“เสธ.ยอด” พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย รองประธานสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ เผยผลสอบสวนข้อเท็จจริง จากคณะกรรมการสอบสวนอิสระที่แต่งตั้งโดย กกท. กรณี ศิริภุช กุลน้อย ถูกกล่าวหา ยุ่งเกี่ยวกับการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ปรากฎและเผยแพร่ทางสื่อเยอรมนี
โดยหลังจาก กกท. ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำแล้ว พบว่า พยาน หลักฐาน ยังไม่เพียงพอต่อการพิสูจน์ได้ว่า ศิริภุช มีเจตนาสื่อสารตามที่ถูกกล่าวอ้าง เนื่องจากคณะกรรมการสอบสวน ยังไม่ได้รับวีดีโอคลิปต้นฉบับที่เป็นเสียงสนทนาของ ศิริภุช ที่พบเป็นข่าว
ดังนั้น กกท. จึงไม่สามารถพิจารณาได้ว่า ศิริภุช มีเจตนาสื่อสารว่า สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ และนักกีฬาของไทย ใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ตั้งแต่อายุ 13 ปีจริงหรือไม่ และจากการตรวจสารต้องห้ามของกกท. ตั้งแต่ปี 2559 ศิริภุช ถูกเก็บตัวอย่างปัสสาวะไป 23 ตัวอย่าง แต่ไม่พบสารต้องห้ามทางการกีฬา แต่อย่างใด
“เสธ.ยอด” พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย รองประธานสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ กล่าวว่า สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้รับหนังสือแจ้งจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2563 ลงนามโดย ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท. ใจความสำคัญของหนังสือระบุว่า ตามที่มีหนังสือ อ้างถึงสมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ ได้ขอให้ กกท. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง (คณะกรรมการสอบสวนอิสระที่แต่งตั้งโดย กกท.) กรณีของนางสาวศิริภุช กุลน้อย อดีตนักยกน้ำหนักทีมชาติไทย โดยมีผู้นำเสนอข่าวกล่าวหาว่า ยุ่งเกี่ยวกับการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาปรากฎและเผยแพร่ทางสื่อเยอรมนี นั้น
กกท. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีคำสั่ง กกท. ที่ 51/2563 ลงวันที่ 30 ม.ค.2563 เรื่อง แต่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีของ นางสาวศิริภุช โดยมีนายถิรชัย วุฒิธรรม เป็นประธานกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว 3 ครั้ง คือ วันที่ 10 ก.พ., 14 ก.พ. และ 18 ก.พ.2563 พร้อมกันนี้ คณะกรรมการฯ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการฯ ด้วย
คณะกรรมการฯ ได้แสวงหาพยาน หลักฐาน ประกอบกับการให้ถ้อยคำของผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้เสนอรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อผู้ว่าการ กกท. แล้ว โดยผู้ว่าการกกท. พิจารณาว่า พยาน หลักฐาน ยังไม่เพียงพอต่อการพิสูจน์ว่า นางสาวศิริภุช มีเจตนา ในการสื่อสารตามที่ถูกกล่าวอ้าง เนื่องจากคณะกรรมการฯ ยังไม่ได้รับวีดีโอคลิปต้นฉบับที่เป็นเสียงสนทนาของนางสาวศิริภุช ที่พบเป็นข่าวกล่าวหาและเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ ดังนั้น กกท. จึงไม่สามารถพิจารณาได้ว่า นางสาวศิริภุช มีเจตนาในการสื่อสารว่า สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯ และนักกีฬาของประเทศไทย ใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ตั้งแต่อายุ 13 ปีจริงหรือไม่ ตามที่ถูกกล่าวหา
ทั้งนี้ กกท. ยังแจ้งด้วยว่า กกท. ได้ถือปฎิบัติตามประมวลกฎการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก อย่างเคร่งครัด และดำเนินการตามมาตรฐานขององค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก โดยเฉพาะกีฬายกน้ำหนัก ซึ่ง สำนักควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา ได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างปัสสาวะนักกีฬายกน้ำหนัก ดังนี้ ปี 2559 เก็บตัวอย่างปัสสาวะนักกีฬายกน้ำหนัก 178 ตัวอย่าง, ปี 2560 เก็บตัวอย่างปัสสาวะนักกีฬายกน้ำหนัก 233 ตัวอย่าง, ปี 2561 เก็บตัวอย่างปัสสาวะนักกีฬายกน้ำหนัก 232 ตัวอย่าง และปี 2562 เก็บตัวอย่างปัสสาวะนักกีฬายกน้ำหนัก 191 ตัวอย่าง ซึ่ง กรณีของนางสาวศิริภุช ถูกเก็บตัวอย่างปัสสาวะไป 23 ตัวอย่าง แต่ไม่พบสารต้องห้ามทางการกีฬา แต่อย่างใด