xs
xsm
sm
md
lg

อาการ “Food Coma” มันก็แค่ “เมาข้าวสุก” / พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”

“ไอ้เก่งมันไปหลบอยู่ที่ไหนนะหมอ ยังไม่มาขนของขึ้นรถซะที” คุณชูสง่าบ่นกับพี่หมอ “เดี๋ยวผมไปตามให้ มันนั่งหลับเป็น “Food Coma” อยู่แถวห้องอาหารน่ะครับ “เป็นอะไรนะ!...ถึงขั้นโคม่าเลยเหรอ?” “อ๋อ...แค่เมาข้าวสุกครับเฮีย...เป็นอาการอ่อนเพลียง่วงหลังกินข้าวอิ่มน่ะครับ...ไอ้เก่งมันเป็นประจำของมันอยู่แล้ว”

หลายๆคนคงเคยมีอาการ “Food Coma” ซึ่งฟังแล้วอาจน่ากลัว...แต่ความจริงคือ “อาการอ่อนเพลียระหว่างวันที่มักเกิดขึ้นหลังการรับประทานอาหาร” นั่นเอง

โดยเฉพาะหนุ่มสาวออฟฟิตที่มักเจอปัญหานี้กันทุกคน จนกาแฟ ชา น้ำอัดลม และของกินจุ๊บจิบ กลายเป็นของขายดีที่มีไม่ขาดทุกโต๊ะทำงานเพื่อรับประทานแก้ง่วง

ความจริงแล้วอาการนี้ไม่ได้มีอันตรายอะไรต่อสุขภาพร่างกาย เพียงแต่อาจสร้างความรำคาญ ทำให้ไม่มีสมาธิ และลดประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อหน้าที่การงานมากกว่า เพราะอาจทำให้เจ้านายเข้าใจผิดไปว่าเป็น “ความขี้เกียจ” หากมีใครเกิดเผลอไปนั่งหลับขณะนั่งทำงาน หรือมีอาการหมดเรี่ยวแรงระหว่างการเข้าประชุม ซึ่งความจริงเกิดจากอาหารที่รับประทานเข้าไปร่วมกับปัจจัยยางอย่างเช่น การกินอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันมากเกินไปในช่วงมื้อกลางวัน ซึ่งจะทำให้เกิด “กรดอมิโนทริปโตเฟน” ซึ่งสมองจะเปลี่ยนให้เป็นเซโรโทนิน และ เมลาโทนิน ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกง่วงนอน นอกจากนี้ยังต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการย่อยอาหารประเภทนี้ และต้องใช้พลังงานในการย่อย ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง เพราะต้องใช้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะในระบบย่อยอาหารมากขึ้น

ออกซิเจนในเลือดไม่เพียงพอ หรือมีคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดมากเกินไปจึงทำให้เกิดอาการง่วงเหงาหาวนอน ซึ่งเป็นกลไกที่ร่างกายพยายามเอาออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือด

การพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นปัจจัยสำคัญทำให้สมองตื้อทำงานไม่ออก รวมทั้งภาวะสมองอ่อนเพลียจากการโหมงานหนัก จนเกินขีดจำกัดของร่างกาย

การแก้ไขอาการ “Food Coma”รวมถึงปัจจัยอื่นๆที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอนหลังมื้ออาหาร อาจทำได้ด้วยวิธีง่ายๆเช่น

หลังมื้ออาหารควรใช้เวลาในการเดินย่อยซักนิด อาจจะเดินไป-กลับจากร้านอาหาร หรือเดินขึ้นบันไดสักหน่อย เพื่อให้ร่างกายรู้สึกกระฉับกระเฉงมากขึ้น

ลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลลง เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานน้อยลง

ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองอย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยให้สมองและร่างกายสดชื่น รวมถึงทำให้อยากเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น และเมื่อได้ลุกขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ้างก็จะช่วยให้ร่างกายตื่นตัว

นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่โหมงานจนหนักและเครียดเกินไป ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายอดทนต่อความล้า และทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้งวัน

ทีนี้เราก็บอกกับตัวเองและเจ้านายได้แล้วว่าการง่วงนอนในช่วงกลางวันนั้นไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจ แต่เป็นกระบวนการในร่างกายที่มีชื่อว่า “Food Coma” ซึ่งไม่เกี่ยวกับความขี้เกียจส่วนตัวจริงจริ๊ง!
กำลังโหลดความคิดเห็น