xs
xsm
sm
md
lg

“คู ยองโฮ” ตัวเตะพลังโสม ขีดเส้น 3 ปีพลิกชะตาจากผู้เล่นไร้ค่าสู่ดีกรี “โพรโบว์ล"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บนสังเวียนศึกอเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล (NFL) อันดุเดือด นับว่ายากเหลือเกิน สำหรับชาวเอเชียพันธุ์แท้จะมีที่ยืน โดยเฉพาะทั้งสรีระและพละกำลัง ตามประวัติศาสตร์ผู้เล่นเชื้อสายเกาหลี มีเพียง ไฮน์ส วอร์ด อดีตปีกนอก พิตต์สเบิร์ก สตีลเลอร์ส ที่ดังกระฉ่อน ด้วยแชมป์ ซูเปอร์โบว์ล 2 สมัย แต่ใช่ว่าจะมีสายเลือดโสมขาวเต็มร้อย ดังเช่น คู ยองโฮ ตัวเตะ แอตแลนตา ฟอลคอนส์ ซึ่งก้าวข้ามความล้มเหลว ภายในระยะเวลา 3 ปี สู่ระดับผู้เล่น “โพร โบว์ล”

กันยายน 2017 : คู ยองโฮ ขณะอายุ 23 ปี ดำเนินชีวิตด้วยความฝันตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมต้น ราว 2-3 เดือนต่อมา นับตั้งแต่จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัย จอร์เจีย เซาเธิร์น ในฐานะตัวเตะระดับ ออล-คอนเฟอเรนซ์ (ทีมยอดเยี่ยมของคอนเฟอเรนซ์) ชุดที่ 1 ยองโฮ เซ็นสัญญาร่วมทัพ แอลเอ ชาร์เจอร์ส แบบฟรีเอเจนต์ ไม่ถูกดราฟต์ เขี่ย จอช แลมโบ ตกกระป๋องช่วงเทรนนิงแคมป์ กลายเป็นผู้เล่นลำดับที่ 4 ของ อเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล (NFL) ซึ่งเกิดที่เกาหลีใต้ และสร้างกระแสฮือฮาทาง โซเชียล มีเดีย ด้วยท่าเตะฟิลด์โกล แล้วตีลังกากลับหลัง มีผู้ชมมากกว่า 2.3 ล้านคน และยอดรีทวีตราว 8,400 ครั้ง

เอวา เมาเรอร์ แฟนสาว ซึ่งคบหากันมาตั้งแต่เกรด 8 กล่าว “มันเปรียบราวความฝัน” ทว่า 4 สัปดาห์นับจากนั้น ทุกอย่างแปรเปลี่ยนเป็นฝันร้าย ชาร์เจอร์ส เปิดซีซันแพ้ 4 เกมรวด คู ยองโฮ เตะฟิลด์โกลเข้าเป้าแค่ 3 จาก 6 ครั้งแรก (คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์) พลาดลูกสำคัญๆ อย่าง ตีเสมอ เดนเวอร์ บรองโกส์ วินาทีสุดท้าย เกมเปิดซีซัน และ เอาชนะ ไมอามี ดอลฟินส์ ท้ายเกมสัปดาห์ที่ 2 เป็นเหตุให้ตกงานภายในเวลา 1 เดือน

คู ยองโฮ กล่าว “ผมได้ลงเล่นมันสุดยอดจริงๆ แต่น่าเศร้าเหลือเกิน ผมช็อกมาก ผมยืนอยู่ตรงนั้น สิ่งต่อมาที่ผมทราบ คือ ผมตกงาน ผมไม่รู้จริงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น และคิดอะไรต่อไป นับเป็นครั้งแรกที่ผมสัมผัสประสบการณ์แบบนั้น”

ยิ่งกว่าเหตุการณ์สะเทือนใจ ซึ่งไม่ได้เล่น อเมริกันฟุตบอล ครั้งแรกรอบนานกว่า 1 ทศวรรษ ทันใดนั้น คู ยองโฮ ย้อนภาพสมัยก่อนจบการศึกษา เขาถูกทักท้วงจากเพื่อนๆ และครอบครัวเสมอ ถึงโอกาสอันริบหรี่ที่จะได้รับหน้าที่ตัวเตะสัก 1 แห่งจาก 32 แฟรนไชส์ เขาจึงตั้งปณิธานแรงกล้า ขีดเส้นตายแก่ตัวเอง จะต้องติดทีมระดับ NFL ภายใน 3 ปี หากครบกำหนดแล้วยังไม่สมหวัง ก็จะมองหาหน้าที่การงานอื่นๆ

เผชิญฝันร้ายกับ “ชาร์เจอร์ส”
อย่างไรก็ตาม ตัวเตะพลังโสม ปฏิเสธละทิ้งความฝันก่อนถึงเวลาอันควร “ผมพยายามหาแผนสำรอง ไม่ว่าจะทำอะไร มันก็ไม่เคยสอดคล้องกับตัวผมเลย ผมรู้สึกว่าตัวเองเสียพลังงานแบบเปล่าประโยชน์ หากมันล้มเหลว ผมจะทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างกับอาชีพอื่นๆ ผมสามารถนั่งบนโต๊ะ และหางานทำได้ ตอนอายุ 40 แต่ผมคงเตะบอลไม่ไหว ตอนอายุ 40”

ครบกำหนดเส้นตาย : เข้าสู่เดือนเมษายน 2020 เส้นทางของ คู ยองโฮ พลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ เปรียบกับระยะเวลาสั้นๆ ที่มหานคร ลอส แองเจลิส ยองโฮ ในวัย 26 ปี สังกัด แอตแลนตา ฟอลคอนส์ เขากลายเป็นตัวเตะทำคะแนนสูงสุดของ NFL คว้ารางวัลผู้เล่นทีมพิเศษยอดเยี่ยมสาย เอ็นเอฟซี (NFC) ประจำเดือนพฤศจิกายน และผู้เล่นระดับ “โพร โบว์ล”

จุดเริ่มต้นของ คู ยองโฮ สู่ ลีกคนชนคน มิได้แตกต่างจากคนอื่นๆ เท่าไรนัก เขาเกิดที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ แล้วย้ายตามคุณแม่ ซึ่งประกอบอาชีพนางพยาบาล มาปักหลักที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เรียนประถมศึกษาปีที่ 6 พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ขณะเข้าศึกษา ที่โรงเรียนริดจ์วูด รัฐนิว เจอร์ซีย์ ระยะแรกเขาพยายามมองหาเพื่อนที่มีปูมหลังคล้ายๆ กัน คือ พูดภาษาเกาหลีฉะฉาน และรับประทานอาหารแบบเดียวกัน

คุณพ่อ คู ฮยุงเซียว ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจ ซึ่งทำงานที่กรุงโซล แต่เดินทางมาเยี่ยมลูกชาย 2-3 เดือนต่อปี ชี้แนะให้ ยองโฮ ต้องทำความรู้จักบุคคลอื่นๆ วงกว้าง จึงเรียนรู้ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษจากเพื่อนร่วมชั้น ภายในชุมชนผิวขาวเสียส่วนใหญ่ ตามผลการสำรวจสำมะโนครัว ปี 2010 ผิวขาว 82%, ผิวสี 2% และ เอเชีย 13%) เขาสนิทสนมกับชนกลุ่มน้อยที่เล่นกีฬา อเมริกันฟุตบอล และช่วยฝึกฝน ยองโฮ ด้านการออกเสียงภาษาอังกฤษ

ยองโฮ เติบโตมาโดยเล่นกีฬา ซ็อคเกอร์ (ฟุตบอลตามภาษาอังกฤษ) วันหนึ่งสมัยเรียนประถม 6 ถูก จอห์น บยอน เพื่อนร่วมชั้นลูกครึ่งเกาหลี-อเมริกัน ชักชวนเล่น อเมริกันฟุตบอล ช่วงวันหยุด และรับหน้าที่เตะคิกออฟ เริ่มการแข่งขัน “มันเหมือนกับภาพยนตร์กีฬา The Sandlot ไม่มีผิด บอลลอยโด่งข้ามรั้วสนามที่เราเล่นอยู่ บยอน บอกว่า โอ้ พระเจ้า นายต้องเล่น อเมริกันฟุตบอล แล้ว ผมไม่รู้ว่าต้องเตะอย่างไร พ่อแม่ของผมก็ไม่รู้ว่า อเมริกันฟุตบอล คืออะไร”

ร่ายล้อมด้วยครอบครัวที่ผลักดัน
จากนั้น ยองโฮ กลายเป็นสมาชิกทีมโรงเรียน เล่นตำแหน่งปีกนอก กับ ตัวคุมปีก (คอร์เนอร์แบ็ก) บวกกับลูกเตะคิกออฟของเขา ทำระยะหลัก 50 หลา พอเลื่อนชั้นสู่เกรด 7 โค้ชแจ้งพ่อแม่ของเขาว่า สักวันหนึ่งด้วยฝีเท้าของเขา จะทำให้เขากลายเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลอาชีพ ทำให้ ยองโฮ มาถึงจุดที่ต้องเลือก จะทุ่มเทด้านการเล่าเรียน เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ หรือ เอาจริงเอาจังด้านกีฬา เพื่อก้าวสู่ระดับอาชีพ “ตอนผมอยู่ที่เกาหลีใต้ คุณไม่มีทางเล่นกีฬา หากคุณละทิ้งการเรียน พ่อของผมรู้ผมมีความสามารถด้านกีฬา เขาจึงยอมให้ผมไม่ต้องได้ได้เกรด A เอาแค่ B แล้วล่าฝันนักอเมริกันฟุตบอลอาชีพ”

ช่วงเวลาโดดเดี่ยว : คู ยองโฮ ถูก ชาร์เจอร์ส ลอยแพเดือนตุลาคม นับเป็นครั้งแรกซึ่งเขาดำเนินชีวิตแบบห่างเหิน อเมริกันฟุตบอล ตั้งแต่เรียนมัธยมต้น “ไม่มีการฝึกซ้อม หรืออะไรพรรค์นั้น ผมไม่รู้เลยจริงๆ ว่าจะทำอะไรต่อไป” กระทั่งได้รับความช่วยเหลือจาก จอห์น คาร์นีย์ ตัวเตะระดับตำนานคนหนึ่งของวงการ ลงเล่น 7 แฟรนไชส์ ตลอดอาชีพ ปี 1988-2010 และรั้งอันดับ 3 ตัวเตะทำคะแนนมากสุดตลอดกาล ขณะรีไทร์

คาร์นีย์ เชื่อทันทีว่า การกลับสู่ NFL ของ ยองโฮ ไม่ใช่โปรเจคต์ยืดเยื้อ ทั้งคู่เข้าโปรแกรมฝึกฝนทั้งด้านร่างกาย ,ไหวพริบของตัวเตะอาชีพ ซึ่ง คาร์นีย์ ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้เล่นทีมพิเศษที่สามารถปรับตัวกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี และซ้อมกับคนสแน็ปบอล และตั้งบอลที่แตกต่างกัน, เตะฟิลด์โกลท่ามกลางสภาพอากาศย่ำแย่ และการเล่นออนไซด์ คิก

เข้าสู่ปลายปี 2018 ยองโฮ มีพัฒนาการรุดหน้า ขาดเพียงคลิปวิดีโอการแข่งขัน เพื่อนำเสนอแฟรนไชส์ต่างๆ หลังไม่ได้ลงเล่นอาชีพมานานกว่า 1 ปี “ผมไม่ได้ลงเล่นสักเกม ตามความจริง มันคงไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับทีมระดับ NFL” กระทั่ง อัลลิอันซ์ ออฟ อเมริกันฟุตบอล (AAF) เริ่มแข่งขันฤดูกาลแรก เขาจึงได้เซ็นสัญญากับ แอตแลนตา ลีเจนด์ส เดือนมกราคม 2019 หวังสร้างความประทับใจติดทีมระดับ NFL อีกครั้ง

ยองโฮ สร้างผลงานยอดเยี่ยม เตะฟิลด์โกลเข้าเป้า 14 จาก 14 ลูก สำคัญกว่านั้น เขากลับมาอยู่ในสายตาทีม NFL เข้าทดสอบฝีเท้า 16 ครั้ง ตลอด 6 เดือนถัดมา แต่ยังไม่ได้รับโอกาสครั้งที่ 2 กระทั่งวันที่ 4 ตุลาคม 2019 เขาร่วมทีมฝึกซ้อม นิว อิงแลนด์ แพทริออตส์ ที่เพิ่งใส่ชื่อ สตีเฟน กอสต์คอฟสกี จอมเก๋า ลงลิสต์ผู้เล่นบาดเจ็บ ก่อนถูกปล่อยทิ้งแค่ 11 วัน จากนั้น แอตแลนตา ฟอลคอนส์ ยื่นข้อเสนอดึงตัวมาทดแทน แม็ตต์ ไบรอันท์ ตัวเตะทำสกอร์สูงสุดแฟรนไชส์ ที่ฟอร์มตก หวดฟิลด์โกลเข้าเป้า 9 จาก 14 ครั้ง

เคียงข้างแม่
สัปดาห์แรก ในฐานะขุนพล ฟอลคอนส์ ยองโฮ เตะฟิลด์โกลเข้าเป้า 4 จาก 4 ลูก กับ 2 เอ็กซ์ตรา พอยน์ต ได้รับรางวัลผู้เล่นทีมพิเศษยอดเยี่ยมประจำสัปดาห์ของสาย NFC ต่อมาเขายังโชว์ฟอร์มโดดเด่น เปลี่ยน 3 ออนไซด์ คิก พบ นิว ออร์ลีนส์ เซ็นต์ส วันขอบคุณพระเจ้า จบซีซัน 2019 สถิติเตะฟิลด์โกลเข้าเป้า 23 จาก 26 ครั้ง ตลอด 8 เกม

ความสำเร็จ : เส้นตายที่กำหนดไว้มาถึง ยองโฮ ไม่จำเป็นต้องหางานทำตามออฟฟิศ แต่ต้องเตรียมตัวเข้าแคมป์ในฐานะคิกเกอร์ตัวจริงของ แอตแลนตา เขาพัฒนามากกว่าฤดูกาลก่อน เตะฟิลด์โกลเข้าเป้ามากสุดของซีซัน 37 จาก 39 ลูก (คิดเป็น 94.9 เปอร์เซ็นต์) ทำคะแนนสูงสุดซีซัน 144 แต้ม รวมระยะ 52 หลา สัปดาห์ที่ 15 พบ แทมปา เบย์ บัคคาเนียร์ส ซึ่งทุบสถิติเตะฟิลด์โกลสูงุสุดของ ไบรอันท์ เฉพาะ 1 ซีซัน

ผลงานของ ยองโฮ ซีซันนี้ ทำให้เขากลายเป็นตัวเตะเอเชีย-อเมริกัน เพียงไม่กี่คน ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของ NFL เทียบกับสมัย เซนต์ หลุยส์ คาร์ดินัลส์ คัดเลือก จอห์น ลี จากมหาวิทยาลัยยูซีแอลเอ (UCLA) รอบ 2 เมื่อปี 1986 ทว่าเส้นทางนักอเมริกันฟุตบอลอาชีพของ ลี สิ้นสุดลงแค่ 1 ซีซัน ขณะที่คนอื่นๆ อย่าง ไฮน์ส วอร์ด อดีตปีกนอก พิตต์สเบิร์ก สตีลเลอร์ส กับ ไคเลอร์ เมอร์เรย์ ควอเตอร์แบ็กดราฟต์เบอร์ 1 ปี 2019 ที่มีเชื้อสายเกาหลีเช่นเดียวกัน แต่ ยองโฮ รู้สึกถึงความเป็นตัวแทนของประเทศมากกว่า

“ผมจำได้เกี่ยวกับการนั่งชม NFL ผมรู้สึกราวกับว่า ไม่มีใครเหมือนผมเลย ในฐานะเด็กคนหนึ่ง คุณมองใครสักคนที่คุณสามารถสานสัมพันธ์ได้ มันเหลือเชื่อมากๆ อย่างที่เห็น ผมเคยบอกตัวเองว่า ผมจะต้องเป็นคนๆ นั้น ซึ่งทำหน้าที่ตัวแทน ในองค์กรสักแห่งที่คุณเป็นเพียงคนกลุ่มน้อย มันเหมือนพระเจ้าประทานพร ที่ไม่เจอความกดดันในเรื่องนั้นเลย” ยองโฮ ทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น