หากเอ่ยถึงอาการ "คอนคัสชั่น" (Concussion - สมองกระทบกระเทือน) ถือว่าห่างไกลมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการฟุตบอล พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ กระนั้นก็ตามตอนนี้มีการถกกันเพื่อนำเข้ามาใช้ในฤดูกาลหน้า 2020-21
เรื่องนี้ถูกใส่เข้าไปในวาระการประชุมสามัญประจำปีคณะกรรมการสมาคมฟุตบอลนานาชาติ (International Football Association Board) ครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2019 ที่ เบลฟาสต์ เพื่อร่างกฎและกำหนดห้วงเวลาการทดลองใช้ ซึ่งการประชุมครั้งนี้จะมีคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนำงานวิจัยเข้าร่วมพิจารณาผลกระทบจากการที่สมองถูกกระทบกระเทือน
ถ้าวาระนี้ผ่านจะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญติดๆ กันในรอบ 12 เดือน หลังจาก พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ อ้าแขนรับวิดีโอช่วยกรรมการตัดสินหรือ "VAR" (Video Assistant Referee)
เรื่องเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บที่ศีรษะต้องศึกษาทาง อเมริกัน ฟุตบอล เอ็นเอฟแอล หรือศึกคนชนคน ที่อยู่คู่กับสิ่งนี้มาตลอด เพราะถือเป็นกีฬาที่ต้องกระทบกระทั่ง
โดย เอ็นเอฟแอล เริ่มพบปัญหาผู้เล่นระดับอาชีพบางคนฆ่าตัวตาย หลังมีปัญหาสมองถูกกระทบกระเทือน เป็นเหตุให้หันมาเอาจริงเอาจังริเริ่มตั้งกฎที่เรียกว่า "คอนคัสชั่น โปรโตคอล" (Concussion Protocol - ระเบียบเกี่ยวกับอาการคอนคัสชัน) ตั้งแต่ปี 2009
ทุกๆ เกมของ เอ็นเอฟแอล จะมีเจ้าหน้าที่คอยสังเกตผู้เล่นทั้งข้างสนามและห้องรีวิว กรณีสังเกตพบนักกีฬาต้องสงสัยว่าจะเกิดอาการสมองถูกกระทบกระเทือน จะขอเวลานอกและพาตัวออกจากสนามเพื่อตรวจร่างกายทันที
นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่เฝ้าสังเกต แต่ละแฟรนไชส์หรือแต่ละทีมต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ซึ่งคอยดูอาการนักกีฬาตรงข้างสนาม 7 ประการ ได้แก่ หมดสติ , ลุกช้าหลังการปะทะรุนแรง หรือศีรษะกระแทกพื้น , เสียการทรงตัว , สูญเสียความจำระยะสั้น , วิงเวียนศีรษะ , ปวดศีรษะหลังปะทะ และการบาดเจ็บบริเวณใบหน้าที่ชัดเจน หากพบสัญญาณดังกล่าว ผู้เล่นจะต้องมายังเต๊นท์ปฐมพยาบาล , กลับเข้าห้องแต่งตัว หรือส่งโรงพยาบาล เพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียด
ผู้เล่นซึ่งอยู่ภายใต้ "คอนคัสชั่น โปรโตคอล" ต้องผ่านการทดสอบหลายขั้นตอนกว่าจะกลับลงสนามอย่างเช่น เมสัน รูดอล์ฟ ควอเตอร์แบ็ก พิตต์สเบิร์ก สตีลเลอร์ส มีอาการสมองถูกกระทบกระเทือน สัปดาห์ที่ 5 ของฤดูกาล 2019 พบ บัลติมอร์ เรฟเวนส์ เริ่มด้วยพักผ่อนและพักฟื้น ตามด้วยการออกกำลังกายเบาๆ โดยมีแพทย์ประจำทีมคอยดูแล , ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ และเสริมสร้างความแข็งแรง
ระหว่างกระบวนการเหล่านี้ ผู้เล่นสามารถฝึกซ้อมเน้นความสามารถเฉพาะตำแหน่ง โดยปราศจากการปะทะ กระทั่งแพทย์ประจำทีมอนุญาตให้ซ้อมเต็มรูปแบบ ก็จะถูกส่งตัวให้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ตรวจอีกครั้ง หากผลการวินิจฉัยตรงกัน จึงจะลงเล่นได้ตามปกติ
เอ็นเอฟแอล ยังตั้งโทษปรับเงินก้อนโต 50,000-150,0000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.5 ล้านบาทถึง 4.5 ล้านบาท) หรือริบสิทธิ์ดราฟต์ หากไม่ปฏิบัติตาม "คอนคัสชั่น โปรโตคอล" เช่น ปี 2016 รัสเซลล์ วิลสัน ควอเตอร์แบ็ก ซีแอตเทิล ซีฮอว์กส ถูกจับตรวจสมองได้รับการกระทบกระเทือน แต่กลับมาลงเล่นทันที เป็นเหตุให้แฟรนไชส์โดนปรับ 100,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3 ล้านบาท) เลยทีเดียว
สำหรับกฎที่ พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ จะนำเข้ามาใช่ย่อมแตกต่างจาก เอ็นเอฟแอล เพราะระยะเวลาต่อเกมไม่เท่ากันน้อยกว่าคือแค่ 90 นาที ดังนั้นนักเตะที่กระทบกระเทือนทางสมองจะต้องถูกเปลี่ยนตัวออกและไม่มีสิทธิ์กลับมา ส่วนผู้เล่นสำรองที่จะเข้ามาแทนนั้นจะไม่ถูกรวมอยู่กับการเปลี่ยนตัวปกติ 3 คน
รวมถึงต้องการให้แต่ละแมตช์นั้นมีแพทย์ส่วนกลางประจำทุกเกม เนื่องจากการตัดสินจะได้ไม่เอนเอียงและถูกกดดันจากทั้งสองฝ่ายกรณีที่นักเตะอยากเล่น รวมถึงผลการแข่งขันตกเป็นรองคู่แข่งอยู่ ทว่ากรณีนี้อาจจะต้องพักเอาไว้ก่อน เพราะใช้งบประมาณค่อนข้างสูงในการที่จะจ่ายให้แพทย์มาประจำทุกสนาม
เพราะเมื่อเมษายนที่ผ่านมา แยน แฟร์ตองเกน กองหลัง ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ กลับมาลงสนามทั้งที่บาดเจ็บที่ศีรษะเกมเลกแรกของศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก รอบตัดเชือกที่พบกับ อาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัม รวมถึงเกมระดับนานาชาติ ดาเนียล เจมส์ ปีกของทีมชาติเวลส์ กลังมาเล่นต่อทั้งที่สภาพค่อนข้างน่าวิตกกังวล
ทำไม พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ ต้องใส่ใจก็เพราะไม่อยากให้นักเตะมีอาการแบบผู้เล่น เอ็นเอฟแอล ที่อาจจะรุนแรงถึงเป็นโรคอัลไซเมอร์, โรคซึมเศร้า จนนำมาสู่การฆ่าตัวตายในท้ายที่สุด โดยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ระบุว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 5 เท่าของนักฟุตบอลที่อาจจะเป็นโรคสมองเสื่อมเลยทีเดียว
ถือเป็นการดีที่ พรีเมียร์ ลีก อังกฤษ จะนำ "คอนคัสชั่น โปรโตคอล" เข้ามาใช้เพื่อป้องกันการกระทบกระเทือนทางสมองที่มันจะสะสมและส่งผลในระยะยาวตอนแขวนสตั๊ด เพราะแน่นอนผลการแข่งขันใดก็ไม่สำคัญเท่ากับชีวิตและสุขภาพของนักเตะ