xs
xsm
sm
md
lg

Thailand Only บางมุม “ไทยลีก” ที่ยังไม่เป็นมืออาชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เหตุการณ์ล่าสุด “ฟลุ๊ค-คุนญา”
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 360 - ลีกลูกหนังไทยกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ มีการบริหารงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก แฟนบอลสามารถเข้าถึง และจับต้อง รวมถึงมีส่วนร่วมต่างๆในวงการลูกหนังไทยมากยิ่งขึ้น ทว่าท่ามกลางสิ่งที่เพียบพร้อมยังมีบางมุมที่ยังดูไม่มีความเป็นมืออาชีพเหมือนระดับสากล ซึ่งหากปรับได้รับรองเป็นการดีกว่านี้แน่นอน

- การทำหน้าที่ของผู้บริหาร หรือประธานสโมสร ที่มักจะลงมาอยู่ในซุ้มม้านั่งสำรองข้างสนาม

หลายทีมในโตโยต้า ไทยลีก เรามักจะเห็นบุคคลซึ่งมีชื่อดำรงตำแหน่งประธานสโมสรมานั่งอยู่ข้างสนาม อย่าง เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด กลายเป็นขาประจำสำหรับการอยู่ในซุ้มม้านั่งตัวสำรอง มีบทบาทที่ดูจะมากกว่าการเป็นแค่ประธาน ถ้าใครไม่ติดตามบอลไทยแล้วเพิ่งมาดูบุรีรัมย์ลงเตะ อาจจะคิดว่าเขาเป็นโค้ชก็ได้ เพราะเขามักจะออกมายืนสั่งการเคียงข้างผู้ฝึกสอนอยู่ร่ำไป

หรือทีมอื่นอย่าง เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ระวิ โหลทอง ที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของสโมสร ก็ลงมาอยู่ในซุ้มม้านั่งข้างสนามเป็นประจำ ถึงแม้จะแค่มานั่งดูเฉยๆ ไม่ได้วุ่นวายหรือสั่งการอะไรมากมายเหมือนกับ เนวิน แต่หลายๆคนก็ตั้งคำถามว่า “จะลงมานั่งข้างสนามทำไม ผู้บริหารควรนั่งชมอยู่ด้านบนอัฒจรรย์ หรือโซน VIP มากกว่า

ซึ่งเรื่องนี้มันจะไม่มีปัญหาเลย ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น ยกตัวอย่างกรณี ขจร เจียรวนนท์ ประธานสโมสรแบงค็อก ยูไนเต็ด ก็เป็นคนหนึ่งที่มักจะลงมานั่งอยู่ข้างสนามบ่อยๆ และในเกมโตโยต้าไทยลีกช่วงต้นฤดูกาลของปี 2017 แมตช์ที่ แบงค็อก ยูไนเต็ด เปิดบ้านพบ เอสซีจี เมืองทองฯ มีภาพจากกล้องของสื่อมวลชนจับได้ว่า “เจ้าอุ้ม” ธีราทร บุญมาทัน แบ็คซ้ายทีมกิเลนผยอง ดันไปปะทะคารมกับ ขจร ที่ไม่ทราบว่าลงมาพูดอะไรใส่นักเตะทีมเมืองทอง ถึงกับทำให้ “เจ้าอุ้ม” จะอารมณ์เดือดได้ถึงขนาดนั้น แต่ยังดีที่เหตุการณ์ไม่มีอะไรบานปลาย

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์สดๆร้อนๆกรณี “เสี่ยฟลุ๊ค” ธนวัชร์ นิติกาญจนา อดีตผู้จัดการทีม “ราชันมังกร” ราชบุรี มิตรผล ที่เพิ่งประกาศลดบทบาทของตัวเองจากการเป็นผู้จัดการทีม เพราะไปมือลั่นตบหัว ติอาโก้ คุนญ่า หัวหอกบราซิเลียนของทีม ชลบุรี เอฟซี เนื่องจากไม่พอใจที่โดน คุนญ่า สาดน้ำใส่ เหตุการณ์ดังกล่าว ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “เสี่ยฟลุ๊ค” มีปัญหาลักษณะนี้ เพราะหากย้อนไปก่อนหน้านั้นอดีตผู้จัดการทีมราชันมังกร เคยมีเรื่องกับ คัมเบะ ซูกาโอะ อดีตเฮดโค้ชชาวญี่ปุ่นของ นครราชสีมา มาสด้า เมื่อปี 2558 และยังมีภาพจับได้ว่า “เสี่ยฟลุ๊ค” ตั้งใจเดินเอาไหล่ไปชน วสันต์ ฮมแสน แบ็คขวาของ สุพรรณบุรี เอฟซี เมื่อช่วงต้นฤดูกาลนี้ อีกด้วย ซึ่งมีคำถามจากหลายฝ่ายว่า “เสี่ยฟลุ๊ค” ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสโมสร แต่ลงไปอยู่ข้างสนาม แล้วก่อเรื่องแบบนี้หลายครั้งหลายครา มันเหมาะสมหรือไม่

ซึ่งในฟุตบอลต่างประเทศ แทบจะทุกลีกในโลกนี้ โดยเฉพาะทีมในยุโรป เราแทบจะไม่เห็นผู้บริหารระดับสูง รวมถึงประธานสโมสร ลงมาอยู่ในซุ้มมานั่งตัวสำรองเลย จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดสำหรับลีกฟุตบอลในประเทศไทย

- สัญญาของนักเตะกับทีมฟุตบอลที่ไม่ค่อยเปิดเผยและอาจไม่เป็นธรรม รวมถึงค่าตัวในการย้ายทีมที่ไม่ชัดเจน

เรามักจะได้ยินข่าวอยู่บ่อยๆ กรณีที่ทีมฟุตบอลในไทย มักจะยกเลิกสัญญากับตัวนักเตะแบบดื้อๆ โดยที่นักเตะไม่ทันได้ตั้งตัว อย่างเช่นในฤดูกาลนี้ ไทยฮอนด้า ยกเลิกสัญญากับ นพรัตน์ สกุลอ๊อด กองหลังของทีมแบบดื้อๆ จากเหตุที่เจ้าตัวทำฟาวล์รุนแรงใส่ จอห์น บาจโจ้ ทำให้เขาโดนปรับ 4 หมื่นบาท ซึ่งทางสโมสรไล่ให้ตัวนักเตะไปจ่ายค่าปรับเอาเอง ทั้งๆที่ควรจะมีการคุ้มครองนักเตะในเรื่องนี้ และทางไทยฮอนด้า อ้างว่า นพรัตน์ ทำให้ทีมเสื่อมเสียชื่อเสียง จึงนำเรื่องนี้มาเป็นเหตุผลในการยกเลิกสัญญา

หรือทีม อุบล ยูเอ็มที ก็มักจะมีข่าวยกเลิกสัญญากับตัวนักเตะแบบกะทันหันอยู่บ่อยๆแบบไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมกับนักฟุตบอลที่จู่ๆมาโดนบอกเลิกสัญญาแบบในลักษณะนี้ และที่สำคัญ หลังจากสโมสรยกเลิกสัญญากับตัวนักเตะแล้ว พวกเขาดันไม่ยอมจ่ายค่ายกเลิกสัญญาให้กับนักเตะด้วย นี่แหละคือปัญหา

รวมถึงกรณีค่าเหนื่อยและค่าตัวของนักฟุตบอลในไทย ที่ส่วนใหญ่มักจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงกันเท่าไหร่นัก แตะต่างกับในต่างประเทศ ที่เวลามีการย้ายทีม หรือเซ็นสัญญากับตัวนักเตะ มักจะเปิดเผยอย่างเป็นกิจจะลักษณะอยู่เสมอ แต่ในไทยกับตรงกันข้าม สโมสรส่วนใหญ่มักปกปิดข้อมูลค่าเหนื่อยและค่าตัวของนักเตะอยู่เสมอ จริงๆแล้วฟุตบอลไทย ควรมีการเปิดเผยเรื่องดังกล่าวกันมากขึ้นหรือไม่ มันส่งผลต่ออะไรหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านภาพลักษณ์ การเรียกเก็บภาษี และเรื่องต่างๆอีกมากมาย ซึ่งเรื่องนี้ควรได้รับการตรวจสอบอย่างจริงๆจังๆจากภาครัฐ

- ค่าบัตรเข้าชมการแข่งขันของบางทีมที่ราคาขึ้นๆลงๆ ไม่มีราคาที่แน่นอน

จริงๆเรื่องการเก็บบัตรเข้าชมการแข่งขัน เป็นเรื่องที่พูดกันยาก เพราะทางบริษัทไทยลีก ไม่ได้กำหนดเอาไว้อย่างตายตัวในเรื่องของราคาบัตรเข้าชมในแต่ละนัด ซึ่งหลายๆสโมสร จะมีการจัดการและตั้งราคาขึ้นมาเอง จริงอยู่ที่เป็นเรื่องของสโมสรนั้นๆจะเป็นฝ่ายที่จัดการในเรื่องนี้ แต่เราจะเห็นได้กับบางสโมสรที่ราคาบัตรเข้าชมในแต่ละแมตช์อาจจะขายไม่เท่ากัน โดยเฉพาะบัตรเข้าชมของผู้มาเยือน ที่ราคามักจะสูงกว่าทีมเจ้าบ้าน อันนี้พอเข้าใจได้ แต่บางสโมสรมีการตั้งราคาบัตร จากทีมที่มาเยือน คือพวกเขาจะดูว่าทีมที่มาเยือนคือทีมอะไร สมมติ ถ้าทีม ก.มาเยือน ราคาบัตรจะเท่านี้ แต่ถ้าทีม ข. มาเยือน ราคาบัตรจะเป็นอีกราคานึง ซึ่งมันอาจจะดูเป็นเรื่องเล็ก แต่จริงๆแล้วเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าสโมสรในต่างประเทศ มีการกระทำแบบนี้หรือไม่

- ความไม่พร้อมของสโมสรที่ส่งเข้าทำการแข่งขัน ที่มักจะถอนทีมไปแบบดื้อๆ

มีให้เห็นอยู่เป็นประจำแทบจะทุกปี ที่สโมสรส่งทีมเข้าแข่งขันในปีนั้นๆ พอแข่งๆไปได้ซักระยะหนึ่ง รู้สึกว่าตัวเองไม่พร้อมในอะไรหลายๆอย่าง ก็ตัดสินใจยุบทีม หรือถอนทีม ไม่ส่งทีมเข้าแข่งขันต่อแบบดื้อๆซะอย่างนั้น ในฤดูกาลนี้ก็มีอย่าง “เดอะบิ๊กแบง” บีบีซียู ที่ตัดสินใจถอนทีมออกจากการแข่งขันแบบกลางคัน แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อหลายๆฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายจัดการแข่งขันที่ต้องมาปวดหัวกับการถอนทีมดื้อๆแบบนี้ จริงๆแล้วถ้ารู้ตัวว่าทีมไม่พร้อมจริงๆ ก็ไม่ควรที่จะส่งทีมเข้าแข่งขันตั้งแต่แรก ไม่ใช่จู่ๆมาถอนทีม หรือยุบทีมไปแบบดื้อๆเหมือนที่เราเห็นกันอยู่บ่อยๆ

ฟุตบอลไทยเดินหน้ามาได้ไกลถึงขนาดนี้แล้ว แต่เรื่องความไม่เป็นมืออาชีพของหลายๆทีมก็ยังคงมีให้เห็นกันอยู่ หลังจากนี้ควรมีการเข้าไปดูแลให้จริงจังมากขึ้น เพราะการบริหารทีมฟุตบอลแบบมืออาชีพ มันจะส่งผลระยะยาวต่อวงการลูกหนังไทยว่าจะอยู่ยั้งยืนยงไปได้อีกนานแค่ไหน ก็อยู่ที่การบริหารของผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการต้องเก็บไปคิด
ขจร หวิดปะทะ อุ้ม
เรื่องมาตรฐานราคาบัตร
บีบีซียู ถอนทีมกลางคัน
นายกสมาคมลูกหนัง ไม่ควรมองข้าม
กำลังโหลดความคิดเห็น