xs
xsm
sm
md
lg

เฮโล และ ชุดแข่ง ปิดประตูนรก!!! / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เหตุเกิดขึ้นหลังจากเพิ่งออกสต๊าร์ทรอบแรกได้ไม่นานในการแข่งขันรถสูตร 1 (Formula 1) รายการ บาฮ์เรน กร็อง ปรี (2020 Bahrain Grand Prix) ที่ สนามแข่ง บาฮ์เรน อินเทอร์แน้ชเชินน่อล เซอร์ขิท (Bahrain International Circuit) ในเมือง ซาคีร (Sakhir) ประเทศบาฮ์เรน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา รถรุ่น Haas VF-20 ของ โรแม็ง โกรช็อง (Romail Grosjean) นักแข่งชาวสวิส-ฝรั่งเศส วัย 34 ปี สะกิดกับรถคู่แข่งแล้วหลุดออกนอกทาง พุ่งเข้าชนราวป้องกันที่ขอบสนามอย่างแรง จนตัวถังรถขาดเป็น 2 ท่อนและเกิดไฟลุกท่วม แต่ โรแม็ง กลับรอดชีวิตออกมาได้อย่างเหลือเชื่อ

ความเร็วของรถตอนนั้นคือ 221 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเขาคำนวณว่าแรงปะทะน่าจะอยู่ที่ 53 G หรือ 53 เท่าของน้ำหนักตัว แรงขนาดตัวรถขาดเป็น 2 ท่อนก็แล้วกัน โดยท่อนที่มีเครื่องยนต์ยังอยู่ด้านในสนาม แต่ท่อนหน้าที่เป็นห้องคนขับหรือ ค็อคผิท (Cockpit) ซึ่ง โรแม็ง อยู่ในนั้นทะลุราวป้องกันที่ขอบสนามไปเลยและเกิดไฟลุกไหม้ โรแม็ง โดนไฟครอกนานถึง 28 วินาที กว่าจะออกมาจากซากรถได้ และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลทหารทันที ซึ่งผลปรากฏว่า นอกจากซี่โครงหัก ก็มีเพียงมือและข้อเท้าที่ถูกไฟครอกนิดหน่อยเท่านั้นเอง

สิ่งแรกที่ถูกกล่าวถึงคือ เฮโล (Halo) แถบโค้งป้องกันศีรษะนักขับที่ สหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (Fédération Internationale de l'Automobile - FIA) กำหนดให้เป็นอุปกรณ์ที่รถแข่ง Formula 1, Formula 2, Formula 3 และ Formula E ทุกคันต้องมีติดตั้ง ถือเป็นมาตรการเพื่อความปลอดภัยตั้งแต่ปี 2018 ส่วนใน Formula 4 จะเริ่มบังคับในปี 2021

อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นแถบโค้งวางเป็นแนวรอบศีรษะของนักขับ ทำด้วยวัสดุที่แข็งแรงแต่มีน้ำหนักเบา นั่นคือ ไทเทเนียม (Titanium) โดยมีส่วนเชื่อมต่อกับตัวถังรถ 3 จุด ในปี 2016 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มผลิตนั้น เขาทำให้มีน้ำหนักประมาณ 7 กิโลกรัม และในปีรุ่งขึ้นปรับขนาดใหม่ ทำให้น้ำหนักกลายเป็น 9 กิโลกรัม ซึ่งก็ไม่ใช่ค่ายรถแข่งที่ไปผลิตประกอบเอง แต่ทาง FIA ได้เลือกบริษัทที่ตนให้การรับรองเพียง 3 บริษัทเป็นผู้ผลิตให้และรถแข่งทุกคันต้องใช้รูปแบบเดียวกันนี้เท่านั้น ซึ่งจากการจำลองใช้กับเหตุการณ์จริง 40 ครั้งพบว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของนักขับได้ถึง 17%

งานนี้ยังมีอีกสิ่งสำคัญที่ช่วยชีวิต โรแม็ง แต่ไม่ยักมีใครยกเครดิทให้ นั่นคือ ชุดแข่ง (Racing suit) ที่มีคุณสมบัติกันไฟรวมอยู่ด้วย ซึ่งในโลกของความเร็ว เขาเริ่มให้ความสำคัญต่อชุดนักขับตั้งแต่ยุคปี 60 เป็นชุดที่ช่วยระบายความร้อนและต่อมาเพิ่มคุณสมบัติช่วยกันไฟด้วย โดย วิลเฟร็ด สวีนี่ (Wilfred Sweeny) นักวิจัยของ บริษัท ดูปง (DuPont) ใน สหรัฐ อเมริกา ได้คิดค้นเส้นใยที่ทนความร้อนและป้องกันการติดไฟในชื่อ โนเม็กซ์ (Nomex) ซึ่งก็ยังเป็นยี่ห้อที่นิยมใช้กันจนถึงปัจจุบัน

ชุดกันไฟดังกล่าวมักทำแบบปกคลุมหมดทั้งตัว เป็นแบบชุดหมี ซึ่งจะมีหูดึงติดที่บริเวณไหล่ทั้ง 2 ข้างเพื่อใช้ดึงนักขับออกมาจากตัวรถในกรณีที่ติดอยู่กับเก้าอี้ เรื่องพวกนี้เป็นข้อบังคับของ FIA เลยทีเดียว นอกจากนั้น ชุดกันไฟก็ใช่ว่าจะใช้สวมใส่เฉพาะนักขับเท่านั้น ทีมงานและเจ้าหน้าที่ของฝ่ายจัดการแข่งขันที่ต้องมีหน้าที่ในสนามแข่งก็ต้องใส่เพื่อป้องกันเอาไว้ด้วย

เขาบอกว่า เส้นใย โนเม็กซ์ นี้ เมื่อโดนเปลวไฟเข้า แทนที่จะไหม้หรือสลายไป กลับพัฒนาตัวเองเป็นถ่านชาร์ ขยายตัวบดบังไฟมิให้ลุกลามไปยังส่วนอื่นๆของชุด แถมยังช่วยยับยั้งป้องกันความร้อนแผ่ไปยังผู้สวมใส่อีกด้วย แม้ว่าชุดกันไฟจะไม่สามารถกันไฟได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่ก็เรียกว่าช่วยหน่วงเวลาได้ระยะหนึ่ง เขาจึงเรียก ชุดกันไฟ ว่า Fire-retardant suit ซึ่งทำให้นักขับมีเวลาพอที่จะหนีรอดจากเหตุไฟไหม้หรือได้รับความช่วยเหลือได้ทันโดยได้รับบาดเจ็บน้อยที่สุด

การทดลองในปี 1993 ชุดแข่งกันไฟสามารถหน่วงเวลาไว้ได้ประมาณ 20-30 วินาทีก่อนที่จะไหม้ ในปัจจุบัน ชุดแข่งถูกออกแบบให้หน่วงเวลาได้ถึง 30-40 วินาทีก่อนที่ผู้สวมใส่จะถูกไฟไหม้ในระดับที่ 2 (second degree burn) ซึ่งระดับนี้แค่พุพอง ยังสามารถการใช้ครีมยาทาแผล ปิดด้วยผลิตภัณฑ์ปิดแผล หรือแม้เป็นแผลระดับลึก ก็ใช้ยาปฏิชีวนะมิให้ติดเชื้อ แผลก็จะหายได้ภายใน 3-6 สัปดาห์ ดังนั้น การที่ โรแม็ง สามารถออกมาจากซากรถที่เปลวเพลิงกำลังลุกโชนกระหน่ำภายในระยะเวลา 28 วินาทีได้นั้น นับว่า ชุดแข่งกันไฟ มีส่วนสำคัญในการช่วยชีวิต ปิดประตูนรกครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น