คุณจดจำรายละเอียดต่างๆได้น้อยลง แต่ถ้าหากคุณค่อยๆคิดค่อยๆทำ และใส่ใจในรายละเอียดของสิ่งที่จะทำให้มากขึ้น สมองของคุณก็จะจดจำเรื่องต่างๆได้ดีขึ้น อาการหลงๆลืมๆก็จะดีขึ้นด้วย

9.ลดการดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลต่อสมองโดยตรง ถ้าดื่มประจำจะทำให้เกิดความจำเสื่อมขี้หลงขี้ลืม และส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมากมาย และอาจเกิดอุบัติเหตุจากการมึนเมาด้วย

10.บริหารสมอง กิจกรรมต่างๆที่เป็นการกระตุ้นให้สมองตื่นตัว เช่น การเล่นเกม เล่นหมากรุก หมากล้อม สแคร็บเบิล ปริศนาอักษรไขว้ หรือแม้แต่เล่นไพ่ ก็เป็นการบริหารสมองให้รวดเร็ว อาการหลงลืมน้อยลง

สุดท้ายเป็นเคล็ดลับส่วนตัว เพราะบ่อยครั้งที่เคยลืมเปิดน้ำเติมบ่อปลา หรือตั้งหม้ออุ่นของไว้แล้วลืม ไปทำอย่างอื่นเพลิน เลยใช้วิธีแก้โดยการเอาของใกล้มือแปลกๆใส่กระเป๋าเสื้อไว้ เช่น ช้อนส้อม หรือใบไม้ใหญ่ๆ หรือเอาหนังสติ๊กใส่รัดข้อมือไว้ รับรองว่าได้ผล100% แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการฝึกสติความรู้สึกตัวนะครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น