ผู้จัดการรายวัน 360 - สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงประมุขคนใหม่ตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งคนที่ชนะการเลือกตั้งเพื่อเข้ามาปฏิวัติวงการ ก็คือ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาค่อนข้างกระชั้นกว่าจะสะสางงานที่คั่งค้าง ทำให้ฤดูกาลที่ผ่านมาของศึกไทยลีกเรายังไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากนัก ทว่า จากนี้หรือซีซัน 2017 เป็นต้นไป นายกลูกหนังคนใหม่ ต้องระดมมันสมองเพื่อให้ลีกพลิกโฉมและแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาที่ก้าวกระโดด
ล่าสุด สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้ประกาศว่าไทยลีกจะมีการลดจำนวนทีมจากเดิม 18 ทีมให้เหลือ 16 ทีม โดยจะเริ่มใช้ฤดูกาล 2019 เป็นต้นไป เพราะจะให้ทีมที่เพิ่งเลื่อนขั้นขึ้นมามีการปรับตัวรับมือให้พร้อม
“โจ” พาทิศ ศุภะพงษ์ รองเลขาธิการและโฆษกสมาคมฟุตบอลฯ กล่าวว่า “เดิมทีแผนที่เราวางไว้ไทยลีกจะมี 18 ทีม, ไทยลีก 2 มี 18 ทีม, ไทยลีก 3 หรือแชมเปียนชิป จะมี 32 ทีม, ไทยลีก 4 หรือ ลีกภูมิภาค เราจะแบ่งเป็น 6 โซน แต่ในปี 2019 จะหั่นไทยลีกให้เหลือ 16 ทีม เพื่อให้เวลาในการแข่งขันไม่ยืดเยื้อ เพราะนักเตะทีมชาติไทยส่วนมากค้าแข้งอยู่ในไทยลีก การลดจำนวนทีมจึงถือเป็นเรื่องดีต่อการเตรียมทีมชาติไปในตัวด้วย”
“โดยสาเหตุที่ต้องอีก 3 ปี เพื่อที่ทีมเลื่อนชั้นขึ้นมาในปีหน้า จะไม่รู้สึกเสียประโยชน์ เพราะหากปรับจูนทีมไม่ทันก็ต้องตกชั้นทีนที เราจึงแจ้งล่วงหน้าให้ทุกสโมสรเตรียมความพร้อม ทั้งนี้ การเหลือ 16 ทีมในไทยลีกถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะนักเตะทีมชาติส่วนใหญ่อยู่ในลีกสูงสุด จะได้ไม่ล้าเกินไปเมื่อต้องเก็บตัว ทั้งนี้ หลายๆ ชาติในลีกชั้นนำ ก็มีจำนวนทีมไม่เกิน 16 ทีม เราจึงต้องทำให้ไทยลีกมีความเป็นสากล”
กระบอกเสียงลูกหนังไทย กล่าวอีกว่า ในอนาคตหากมีการลดทีม จึงมีความเป็นไปได้ที่แต่ละสโมสรจะได้เงินสนับสนุนการถ่ายทอดสดเพิ่มขึ้นอีกด้วย “ตอนนี้แต่ละสโมสรในไทยลีก จะได้รับเงินสนับสนุนจากทรูวิชั่นส์ ปีละ 20 ล้านบาท, ดิวิชัน 1 ปีละ 3 ล้านบาท และ ดิวิชัน 2 ปีละ 1 ล้านบาท ในด้านการถ่ายทอดสด หากมีการลดจำนวนทีมในไทยลีก ก็เป็นไปได้ที่เงินสนับสนุนจะได้รับเพิ่มมากขึ้นในแต่ละทีมทั่วทุกลีก”
“ทั้งนี้ เมื่อมีการลดจำนวนทีมในไทยลีก ก็จะทำให้โปรแกรมถ่ายทอดการแข่งขันว่างลง ตารางการถ่ายทอดสดก็จะกระจายไปที่ลีกอื่นด้วย ในอนาคตเราเตรียมเปิดรับให้ผู้สนับสนุนการถ่ายทอดสดรายอื่นเข้ามาดูแลในส่วนของ ไทยลีก 3 และ 4 เพื่อให้มีการถ่ายสดครบทุกลีกในประเทศไทย หรืออาจจะเป็นผู้รับผิดชอบเพียงเจ้าเดียว ซึ่งต้องหารือกับผู้เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง”
ส่วนอีกประเด็นที่น่าสนใจ คื อการเปลี่ยนชื่อลีกต่างๆ ของไทยจากของเดิมที่เป็นไปตามสปอนเซอร์ คือ โตโยต้า ไทย พรีเมียร์ ลีก พาทิศ เผยว่า เพื่อเป็นการรองรับการจดทะเบียนบริษัทใหม่เป็น “ไทยลีก” และวางรากฐานทุกลีกโดยยึด เจ-ลีก ของญี่ปุ่น เป็นต้นแบบ “การเปลี่ยนชื่อบริษัท จาก บริษัท พรีเมียร์ลีก ไทยแลนด์ เป็น บริษัท ไทยลีก เพื่อให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อมีการเปลี่ยนชื่อ ก็มีการเปลี่ยนชื่อเรียกตามลีกต่างๆ อย่างเป็นทางการ ลีกสูงสุดเราจะเรียกว่า ไทยลีก รองลงมาก็ไทยลีก 2 ไทยลีก 3 และ ไทยลีก 4 เพื่อให้ง่ายต่อการดำเนินการ เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น ที่ทุกลีกจะขึ้นกับบริษัทเดียวกัน ต่างจากเมื่อก่อนที่มีการแยกความรับผิดชอบจากไทยลีก, ดิวิชัน 1 และ ดิวิชัน 2 ออกไป ทำให้การดำเนินงานไม่สอดคล้องไปด้วยกัน”
“นอกจากนี้ เรื่องจำนวนผู้เล่นต่างชาติที่จะเข้ามาเป็นนักกีฬาแต่ละสโมสร ไทยลีก จะใช้โควตา เดิมคือ 3+1 ส่วนลีกรองจะใช้ 3+1+1 ที่โดยจะเพิ่มโควตาอาเซียน หากทีมไหนต้องการจะเพิ่มหรือไม่เพิ่มก็ไม่เป็นไร สมาคมจะให้สิทธิ์ตรงนี้ เพื่อช่วยยกระดับผลงานของสโมสรให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น” พาทิศ กล่าว
ทั้งนี้ รองเลขาฯ สมาคมฟุตบอลฯ แสดงความมั่นใจในการดำเนินการต่างๆ ของสมาคมฟุตบอลในขณะนี้ จะช่วยให้สามารถต่อยอดความเป็นมืออาชีพและง่ายต่อการดำเนินงานต่อไปหากมีการเปลี่ยนแปลงชุดบริหาร แต่หากแผนที่วางไว้ ไม่ประสบความสำเร็จ ทางสมาคมฯ ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานต่างๆ ทันที
อนึ่ง ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จะออกมาแถลงข่าว พร้อมแจ้งแผนการดำเนินจัดการแข่งขันของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ในปี 2017 อย่างเป็นทางการอีกครั้งอีกครั้งในวันที่ 15 ธันวาคมนี้
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *