จากเหตุการณ์ในเกมโตโยต้า ไทยลีก คู่ระหว่าง สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด พบ เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 เกิดเหตุ VAR ขัดข้องในช่วงครึ่งเวลาแรก ทำให้ผู้ตัดสินต้องเรียกกัปตันทีมของทั้ง 2 ฝ่ายมาชี้แจงระหว่างเกมการแข่งขัน ซึ่งสุดท้าย VAR กลับมาใช้งานได้ตามปกติในช่วงครึ่งหลัง
ล่าสุด บริษัท ไทยลีก จำกัด ออกมาชี้แจงถึงหลักการปฏิบัติของ คณะกรรมการสมาคมกีฬาฟุตบอลระหว่างประเทศ (International Football Association Board หรือ IFAB) ซึ่งเป็นผู้ออกกติกาการแข่งขันกีฬาฟุตบอล และ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ในกรณีที่ระบบวีดิโอช่วยตัดสิน (Video Assistant Referee หรือ VAR) ขัดข้อง โดยกำหนดให้มีรายละเอียดดังนี้
1. FIFA และ IFAB ชี้แจงว่า VAR เป็นเทคโนโลยีเพื่อช่วยในการตัดสินเท่านั้น ดังนั้น ตามหลักการแล้ว ผู้ตัดสินถือเป็นผู้ชี้ขาด และต้องตัดสินเหตุการณ์ไปตามกติกาไปก่อนทุกครั้ง ดังนั้น FIFA และ IFAB ระบุว่า VAR ไม่ใช่อุปกรณ์ที่เป็นปัจจัยในการพิจารณาว่า จะสามารถทำการแข่งขันต่อได้หรือไม่ ด้วยเหตุนี้ จะไม่มีการหยุดแข่ง, ยกเลิก หรือแข่งขันต่อไม่ได้ ในกรณีที่ VAR มีการขัดข้อง
2. โดยเมื่อเกิดเหตุขัดข้อง ผู้ตัดสิน VAR จะต้องประเมินสถานการณ์โดยทันที และหากพบว่าไม่สามารถใช้งานอุปกรณ์เพื่อช่วยในการตัดสินได้ จะต้องแจ้งผู้ตัดสินในสนามแข่งขันว่า VAR เกิดขัดข้อง จากนั้นก็จะต้องทำการแจ้งให้กับผู้เกี่ยวข้องได้ทราบ อาทิ ผู้ตัดสินแจ้งต่อกัปตันทีมทั้งสองทีมให้ทราบ ขณะที่ผู้ตัดสินที่ 4 แจ้งต่อผู้จัดการทีมของทั้ง 2 ทีม ในส่วนของผู้ประเมินผู้ตัดสิน จะแจ้งแก่ผู้ควบคุมการแข่งขันให้ทราบ เพื่อให้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ และผู้เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ FIFA และ IFAB ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ทุกขั้นตอนต้องทำอย่างรวดเร็ว หลังจากที่เกิดเหตุขัดข้องโดยทันที
3. ทั้งนี้ เพื่อให้เหตุขัดข้องส่งผลกระทบต่อการแข่งขันและการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตัดสินให้น้อยที่สุด (Minimum Inteference) FIFA และ IFAB แนะนำว่าควรมีการแจ้งเหตุ VAR ขัดข้องไม่เกิน 2 ครั้งต่อการแข่งขัน โดยในกรณีที่ VAR เกิดขัดข้องในครึ่งแรก FIFA และ IFAB แนะนำให้ยกเลิกการใช้งานตลอดครึ่งแรกทันที และจะกลับมาใช้งานได้ ก็ต่อเมื่อซ่อมแซมเสร็จภายในช่วงพักครึ่งเวลาเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ระหว่างทั้ง 2 ทีม โดยจะมีการแจ้งว่ากลับมาใช้งานได้ ก่อนเริ่มครึ่งหลัง สำหรับในกรณีที่ VAR เกิดขัดข้องในครึ่งหลัง FIFA และ IFAB ให้ยกเลิกการใช้งานตลอดช่วงเวลาที่เหลือของเกมดังกล่าว
4. สำหรับระบบ VAR ที่ไทยลีกนำมาใช้ เป็นอุปกรณ์ที่นำเข้าจาก Hawk-Eye ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ใช้ในฟุตบอลโลก และรายการแข่งขันของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (AFC)
5. โดยทุกครั้งที่มีการขัดข้อง ไทยลีกจะตรวจสอบหาข้อมูลจากผู้ให้บริการระบบ VAR ซึ่งได้แก่ บริษัท ไอสปอร์ต จำกัด เพื่อชี้แจงให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึงสาเหตุต่อไป
ทั้งนี้จากเหตุการณ์ในเกมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีหลายคนตั้งข้อสงสัยถึงความคุ้มค่าในการใช้เทคโนโลยี VAR ในไทยลีก ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายตกเกมละประมาณ 80,000 บาท แต่ปัจจุบันยังมีหลายเกมที่เกิดเหตุ VAR ขัดข้องให้ได้เห็น ซึ่งถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายว่าคุ้มค่าหรือไม่