ผ่านมาครึ่งทางแล้วกับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แม้จุดมุ่งหมายหลักของเหล่านักกีฬาจากทั่วโลกกว่า 11,326 คน จะมารวมตัวกันเพื่อช่วงชิงเหรียญทองกลับบ้าน แต่ระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน 2 สัปดาห์ พวกเขาก็ได้พบเจอแวดล้อมน่าสนใจ โดยเฉพาะนวัตกรรมต่างๆ ที่เจ้าภาพเลือกเฟ้นนวัตกรรมทางธรรมชาติ มาเป็นส่วนหนึ่งของทัวร์นาเมนต์ จนสร้างความประทับใจแก่แขกต่างชาติมากมาย
นอกเหนือผลการแข่งขันและความสำเร็จของนักกีฬา สำนักข่าวต่างประเทศ ก็คัดสรรเนื้อหาน่าสนใจเกี่ยวกับนวัตกรรมต่างๆ ของ “โตเกียว 2020” มานำเสนอออกสื่อไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งฝ่ายจัดการแข่งขันประจำกรุงโตเกียว บอกทุกคนแล้วว่าครั้งนี้พวกเขามีความภูมิใจในการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่จะช่วยรักษาโลกใบนี้ไปพร้อมกัน จนมีการตีตราว่านี่คือ “โอลิมปิกสีเขียว”
โพเดียมจากขยะพลาสติก
เป็นอีกครั้งที่มีการเอาขยะพลาสติกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ดีกว่าปล่อยให้อยู่ในถังขยะแล้วไม่รู้จะเอาไปทำอะไร โดยโพเดียมมอบรางวัลเหรียญทอง, เงิน, ทองแดง ครั้งนี้เป็นฝีมือการดีไซน์ของ มร.อาซาโอะ โตโกโละ สถาปนิกชาวญี่ปุ่นชื่อดัง โดยเอาขยะพลาสติกที่มีอยู่ทั่วประเทศ และเศษซากที่อยู่ตามชายทะเล มาก่อร่างเป็นโพเดียม ลักษณะสี่เหลี่ยมลายเดียวกับตราสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมสีน้ำเงินที่ใช้ในการแข่งขัน และเอาให้สอดคล้องกับสโลแกนที่ว่า “ทุกความหลากหลาย รวมกันเป็นหนึ่งเดียว”
ชุดแข่งจากขวดพลาสติก และคบเพลิงแห่งความหวัง
โคคา โคล่า บริษัทน้ำดำยี่ห้อดัง และสปอนเซอร์ของทัวร์นาเมนต์ ให้การสนับสนุนนำขวดพลาสติกจากผลิตภัณฑ์ของตัวเองเอามาให้เจ้าภาพทำชุดวิ่งคบเพลิง โอลิมปิก เพื่อสื่อถึงการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ตัวคบเพลิงที่ถือวิ่งกันทุกวันก่อนพิธีเปิดการแข่งขัน ก็มีส่วนประกอบจากอลูมิเนียมที่นำมาจากซากบ้านเรือน และสิ่งก่อสร้างที่เหลือจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่ในโทโฮคุ เมื่อปี 2011 เพื่อเป็นการสื่อว่าแม้จะมาจากซากปรักแห่งความสูญเสีย แต่เมื่อถูกนำมารีไซเคิลใหม่ มันจะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังของคนทั่วโลกได้
เหรียญรางวัลจากขยะรีไซเคิล
เรียกเสียงฮือฮาตั้งแต่การแข่งขันยังไม่เริ่ม กับเหรียญรางวัล “โตเกียว 2020” จากเดิมที่ใช้โลหะมาหลอมและหล่อให้เป็นเหรียญ ทอง, เงิน, ทองแดง ที่ทุกคนคุ้นเคย แต่รอบนี้เปลี่ยนเป็นการนำขยะอิเล็กโทรนิกส์ อาทิ โทรศัพท์มือถือ, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ จำนวนกว่า 78,000 ตัน ซึ่งทาง เอ็นทีที โดโคโมะ เครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ชื่อก้องของประเทศ รับบริจาคมาจากประชาชนทั่วญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2017 และหล่อให้เป็นเหรียญรางวัลแบบไม่เสียคุณค่า
อย่างไรก็ตาม มีเรื่องตลกเมื่อบรรดานักกีฬา พยายามทำท่าไม้ตายหยิบเหรียญขึ้นมากัดโชว์เพื่อให้ช่างภาพแชะรูปตามธรรมเนียมปกติ ฝ่ายจัดการแข่งขันก็ออกมาเตือนว่า "เราแค่อยากจะบอกอย่างเป็นทางการว่าเหรียญรางวัล โตเกียว 2020 นั้นกินไม่ได้" ก็เพราะว่ามันสร้างจากขยะอิเล็กโทรนิกส์ หากเอากัดเข้าปาก อาจโชคร้ายมีสารเคมีปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย กลายเป็นอันตรายไปอีก
สนามไม้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
หนึ่งในสนามที่ได้รับเสียงฮือฮาที่สุดของทัวร์นาเมนต์คือ อาริอาเกะ ยิมนาสติก สเตเดียม สังเวียนใช้จัดชิงเหรียญทองกีฬายิมนาสติก ความตระการตาของสนามแห่งนี้คือการที่มันถูกสร้างด้วยไม้ธรรมชาติ ที่คัดมาจากป่าทั่วประเทศญี่ปุ่น เลือกใช้ไม้ที่แข็งแรง ทนทาน ไม่เสื่อมสลายง่าย ยิ่งไปกว่านั้นคือการสร้างสนามด้วยไม้ ต้องใช้ทักษะฝีมือช่างระดับสูง ทำให้บรรดาช่างไม้ระดับแนวหน้าทั่วประเทศ มารวมตัวกันเพื่อสร้างสนามโดยมีเงื่อนไขว่าไม่ใช้น็อตยึดแม้แต่ตัวเดียว
และเมื่อการแข่งขันผ่านไปครึ่งทาง นักกีฬาและสตาฟฟ์ก็ได้รู้ซึ้งแล้วว่าสนามไม้จุ 12,000 ที่นั่ง แข็งแรง ทนทาน ปลอดภัยเพียงใด
เตียงนอนกระดาษแต่แข็งแรง
สิ่งที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดในหมู่บ้านนักกีฬาครั้งนี้คือ “เตียงกระดาษ” จำนวน 18,000 เตียง ที่ทางเจ้าภาพจัดเตรียมไว้ให้นอนหลับพักผ่อน แน่นอนว่ามีคำถามตามมาเยอะแยะว่ามันแข็งแรงจริงหรือไม่ นอนแล้วจะพังหรือเปล่า แต่คำตอบก็เป็นที่กระจ่างเมื่อกระดาษที่ใช้ทำเตียงนี้ มีความแข็งแรงรองรับน้ำหนักได้ถึง 200 กิโลกรัม และยืดขยายได้มากที่สุด 210 เซนติเมตร รองรับกับสรีระร่างกายของนักกีฬา และเมื่อใช้เสร็จแล้วก็จะเอาไปรีไซเคิลทำอย่างอื่นต่อ
อีกหนึ่งความฮาคือเตียงนี้สามารถทำกิจกรรมเข้าจังหวะได้หรือเปล่า? เพราะเป็นที่รู้กันว่าหมู่บ้านนักกีฬา มักถูกเปลี่ยนเป็นสังเวียนแห่งกลกาม ที่นักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลกใช้แลกเปลี่ยนความสัมพันธ์กันอย่างหวาดเสียว ซึ่งนักยิมนาสติกและยูทูบเบอร์จากไอร์แลนด์อย่าง รีส แม็คคลีนาแกน ก็ทดสอบให้ดูเรียบร้อยว่ามันแข็งแรง แม้จะกระโดดเหยียบเต็มที่ก็ยังไม่พัง