ความสำเร็จของทัพนักกีฬาไทย นอกเหนือจากความสามารถและทีมเวิร์คที่ยอดเยี่ยมแล้ว ทีมงานหลังบ้านที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่ข้างหลังก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ตัวแทนของชาติไปสู่เป้าหมาย โดยเฉพาะตำแหน่งนักกายภาพบำบัด ที่เป็นกระดูกสันหลังคอยดูแลนักกีฬาทุกคนให้อยู่ในสภาพฟิตเต็ม 100 พร้อมออกไปเผชิญหน้าคู่แข่งที่อยู่เบื้องหน้า
สำหรับศึกกีฬา ซีเกมส์ ครั้งที่ 30 ที่เมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ พลพรรคนักกีฬาบาสเกตบอลทีมชาติไทย ชุดทีม 3x3 ได้แต่งตั้งคุณหมอ “แพรวพรรณ แซ่ลี้” กายภาพบำบัดมาประจำการหนึ่งราย ทว่าที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นอย่างมากคือหน้าตาที่น่ารักสดใส มีเสน่ห์ชนิดที่ว่าแม้แต่เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะหนุ่มๆซึ่งทำงานอยู่ในสนามฟิลออย สเตเดียม สนามแข่งขันกีฬายัดห่วง ยังขออนุญาตขอถ่ายรูปกับคุณหมอคนนี้หลายคน
หมอแพรว วัย 28 ปี คือสาวสวยดีกรีปริญญาตรี คณะสหเวชศาสตร์ ภาควิชากายภาพบำบัด ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นเล่าว่าแต่ก่อนเธอตั้งใจอยากเป็นอาจารย์สอนวิชากายภาพ หลังตัดสินใจเรียนปริญญาโท ทว่าช่วงเวลานั้นเธอก็ได้รับโอกาสทำงานเป็นฟรีแลนซ์ คอยดูแลนักกีฬาโดยเฉพาะกีฬาเทนนิส ที่ได้มอบหมายจากลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทยฯ มาดูนักกีฬาที่ลงแข่งขันรายการในประเทศ
“ตอนแรกเราทำงานกับลอนเทนนิส เป็นฟรีแลนซ์มาดูนักกีฬาที่ลงแข่งรายการ ไอทีเอฟ จูเนียร์ กับ โปร เซอร์กิต แต่แล้ววันหนึ่งก็ได้รับโอกาสจากสมาคมบาสเกตบอลไทย ให้เข้ามาเป็นทีมกายภาพของนักบาสเกตบอลทีมชาติประเภท 3x3 กับ 5x5 เริ่มตั้งแต่ เอเชียน เกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซีย แล้วก็ได้กลับมาทำอีกในรอบนี้กับ ซีเกมส์ ที่ฟิลิปปินส์” คุณหมอแพรว เล่าประวัติการทำงาน
หน้าที่ของหมอแพรวในแต่ละวัน คือเข้ามาสำรวจร่างกายของนักกีฬาหลังแข่งจบในแต่ละแมตช์ เพื่อประเมินว่านักกีฬามีปัญหาทางร่างกายตรงไหนบ้าง เช่น ขา, แขน, หัวไหล่, กล้ามเนื้อ หากพบว่ามีใครบาดเจ็บก็จะทำการรักษาทั้งให้ยา, นวดคลายกล้ามเนื้อ เรียกว่าหน้าที่คือทำอย่างไรก็ได้ให้นักกีฬาทุกคนอยู่ในสภาพพร้อมที่สุดก่อนลงสนามรับใช้ชาติ
ถึงจะต้องดูแลนักกีฬาหลายชีวิตรวม 10 กว่าคน รวมถึงทีมงานที่เดินทางมาด้วยกัน ทว่า หมอแพรว ก็ไม่คิดว่าเป็นงานที่หนักหนาเกินรับมือ “ไม่คิดว่าเป็นงานหนักเลยเพราะงานที่ได้รับมอบหมายก็ถือว่าอยู่ในขอบเขตการทำงานอยู่แล้ว แต่ก็จะมีไปช่วยเหลือทีมงานคนอื่นๆบ้างเช่นเรื่องการประสานงาน อาหารการกิน รวมถึงเรื่องต่างๆเมื่อถึงเวลาต้องออกไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศร่วมกัน”
สำหรับ ซีเกมส์ ฟิลิปปินส์ ที่ได้ชื่อว่ามีการจัดการที่ย่ำแย่ สร้างปัญหาให้กับนักกีฬานานาชาติมากมาย หมอแพรว เล่าว่าทีมบาสเกตบอลของไทยก็ต้องเจอเรื่องแบบนี้เหมือนกัน “เคยเจอเรื่องอาหารที่ทางเจ้าภาพจัดเตรียมมาไม่พร้อม มาช้า และเมื่อมาเสิร์ฟก็ไม่เพียงพอ มีแต่ข้าวกับไก่ ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับนักกีฬาที่ต้องใช้พลังงานเยอะแน่ๆ จนต้องแก้ปัญหาด้วยการพาทุกคนไปกินแฮมเบอร์เกอร์ข้างนอก เพิ่มคาร์โบไฮเดรต สร้างพลังงานกัน”
“เป้าหมายของแพรวคืออยากทำให้นักบาสเกตบอลของเรามีสุขภาพร่างกายที่ดีพร้อมที่สุด เพราะบาสเกตบอลเป็นกีฬาที่ต้องลงแข่งต่อเนื่อง บางวันก็ต้องแข่งถึง 3 แมตช์ ดังนั้นเราก็ต้องทำให้ทุกคนอยู่ในความฟิตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้ไปถึงเป้าหมายที่นักกีฬาและผู้ใหญ่ตั้งไว้นั่นคือเอาเหรียญรางวัลกลับไป” หมอแพรว บอกกล่าวด้วยสายตามุ่งมั่น
หมอแพรว ทำงานตลอดทัวร์นาเมนต์โดยรับเงินค่าจ้างหลักพันต่อวัน และเมื่อเสร็จสิ้นการแข่งขันบาสเกตบอลในซีเกมส์ คุณหมอและทีมยัดห่วงของไทยก็จะเดินทางกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯทันทีโดยไม่รอให้ถึงพิธีปิด วันที่ 11 ธันวาคม และดูเหมือนจะต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะทางลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ได้มอบหมายงานชิ้นใหม่คือดูแลนักกีฬาที่ลงแข่งรายการในประเทศหลังจากนั้น
สุดท้าย เมื่อสอบถามถึงอนาคตว่าอยากทำงานเป็นคุณหมอกายภาพกีฬาชนิดใดอีกบ้าง คุณหมอแพรวตอบทิ้งท้ายว่า “อยากมีโอกาสลองทำหลายๆกีฬาค่ะ เพราะตอนนี้ทำเทนนิสกับบาสเกตบอลแล้ว อยากลองทำกีฬาอื่นบ้างถ้าได้โอกาสหรือมีผู้ใหญ่ติดต่อมา เพราะกีฬาแต่ละชนิดจะมีวิธีการใช้ร่างกายที่แตกต่างกัน และมีปัญหาไม่เหมือนกัน ถือเป็นความท้าทายแก่ตัวเองและจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆด้วย”