xs
xsm
sm
md
lg

"ฟอนซา" กระตุ้น "กรีฑา-ว่ายน้ำ-​ยิมนาสติก" ทวงคืนความยิ่งใหญ่เจ้าซีเกมส์​ ต่อยอดโอลิมปิกเกมส์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ฟอนซา” สหพันธ์สมาคมกีฬาชาติ กระตุ้น กรีฑา ว่ายน้ำ และยิมนาสติก ให้กลับมายิ่งใหญ่ เป็นเจ้ากีฬาซีเกมส์ อีกครั้ง ก่อนที่จะต่อ ยอดไปสู่เอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ ต่อไป “เสธ.ยอด” พลตรีอินทรัตน์ ยอดบางเตย ประธานฟอนซา ประสาน กกท. และ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เรียบร้อย หน่วยงานดังกล่าว ยินดีให้การสนับสนุนเต็มที่ ขอเพียงมีแผนงานที่ชัดเจน

ขณะที่ 3 กีฬา ระบุ การพัฒนานักกีฬาดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาสำคัญ อยู่ที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการจ้างผู้ฝึกสอนระดับโลก มาติวเข้มนักกีฬาไทยได้ ขณะที่ ยิมนาสติก มีปัญหาเพิ่ม ยังไม่มีศูนย์ฝึกซ้อมเป็นของตัวเอง ตอนนี้ยังต้องเช่าที่ เสนอกองทุนฯ หรือหน่วยงานกีฬาให้การสนับสนุน

“เสธ.ยอด” พลตรี อินทรัตน์ ยอดบางเตย ประธานสหพันธ์สมาคมกีฬาชาติ หรือ ฟอนซา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ โดยมี นายนิติกร โรจนวิภาต ผู้อำนวยการกองแข่งขันกีฬาเป็นเลิศ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ดร.สุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ และ ผู้แทนสมาคมกีฬา เข้าร่วมประชุม เพื่อหาแนวทางการสนับสนุนสมาคมกีฬา รับทราบปัญหา และอุปสรรคต่าง ๆ ที่ห้องประชุม 211 ราชมังคลากีฬาสถาน กกท. หัวหมาก เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา

ประธานฟอนซา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ กรีฑา ว่ายน้ำ และ ยิมนาสติก ของไทย เคยยิ่งใหญ่ เป็นเจ้าเหรียญทองกีฬาซีเกมส์ มาอย่างต่อเนื่อง แต่ในระยะหลัง 3 ชนิดกีฬา ผลงานตกลงไปมาก ฟอนซา จึงได้เชิญผู้แทนกีฬาดังกล่าว มาร่วมหารือกันในครั้งนี้ เพื่อหาแนวทางในการทำให้ กรีฑา ว่ายน้ำ และ ยิมนาสติก กลับมายิ่งใหญ่ เป็นเจ้าเหรียญทองซีเกมส์ อีกครั้งให้ได้ ก่อนที่จะต่อยอดไปสู่กีฬาเอเชียนเกมส์ และ โอลิมปิกเกมส์ ต่อไป

ทั้งนี้ผู้แทน 3 กีฬาได้ระบุถึงปัญหาในการพัฒนานักกีฬา โดยแต่ละสมาคมกีฬาย้ำว่า การพัฒนานักกีฬา ดำเนินการอย่างถูกต้องมาอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างนักกีฬาระดับเยาวชน อย่างเป็นระบบ แต่ปัญหาสำคัญ อยู่ที่การไม่มีงบประมาณ เพียงพอ ที่จะไปจ้างผู้ฝึกสอนระดับโลก มาฝึกซ้อมนักกีฬาไทย เพื่อให้ได้รับเทคนิคใหม่ ๆ ได้พลตำรวจตรี สุรพงษ์ อาริยะมงคล เลขาธิการฟอนซา ในฐานะอุปนายกและเลขาธิการสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ความสามารถนักกีฬาไทย ไม่เป็นรองใคร เพียงแต่เรายังสู้ จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอินเดีย ไม่ได้ เพราะเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬา อีกอย่างเราไม่มี เทคนิเคิลไดเรกเตอร์ รวมถึงผู้ฝึกสอน ระดับโลก ที่จะมาติวเข้มนักกีฬาของเรา ส่วนสถานที่ฝึกซ้อม สมาคมฯ เพิ่งพาตนเอง สร้างศูนย์ฝึก สำหรับสร้างนักกีฬา เป็นที่เรียบร้อย

ส่วน “โค้ชตึก" นายธนาวิชญ์ โถสกุล เลขาธิการสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสร้างนักกีฬา ว่ายน้ำ กระโดดน้ำ โปโลน้ำ ระบำใต้น้ำ และว่ายน้ำมาราธอน สมาคมฯ ดำเนินการอย่างเป็นระบบอยู่แล้ว เพียงแต่เรายังขาดงบประมาณ ที่จะนำไปจ้างผู้ฝึกสอนฝีมือดี ๆ เข้ามา กกท. ให้ดำเนินการจ้างสัญญาปีต่อปี แต่ยอดโค้ช ต้องการสัญญาระยะยาว ตรงนี้เป็นปัญหาที่จำเป็นต้องพิจารณา ยกตัวอย่าง นักว่ายน้ำจีน ระยะ 1,500 เมตร ก็ยังต้องไปฝึกซ้อมกับโค้ชออสเตรเลีย

ขณะที่ นาวาตรี ศรายุทธ พัฒนศักดิ์ นายกสมาคมกีฬายิมนาสติกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นอกจากสมาคมฯ จะขาดผู้ฝึกสอน ฝีมือดี อุปกรณ์ในการฝึกซ้อม แล้ว ปัจจุบัน สมาคมฯ ไม่มีศูนย์ฝึกซ้อมนักกีฬาทีมชาติ ที่เป็นของตนเอง ยังต้องเช่าที่เพื่อใช้ฝึกซ้อมนักกีฬาทีมชาติในปัจจุบัน อยากเสนอให้กองทุนฯ และหน่วยราชการสนับสนุน ในการสร้างศูนย์ฝึก ถ้าเรามีศูนย์ฝึกก็จะสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น

ในตอนท้าย พลตรีอินทรัตน์ กล่าวสรุปว่า ฟอนซา จะได้สรุปประเด็นปัญหา ของ กรีฑา ว่ายน้ำ และยิมนาสติก ให้ กกท. และ กองทุนฯ ได้รับทราบ ซึ่งจากที่เชิญผู้แทนของกกท. และ กองทุนฯ มาร่วมประชุมในครั้งนี้ แต่ละหน่วยงาน ก็ยินดีให้การสนับสนุนเต็มที่ ขอเพียงสมาคมกีฬามีแผนงานที่ชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น