xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อโควต้าอาเซียนไม่ได้ช่วยให้ไทยลีกรวยขึ้น? / แมวดำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “สกอร์บอร์ด” โดย “แมวดำ”

ฟุตบอลโตโยต้า ไทยลีก 2020 กลับมาฟาดแข้งนัดแรกกันไปแล้ว ดูเหมือนว่าอะไรๆ ก็ดีขึ้น ทั้งเรื่องของการตัดสิน ที่มีการนำเทคโนโลยี VAR มาช่วยผู้ตัดสิน ที่จากเดิมไม่ว่าจะทัน หรือไม่ทันเกมอย่างไรก็โดนด่าแหลกจากทั้งแฟนบอล และคนทำทีม ตอนนี้พอได้ VAR มาคนที่ด่าก็น้อยลงไปเยอะ เพราะอย่างน้อย ก็คัดกรองจังหวะปัญหาได้มาก ลองไปถามคนทำทีมคนไหนเขาก็ถูกใจ จะมีก็แต่บางทีมแพ้ประเดิมก็บ่นอุบอิบราวกับลืมไปว่า "ฟุตบอล" มันออกผลได้ 3 หน้า คือ ชนะ เสมอ แพ้ พอชนะ หรือได้ผลประโยชน์ก็เออออยินดี พอเสียผลประโยชน์ก็พูดเหมือนว่าทีมตัวเองแพ้ไม่ได้เสียอย่างนั้นแหละ

พอไทยลีก เปิดฤดูกาล 2020 สัปดาห์นี้ ฟุตบอลเจลีก ก็กลับมาเปิดฤดูกาลฟาดแข้งอย่างเป็นทางการเช่นกัน ซึ่งเรื่องน่ายินดีก็คือ เราจะได้ชมการถ่ายทอดสดผ่าน สื่อออนไลน์ในเครือ Siamsport ทั้งทาง เฟซบุ็ค และยูทูบ แบบไม่ต้องเสียเงิน เนื่องจาก บริษัท สยามสปอร์ต ดิจิตอล มีเดีย จำกัด ในฐานะพันธมิตร "เจลีก" ได้เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายใหม่ในประเทศไทยนับจากนี้อีก 3 ฤดูกาลคือ 2020, 2021 และ 2022

ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าทุ่มเงินไปเท่าไหร่เพื่อให้ได้ลิขสิทธิ์นี้มา แต่การที่ "เจลีก" สามารถสร้างมูลค่าจนสามารถขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้แฟนบอลไทยได้ชมกัน มันก็เริ่มจาก "โควต้าอาเซียน" ที่เจลีกเปิดตลาดมาตั้งแต่ฤดูกาล 2016 กระทั่งปัจจุบัน มีนักฟุตบอลทีมชาติไทย เดินทางผ่านการค้าแข้งลีกแดนอาทิตย์อุทัยแล้วหลายราย ประกอบด้วย ชนาธิป สรงกระสินธ์ (ฮอกไกโด คอนซาโดเล่ ซัปโปโร), ธีราทร บุญมาทัน (วิสเซล โกเบ-โยโกฮาม่า เอฟ มารินอส), ธีรศิลป์ แดงดา (ซานเฟรซเซ่ ฮิโรชิม่า-ชิมิสุ เอส-พัลส์), ฐิติพันธ์ พ่วงจันทร์ (โออิตะ ทรินิตะ) และ คนล่าสุดคือ กวินทร์ ธรรมสัจจจานันท์ (ฮอกไกโด คอนซาโดเล่ ซัปโปโร)

ซึ่งการที่เขาเอานักเตะไทยไปเล่นเจลีก เพียง 5 คน (ขออภัยที่ไม่ได้นับผู้เล่นที่ไปเล่นกับทีมสำรอง หรือทีม ยู 23 ของสโมสรในเจลีก) กลับทำให้เราต้องนำเงินไปทุ่มซื้อลิขสิทธิ์กลับมาให้แฟนบอลไทยดูได้ แม้จะมีการออกมาให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมา เจลีก ช่วยเรื่องค่าจ้างนักฟุตบอลจากอาเซียน แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันคุ้มค่าเหลือเกิน

หันกลับมามองไทยลีก ที่เป็นพันธมิตรอันดีกับ "เจลีก" ก่อนหน้านี้ก็เปิดโควต้าอาเซียนกับเขาเหมือนกัน แล้วทุกวันนี้เราได้ขายลิขสิทธิ์ให้ประเทศเพื่อนบ้านได้ไหม? ก่อนนี้ก็เห็นมีคนตีปี๊บกันโครมครามว่าใกล้แล้ว เกือบมีคนซื้อแล้ว และก็เงียบไป จึงมีคำถามว่าทำไมมันจะไม่ส่งผลให้มูลค่าของลีกบ้านเราขายได้ ก็ต้องไปมองตัวผู้เล่นโควต้าอาเซียน ที่เรานำเข้ามา คงเห็นได้ว่า นอกจากไม่ได้เหนือกว่านักเตะไทยที่มีอยู่แล้ว หลายคนมาก็มักโดนดอง ขณะที่หลายคนมาก็เป็นลูกครึ่งลูกเสี้ยวที่แฟนบอลตามเชื้อชาติเขายังไม่รู้จักเลย จึงไม่แปลกใจที่ไม่มีใครเขาซื้อลิขสิทธิ์ไป

ตรงนี้คงต้องยอมรับว่าไทยลีกเองก็พยายามระบุแล้วแหละว่าโควต้าอาเซียนที่มาอย่างน้อยๆ ก็ต้องดีกรีทีมชาติ เพียงแต่ที่เราเอามามันไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์ เหมือนที่ เจลีก เขามาดูดนักเตะไทยไป ดังนั้นหากอยากให้นโยบายนี้ออกดอกออกผลก็ต้องกลับมาแก้ไขกันใหม่ ทำความเข้าใจกับสโมสร หรือหากสโมสรเขาจ่ายค่าเหนื่อย-ค่าจ้างซูเปอร์สตาร์จากเพื่อนบ้านไม่ไหว ไทยลีก ก็อาจต้องควักกระเป๋าช่วยจ่ายเขาด้วยจะดีไหมครับ ถ้าไม่พอก็ไปหายืมตังค์เสี่ยก.สัก 300 ล้านมาก็ได้มั้ง (ฮา)
กำลังโหลดความคิดเห็น