น.อ.(พิเศษ) นายแพทย์ไพศาล จันทรพิทักษ์ ประธานฝ่ายแพทย์สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะกรรมการพัฒนาและบริหารฟุตบอลทีมชาติไทย รับกังวลหากนักฟุตบอลต้องลงสนามแข่งขันอย่างต่อเนื่องจะเพิ่มโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น พร้อมให้ข้อแนะนำสโมสรดูแลร่างกายนักกีฬา และวิธีปฏิบัติเพื่อลดโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บให้น้อยลง
"หลักการคือเรื่องของการบาดเจ็บ โดยปกติแล้ว เราต้องยอมรับว่าการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ มันต้องการฟอร์มการเล่นที่ดี ผลลัพธ์ที่ดี เพราะการแพ้หรือชนะ มันมีผลต่อสโมสร อันดับในตารางคะแนน รวมทั้งความอยู่รอดของสโมสร และรายได้หรืออนาคตของนักเตะ แน่นอนนักเตะต้องเล่นกันอย่างเต็มที่ ซึ่งการเล่นเต็มที่ก็ต้องใช้พละกำลังที่มาจากการฝึกซ้อม และอยู่ที่ว่าใครฟิตที่สุด" ประธานฝ่ายแพทย์สมาคมฯ กล่าวเริ่ม
"การเล่นเต็มที่ จะต้องใช้ร่างกาย กล้ามเนื้อส่วนต่างๆจะถูกนำมาใช้เต็มที่ หลังเกมการแข่งขันจะต้องใช้ระยะเวลาฟื้นฟู ก่อนกลับมาเล่นในเกมต่อไป วงจรตรงนี้ เราจะเห็นว่าตารางการฝึกซ้อมของนักฟุตบอล หลังการแข่งขันการซ้อมในวันต่อไป จะเริ่มจากเบาๆ และผ่อนคลาย คนที่ไม่ได้ลงแข่งขันก็ซ้อมตามปกติ เราจะเห็นความสำคัญของกล้ามเนื้อและส่วนต่างๆ ของร่างกาย อย่างแมตช์ที่แล้ว ใครลง 90 นาที ก็ใช้ร่างกายหนัก พอใช้ร่างกายไปเต็มที่ก็ต้องพักผ่อนให้พอ"
"สมัยก่อน การแข่งขัน ไม่ได้กำหนดว่าต้องเตะต่อเนื่องกันแค่ไหน แต่ระยะหลัง เราต้องเว้นอย่างน้อย 3 วัน ตามรหลักการของการฟื้นฟูร่างกาย เพราะการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ ขั้นต่ำก็ต้อง 3 วัน ตรงนั้นก็คือพื้นฐาน ในกรณีที่ไม่เจ็บ ถ้าหากคนไม่ฟิตร่างกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ ต้องลงเล่นต่อเนื่อง มันก็มีโอกาสบาดเจ็บได้ พื้นฐานแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนลงเล่นหนักเกินไป พอหนักเกินไป กล้ามเนื้อ และส่วนต่างๆก็ได้รับบาดเจ็บ ไม่ได้รวมถึงการปะทะอาจฟื้นฟูไม่ทัน"
"การเล่นมีทั้งการปะทะ และไม่ได้ปะทะ บางคนก็เจ็บด้วยตัวเอง เพราะทำงานหนักเกินไป เราคงเคยเห็นนักกีฬาบางคนวิ่งไป แล้วเอ็นต้นขาฉีก เล่นต่อไม่ได้เลย ทั้งที่ไม่ได้ปะทะ นี่คือการเจ็บจากฟิตไม่พอ หรือร่างกายทำงานหนัก"
"ถ้าบวกกับการปะทะ ก็จะทำให้การบาดเจ็บเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น ถ้าร่างกายพร้อม กล้ามเนื้อพร้อม การบาดเจ็บจะน้อยลงหรือไม่มีเลย หมายความว่าเขาฟิตมากๆ หรือไม่ได้ทำงานหนักเกินไป การบาดเจ็บ ถึงแม้จะปะทะ ก็จะเจ็บไม่มากหรือน้อยลง"
"ยกตัวอย่างฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ จะเตะแบบเว้นอย่างน้อย 3 วัน ใครตกรอบก็ได้พักไป ซึ่งมันก็จะจบภายใน 3-4 สัปดาห์ แต่ถ้ามองในมุมของฟุตบอลลีก เป็นการแข่งขันระยะยาวกว่า ตอนนี้ไทยลีกเหลือการแข่งขันขัน 26 นัด ถ้าต้องเตะติดต่อกันทุกๆ 3 วัน ผมคิดว่ามันมีผลต่อนักกีฬาอย่างแน่นอน ถ้าเราจะให้ลีกจบสิ้นปี เราจะต้องเตะต่อเนื่องหนักกว่าเดิมถึง 3 เท่า การแข่งขันทุกๆ 3 วัน มีโอกาสบาดเจ็บเกิดขึ้นสูงแน่นอน อย่างอื่นก็คงตามมา ฉะนั้นนักกีฬาแต่ละคน ต้องมีความฟิตสูงมาก"
"กฎที่ฟีฟ่าเพิ่มเติมเรื่องการเปลี่ยนตัว 5 คน ก็คงช่วยได้ทั้งการเปลี่ยนตัวเยอะขึ้น แต่โดยทั่วไป มันไม่ง่ายเลย ที่จะเห็นตัวสำรองเทียบเคียงกับตัวจริงได้ เพราะฉะนั้นการเตรียมตัว การฝึกซ้อมมันสำคัญมาก เราก็ต้องปฏิบัติตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา ทั้งเรื่องโภชนาการ, การดื่มน้ำ ทำให้สมบูรณ์แบบมากที่สุด เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูได้ดีที่สุด"
"นักกีฬาแต่ละคนต้องมีความเป็นมืออาชีพ ต้องมีวินัยโดยเฉพาะการพักผ่อน เพราะปัจจุบัน มีสิ่งแวดล้อมรอบนอก หากนักกีฬามีวินัยไม่ดี มันก็จะมีปัญหาตามมา หากไม่ได้รับการแก้ไขหรือ ได้รับการดูแล ฟื้นฟูที่ถูกต้อง จึงอยากแนะนำทุกๆ สโมสร ว่า เมื่อไหร่ที่มีปัญหาก็ต้องรีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เหล่านักวิทยาศาสตร์การกีฬา แพทย์ นักกายภาพ”
"ส่วนการออกสตาร์ทเดือนกันยายน เรายังไม่แน่ใจว่าจะเริ่มเร็วขึ้นหรือไม่ ถ้าใครมีความฟิตอยู่ในระดับที่สมบูรณ์ ก็อาจจะลดโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บให้น้อยลง มันขึ้นอยู่กับแต่ละสโมสร ว่ามีโครงสร้างดีแค่ไหน เพราะหลายทีมลงทุนเรื่องนี้ไม่เท่ากัน ก็แนะนำว่า ถ้าเจ็บ ก็ต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วย เวลาที่เหลือจากนี้ไป ก็ต้องทำให้นักกีฬามีร่างกายที่ดี มีความฟิตสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อลดโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บให้น้อยลง” ประธานฝ่ายแพทย์สมาคมฯ กล่าว