xs
xsm
sm
md
lg

ผลพวงระบบห่วย “ไทยลีก” เพิ่มทีม กระทบเป็นหางว่าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ทีพีแอล” ประชุมหาทางออก
ผู้จัดการรายวัน 360 - กรณี บีอีซี เทโรศาสน ฟ้องศาลปกครอง หวังทวง 3 แต้ม ยืดเยื้อจนยังไม่สามารถหาทีมตกชั้นในศึก โตโยต้า ไทย พรีเมียร์ ลีก ฤดูกาล 2015 เนื่องจากกระบวนการศาลยังไม่ตัดสิน ดร.องอาจ ก่อสินค้า ประธาน บริษัท ไทย พรีเมียร์ ลีก จำกัด (ทีพีแอล) จึงเตรียมประชุมเพื่อหาทางออกวันที่ 6 มกราคมนี้ ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่าอาจจะใช้วิธีเพิ่มทีมในฤดูกาลหน้า ซึ่งหากเป็นจริงจะมีผลกระทบตามมาเป็นหางว่าวดังนี้

โปรแกรมสุดแน่น : แน่นอนว่าการเพิ่มจาก 18 เป็น 20 ทีม ย่อมทำให้แต่ละสโมสรต้องลงเล่นมากขึ้นเพิ่มอีกทีมละ 4 นัด จากเดิม 34 เป็น 38 นัด ซึ่งเมื่อกวาดตาดูโปรแกรมที่จะเริ่มสตาร์ทซีซันใหม่กลางเดือนกุมภาพันธ์ และต้องสิ้นสุดฤดูกาลก่อนเดือนธันวาคม เพื่อให้ ทีมชาติไทย ได้มีเวลาเตรียมทีมป้องกันแชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2016 ช่วงปลายปีแล้วต้องบอกว่าแน่นขนัด เพราะนอกจากนี้ทัพ “ช้างศึก” ยังมีคิวต้องเล่น ฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก เยือน อิรัก ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม ซึ่งถือเป็นนัดชี้ชะตาอย่างน้อยต้องมีการเก็บตัวไม่ต่ำกว่า 7 วัน รวมถึง ชุด ยู-16 และ ยู-19 ที่เตรียมทำศึกชิงแชมป์เอเชีย 2016 รอบสุดท้าย ช่วงกลางเดือนกันยายน ถึงปลายตุลาคม

ส่วนรายการในประเทศยังมีบอลถ้วย 2 โทรฟี ช้าง เอฟเอ คัพ และ โตโยต้า ลีก คัพ ที่ลากยาวทั้งปี ไม่รวม เอเอฟซี แชมเปียนส์ ลีก และฟุตบอลรายการพิเศษอื่นๆที่อาจมีเพิ่มเข้ามาอีก เท่ากับว่าในระหว่าง 9 เดือน แต่ละทีมต้องฟาดแข้งกันชนิดสุดหฤโหด เชื่อว่าต้องมีเกมกลางสัปดาห์สลับเสาร์-อาทิตย์ ให้แต่ละทีมต้องเล่นกันเกือบ 10 นัดแน่นอน ที่สำคัญช่วงพักเบรกกลางซีซันที่สัญญาว่าจะมีให้ 1 เดือน ก็ดูท่าจะเหลือเพียง 2-3 วัน และจะส่งผลถึงสมรรถภาพร่างกายของนักเตะที่ลดลงทั้งในทีมชาติและสโมสรโดยปริยาย

สโมสรเสียเงินเพิ่ม : คงไม่แฟร์หากสโมสรต้องลงเล่นมากขึ้น แต่ได้รับเงินส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเท่าเดิม คือ 20 ล้านบาท เพราะจะต้องเสียค่าเดินทางในการออกไปเล่นเกมเยือนเพิ่มขึ้นอีกทีมละ 2 นัด และต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆของทั้งทีมเพิ่มอีกราว 1 เดือนเต็ม ที่สำคัญเหนืออื่นใดทีมเล็กหลายทีมเลือกที่จะเซ็นสัญญานักเตะต่างชาติเพียงระยะเวลาอันสั้น 8-10 เดือน เมื่อโปรแกรมแข่งขันลากยาวเกินกำหนดก็ต้องเสียค่าจ้างเพิ่ม หรือต้องยอมเลือกที่จะเสียโควตาไปเพราะจำต้องปล่อยตัวกลับบ้าน

“ทรู” ควักเพิ่ม 40 ล้าน : เรื่องที่ 18 ทีมจะได้เงินส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมหรือไม่นั้น ยังต้องลุ้น แต่ที่แน่ๆ ทีพีแอล ในฐานะฝ่ายจัดการแข่งขันจะต้องหาเงินมาให้กับ 2 ทีมที่เพิ่มขึ้นมาอีกทีมละ 20 ล้านบาท หรือรวม 40 ล้านบาทแน่นอน ซึ่งผู้ที่ควักระเป๋าคงหนีไม่พ้น “ทรูวิชั่นส์” เจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่จะได้ค่าโฆษณาและยอดคนดูเพิ่มจากแมตช์ที่เพิ่มขึ้นมาสัปดาห์ละ 1 คู่ ต่างจากสปอนเซอร์ใหญ่ “โตโยต้า” ที่ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม เพราะตั้งเงินรางวัลไว้แค่ทีมอันดับ 1-8 เท่านั้นที่จะได้ ส่วนที่เหลืออันดับรองลงมาจะมีกี่ทีมก็อดไม่ต่างกันอยู่ดี

“ทีโอที” ไม่ยอมร่วงทีมเดียว : แม้ในฤดูกาล 2013 พัทยา ยูไนเต็ด จะยอมรับเคราะห์เป็นทีมเดียวที่ต้องตกชั้นโดยไม่โต้แย้ง ทว่าปีนี้ฝั่ง “ฮัลโหล” ทีโอที เอสซี บ๊วยของตาราง ออกโรงยืนกรานแล้วว่าไม่ยอมร่วงแค่ทีมเดียวแน่นอน เพราะมองว่าไม่มีการระบุไว้ในกฎตั้งแต่แรก ดังนั้นไม่ว่าใครจะมีคะแนนเท่าไหร่ทั้ง 3 ทีมสุดท้ายจะต้องตายหมู่ร่วมกัน และประกาศกร้าวว่าหากเพิ่มทีมแล้วตนต้องโชคร้ายฝ่ายเดียว จะทำเรื่องฟ้องร้องทีพีแอลแน่นอน

กระทบถึงปี 2017 : หากมีการเพิ่มเป็น 20 ทีมจริง แล้วในอนาคตต้องการที่จะกลับมาเหลือ 18 ทีมตามเดิม แนวทางที่เป็นไปได้สูงคือเพิ่มทีมตกชั้น จาก 3 เป็น 5 ทีม เหมือนที่เคยทำมาแล้วเมื่อปี 2014 ดังนั้นในฤดูกาล 2016 โซนท้ายตารางลีกสูงสุดต้องขับเคี่ยวกันอย่างระอุ เนื่องจากมีผู้โชคร้ายถึง 5 ทีม หลังจากนั้นภาระจะไปตกอยู่ที่ลีกรองคือ ยามาฮ่า ลีก วัน (ดิวิชั่น1) ฤดูกาล 2017 ที่ต้องเจอคิวโหดจากการมี 20 ทีม และต้องตกชั้นถึง 6 ทีม เหมือนในซีซันที่ผ่านมา

“ทีพีแอล” ขาดความน่าเชื่อถือ : ผลกระทบที่แย่ที่สุดที่ต้องรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปเต็มๆคือ “ทีพีแอล” เพราะทุกสโมสรเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันว่าการเพิ่มทีมเป็นทางเลือกที่เลวร้ายที่สุด มีแต่ผลเสียตามมา ที่สำคัญปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นก็มาจากการทำงานที่ไร้มาตรฐานของหน่วยงานนี้เอง คณะอนุกรรมการ 2 คณะ มีข้อสรุปที่ขัดแย้งกันทั้งที่ใช้กฎข้อบังคับฉบับเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตจะลดความน่าเชื่อถือลงไปเยอะ เพราะปัจจุบันยังไม่การันตีว่าหากมีปัญหาอีก จะต้องเพิ่มๆลดๆทีมอีกหรือไม่


คดี “มังกรไฟ” ยังยืดเยื้อ
เพิ่มทีมกระทบ “ช้างศึก” แน่
“ฮัลโหล” ไม่ยอมตกทีมเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น