คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
เหตุการณ์ผ่านไปเกือบ 5 ปีแล้วหรือที่เราได้เห็นผีเสื้อยักษ์ที่ฝรั่งเรียกว่า ม้อธ (Moth) บินไปมาเต็ม สต๊าด เดอ ฟร้องส์ ของ ฝรั่งเศส ในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอล ยูโร 2016 วันนั้น คริชติอาโน โรเนาโด ถูกกระแทกที่หัวเข่าอย่างแรงจนฝืนเล่นต่อไม่ไหวต้องออกมายืนเชียร์และช่วยโค้ชเพื่อนๆอยู่ข้างสนาม เกมนั้นจบลงโดย ปอรตูเกา เอาชนะเจ้าภาพ 1-0 คว้าแช้มพ์รายการใหญ่เป็นหนแรกในประวัติศาสตร์ ฟุตบอลชิงแช้มพ์แห่งชาติยุโรป เวียนกลับมาอีกหนเป็นครั้งที่ 16 แม้ว่าต้องล่าช้าไปร่วม 1 ปีเนื่องจาก โควิด-19 แต่เขาก็ยังให้เรียกว่า ยูโร 2020 (UEFA Euro 2020) ทั้ง 24 ทีมจะเตะกันใน 11 สนามของ 11 เมืองในทวีปยุโรประหว่างวันที่ 11 มิถุนายน - 11 กรกฎาคมนี้
ในสถานการณ์ โควิด-19 สหสมาคมฟุตบอลยุโรป (UEFA) ยอมให้แต่ละชาติมีนักเตะ รวมผู้รักษาประตูอีก 3 คน เป็น 26 คน มากกว่าของเดิมที่ให้ 23 คน แต่ว่าแต่ละนัดจะใส่ชื่อได้เพียง 23 คนเท่านั้น อันนี้เป็นไปตามกฎของ คณะกรรมการฟุตบอลนานาชาติ (IFAB) ที่ให้มีตัวสำรองในเกมของทีมชาติชุดใหญ่ได้ 12 คน และเมื่อส่งรายชื่อไปแล้ว หลังวันที่ 1 มิถุนายนจนถึงก่อนเตะนัดแรก เกิดมีใครบาดเจ็บหรือป่วยหนักโดยมีใบรับรองแพทย์มายืนยันก็สามารถเปลี่ยนแปลงรายชื่อได้ไม่จำกัด อันนี้รวมนักเตะที่มีผลตรวจ โควิด-19 เป็นบวกหรือผู้สัมผัสใกล้ชิดด้วย อันนั้นกักตัวไปเลยและเปลี่ยนรายชื่อได้ นอกจากนั้นสิ่งที่แถมมาคือก่อนเริ่มเกมทุกนัดยังเรียกผู้รักษาประตูใหม่มาแทนกี่คนก็ได้ เพียงแค่พบว่าไม่ฟิตสมบูรณ์ ทั้งนี้ เมื่อเปลี่ยนใครออกไปแล้วจะเอากลับมาใหม่ไม่ได้อีกนะครับ
สืบเนื่องจากปัญหา โควิด-19 ทำให้โปรแกรมการเตะอัดแน่น เพื่อป้องกันนักเตะบักโกรก IFAB จึงปรับกฎการเปลี่ยนตัวผู้เล่นเป็นพิเศษ โดยในแต่ละเกมกำหนดให้เปลี่ยนตัวได้ทีมละ 5 คน และหากมีการต่อเวลาพิเศษก็ได้อีกเป็นคนที่ 6 และต้องไม่ลืมว่า แต่ละทีมจะมีโอกาสเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ 3 ครั้ง ไม่ใช่นึกจะเปลี่ยนก็เปลี่ยนครั้งละคนเท่านั้น อาจทำให้เสียโควต้าไปฟรีๆ หากมีการต่อเวลาพิเศษก็เพิ่มโอกาสเปลี่ยนตัวได้อีก 1 ครั้ง ทั้งนี้ ไม่รวมการเปลี่ยนตัวในช่วงพักครึ่งของทั้งในเกม 90 นาทีและของช่วงต่อเวลาพิเศษ รวมทั้ง ช่วงก่อนเริ่มการต่อเวลาพิเศษ
UEFA ยังมีกฎพิเศษอีกคือ ทีมใดที่มีผู้เล่นถูกสั่งกักตัวเพราะ โควิด-19 และยังเหลือนักเตะรวมผู้รักษาประตูอย่างน้อย 1 คนแล้วมีไม่น้อยกว่า 13 คน ก็ให้เตะไปตามโปรแกรม แต่ถ้ารวมแล้วมีไม่ถึง 13 คนก็ให้เลื่อนเตะออกไปไม่เกิน 48 ชั่วโมง ซึ่งอาจต้องไปเตะในสนามอื่นก็ได้ ถ้าสนามเดิมไม่ว่างซะแล้ว แต่ถ้าคณะกรรมพิจารณาแล้วยังไงก็หาทางเลื่อนการแข่งขันไม่ได้ ทีมต้นเหตุก็ต้องถูกปรับแพ้ 3-0 กฎพิเศษนี้ยังครอบคลุมถึงผู้ตัดสินด้วย โดยหากใครมีปัญหา โควิด-19 UEFA จัดผู้ตัดสินชาติเดียวกันมาแทนได้เลยโดยไม่ต้องคำนึงว่าอยู่ในรายชื่อผู้ตัดสินของ ฟีฟ่า หรือไม่
การใช้ 11 สนามใน 11 ประเทศ ยังไปเกี่ยวกับข้อบังคับเรื่องจำนวนผู้ชมที่แต่ละชาติอนุญาตอีก ฮังการี เป็นชาติเดียวที่ยอมให้ผู้ชมเข้าสนามเต็มอัตราความจุ แต่ในสนามอื่นๆอนุญาตแค่ 20%-50% ของความจุ และบางชาติก็ได้เปรียบเพราะได้เล่นในบ้านตนเอง โดยกลุ่ม A มี ตุรกี อิตาลี เวลส์ และ สวิส ใช้สนามของ อิตาลี กับ อาเซอรบายจัน ที่ตกรอบคัดเลือกไม่ได้ร่วมแข่ง กลุ่มนี้ อิตาลี ได้แข่งบ้านตนเองทั้ง 3 เกม กลุ่ม B มี เด็นมาร์ค ฟินแลนด์ เบ็ลเจี้ยม และ รัสเซีย ใช้สนามของ เด็นมาร์ค กับ รัสเซีย เด็นมาร์ค ก็ได้แข่งในบ้านตนเองทั้ง 3 นัด ส่วน รัสเซีย เล่นในบ้านตนเอง 2 นัด
กลุ่ม C มี เนเธ่อร์แลนด์ส อูคราอิน อ๊อสเตรีย และ น้อร์ธ มาเซโดเนีย ใช้สนามของ เนเธ่อร์แลนด์ส กับ โรมาเนีย ที่ตกรอบ เพลย์-อ๊อฟ กลุ่มนี้ เนเธอร์แลนด์ส กำไรเนื้อๆได้เล่นในบ้านของตนเอง 3 นัดเลย กลุ่ม D มี อังกฤษ โครเอเชีย สก๊อทแลนด์ และ เช็ก ใช้สนามของ อังกฤษ กับ สก๊อทแลนด์ ก็ได้กำไรกันไปโดย อังกฤษ เตะในบ้านทั้ง 3 นัด ส่วน สก๊อทแลนด์ 2 นัด
กลุ่ม E มี สเปน สวีเด็น โปแลนด์ และ สโลวาเกีย ใช้สนามของ สเปน ซึ่งได้เตะในบ้านตนเองทั้ง 3 นัด กลุ่ม F มีทั้ง ปอรตูเกา แช้มพ์เก่า ฝรั่งเศส แช้มพ์โลก เจอรมานี และ ฮังการี ใช้สนามใน เจอรมานี กับ ฮังการี เจอรมานี ก็ได้เปรียบเพราะเตะในบ้านทั้ง 3 นัด ส่วน ฮังการี เตะในบ้าน 2 นัด เมื่อเข้าสู่รอบ น้อค-เอ๊าท์ ก็แบ่งๆกันไปใน 11 ชาติ โดย อังกฤษ จะกลับมาได้เปรียบอีกตั้งแต่ รอบรองชนะเลิศ และ รอบชิงชนะเลิศ มาเตะกันที่ เว็มบลีย์ สเตเดี้ยม ใน กรุงล็อนเดิ้น ครับ