หลังจากรัฐบาลได้มีการผ่อนปรนมาตรการในช่วงของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-2019 ด้วยการเปิดสวนสาธารณะให้ประชาชนมาออกกำลังกายตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้กำหนดมาตรการในการควบคุมอย่างเคร่งครัดคือ การรักษาระยะห่าง และสวมหน้ากากอนามัยนั้น
ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์การกีฬา “เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่” กล่าวว่า ประชาชนควรมีวินัยในการออกกำลังกายด้วยการรักษาระยะห่าง ส่วนการสวมใส่หน้ากากอนามัยในขณะออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายขาดอากาศ มีอาการมึนศีรษะ หัวใจทำงานหนักขึ้น เพราะในขณะออกกำลังกายหัวใจทำงานหนักขึ้น 2-3 เท่า ขณะที่อัตราการไหลเวียนเลือดเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ 3-5 เท่าแล้วแต่ความแรงของการออกกำลังกาย
“ลองนึกดู แม้แต่เวลาใส่หน้ากากนั่งอยู่เฉยๆ เรายังรู้สึกอึดอัดหายใจไม่สะดวกเลย ดังนั้น พอไปออกแรงเยอะขึ้นก็ยิ่งจะทำให้การหายใจทำได้ลำบาก และการขาดอากาศอาจจะทำให้ช็อคถึงขั้นหมดสติได้ ซึ่งการจะออกกำลังกายให้ปลอดภัยในสวนสาธารณะ สิ่งสำคัญเราต้องมีวินัยในตัวเอง รักษาระยะห่างอย่างน้อย 3-5 เมตร หรือยิ่งห่างมากเท่าไหร่ยิ่งดี แต่หากจำเป็นต้องใส่หน้ากากก็ควรจะปลดหน้ากากในบางช่วง หรือหากเป็นไปได้ เลือกเวลาการออกกำลังกายที่ปลอดคนจะดีที่สุด”
ศ.ดร.เจริญ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการออกกำลังกายยังแนะนำเรื่องการออกกำลังกายที่ถูกต้องว่า ก่อนอื่นต้องเรียนรู้ความหมายและประเภทของการออกกำลังกายก่อน บางคนเข้าใจผิดคิดว่าการทำงานบ้าน หรือการทำอะไรให้เหนื่อยและเหงื่อออกคือ การออกกำลังกาย
“ความหมายของการทำงานคือ การใช้ร่างกายเพื่อทำภารกิจ ขณะที่ความหมายของการออกกำลังกาย คือ เพื่อพัฒนาสร้างเสริมสุขภาพ”
สำหรับการรักษาสุขภาพร่างกายที่ดี สิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญ คือ ต้องดูแลปอด และหัวใจให้แข็งแรง เพราะปอด เป็นอวัยวะสำคัญในการนำพลังงาน คือ ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย โดยมี“หัวใจ” ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดนำสารอาหารต่างๆ และออกซิเจนไปให้เซลล์ ซึ่งการออกกำลังกายเพื่อบริหารปอด หัวใจให้แข็งแรงคือ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก
“ร่างกายคนเราใช้พลังงานอยู่สองระบบ คือ ระบบที่ใช้ออกซิเจนเป็นพลังงาน เรียกว่า การออกกำลังกายแบบใช้อากาศหรือแอโรบิค (Aerobic Exercise) แต่ในบางขณะและบางจังหวะของการเคลื่อนไหวร่างกายที่ต้องใช้กำลัง ความเร็ว หรือต้องใช้แรงมากๆนั้น ร่างกายจะใช้พลังงานที่เก็บสะสมไว้ในกล้ามเนื้อมาเป็นพลังงานแทนออกซิเจน ซึ่งไม่ได้ใช้อากาศ เรียกการออกกำลังกายในกลุ่มนี้ว่า ไม่ใช้อากาศในขณะที่เคลื่อนไหวออกกำลังกาย (Anaerobic Exercise) ดังนั้น การออกกำลังกายที่ดีควรให้ออกกำลังกายให้ครอบคลุมทั้งสองส่วน
“เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราออกกำลังกายใช้อากาศหรือไม่ใช้อากาศให้ดูที่ระยะเวลาการออกกำลังกาย และความหนัก ถ้าออกได้นานหรือทำได้ต่อเนื่อง คือ การใช้อากาศเป็นพลังงาน แต่ถ้าเป็นการออกกำลังกายที่ต้องใช้กำลังหรือแรงมากร่างกายจะไม่สามารถทำได้นาน เพราะถูกจำกัดด้วยพลังงานที่มีอยู่ไม่เกิน 10-15 วินาที เช่น วิ่งเร็วเต็มที่ การยกน้ำหนัก ดันพื้น ดึงข้อเป็นต้น ซึ่งเป็นการออกกำลังกายประเภทที่ไม่ใช้อากาศ ช่วยให้ปอดและหัวใจให้แข็งแรง ส่วนการออกกำลังประเภทแอโรบิคคือ การทำงานต่อเนื่องยาวนานอย่างน้อย 10-15 นาทีขึ้นไป ช่วยให้ปอดและห้วใจอดทน ดังนั้น การออกกำลังกายแต่ละประเภทจึงให้ผลต่อสุขภาพร่างกายแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ออกกำลังกาย
ศ.ดร.เจริญยังแนะนำอีกว่า การออกกำลังกายควรทำอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เมื่อสุขภาพดีขึ้นจึงค่อยๆปรับเพิ่มเป็น4-5 ครั้ง หรืออาจจะเป็น 6 วันต่อสัปดาห์ ส่วนระดับความหนักหรือความเหนื่อย ควรทำให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายตัวเอง เพราะการออกกำลังกายเป็นการเรียนรู้การปรับสภาพร่างกายของตนเองไม่ใช่การเลียนแบบหรือทำตามคนอื่น ขณะที่รูปแบบและวิธีการในการออกกำลังกาย ขึ้นอยู่กับความชอบ ความถนัดของแต่ละบุคคล แต่ไม่ควรออกกำลังกายซ้ำๆ ด้วยวิธีการเดิมๆ ซึ่งเปรียบได้กับการรับประทานอาหารซ้ำซากทุกวัน ก็จะทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารใหม่ๆ ไปสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย ซึ่งในที่สุดสุขภาพร่างกายก็ไม่ได้รับการพัฒนา ควรปรับวิธีการออกกำลังกายให้มีความหลากหลาย และสิ่งสำคัญที่ไม่ความละเลย คือ การบริหารกล้ามเนื้อและข้อต่อส่วนต่างๆให้แข็งแรง
ติดตามคำแนะนำในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ถูกต้องตามคลิปด้านล่าง หรือติดตามสาระดีๆ เรื่องการออกกำลังกายและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาในเฟซบุ๊กแฟนเพจ Charoen Krabuanrat