ผู้จัดการรายวัน 360 - กลายเป็นประเด็นถกเถียงที่สร้างความวิตว่าศึก ยูโร 2016 ที่ฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน ถึง 10 กรกฎาคมปีหน้าปลอดภัยแค่ไหน? หลังเหตุสะเทือนขวัญกลุ่มก่อการร้ายสาธารณรัฐอิสลาม IS กองทัพญิฮัด โจมตีทั้งกราดยิงและวางระเบิดทั่วกรุงปารีส 6 จุดจนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 153 คน
สหพันธ์ฟุตบอลของยุโรป หรือ ยูฟา ยืนยันแล้วว่าศึก ยูโร 2016 จะต้องดำเนินต่อไป เช่นเดียวกับ ฌักส์ ลอมแบร์ ประธานสหพันธ์ลูกหนังฝรั่งเศส เพราะหากยกเลิกหรือเปลี่ยนเจ้าภาพเท่ากับว่าชัยชนะตกอยู่ในมือฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบจึงจะไม่อ่อนข้อเด็ดขาด ดังนั้นประเด็นจากนี้คือจะทำอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด เพราะดูท่าจะไม่จบง่ายๆ เนื่องจากรัฐบาลน้ำหอมได้ตอบโต้ด้วยการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดไปทันทีที่ทราบเบาะแสผู้ลงมือถือเชื้อสายเบลเยียม ทำให้เกมนัดกระชับมิตร “ปีศาจแดงแห่งยุโรป” หรือยอดลูกหนังเบอร์ 1 ของโลก เตะที่กรุงบรัสเซลส์ ณ คิง โบ ดวง สเตเดียม พบ สเปน เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนต้องยกเลิกกะทันหัน
เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สนาม สต๊าด เดอ ฟรองซ์ ที่มีเกมกระชับมิตร ฝรั่งเศส ชนะ เยอรมนี 2-0 เป็นหนึ่งในสถานที่เป้าหมาย โดยผู้ก่อการร้ายพร้อมตั๋วจ้องที่จะเข้าไปลงมือ ขณะนั้นมี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีของเจ้าถิ่นนั่งชมอยู่ด้วย ก่อนจะถูกนำตัวออกไป ซึ่งผู้ที่ได้ยินเสียงระเบิดเบื้องต้นคิดว่าเป็นพลุหรือดอกไม้ไฟถูกจุดนอกสเตเดียมด้วยซ้ำ ทั้งที่จริงๆ แล้วคือระเบิดฆ่าตัวตาย เนื่องจากไม่มีใครคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงในสถานที่เช่นนี้
สำหรับ สต๊าด เดอ ฟรองซ์ ถือเป็นสนามหลักที่ใช้จัด ยูโร 2016 ความจุมากกว่า 80,000 ที่นั่ง โดยเป็น 1 ใน 10 สเตเดียมที่ได้รับคัดเลือกจากฝ่ายจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป ซึ่ง ยูฟา ออกมารับประกันว่า “หลังเหตุการณ์รุนแรงที่กรุงปารีส เรายืนยันถึงความมุ่งมั่นที่จะวางมาตรการรักษาความปลอดภัย แน่นอนว่าจะทำงานอย่างหนัก ตรวจสอบทุกความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เพราะเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญที่อยู่ในแผนขององค์กรตั้งแต่แรกเริ่มอยู่แล้ว”
กระนั้นก็ตามเรื่องนี้ แครอล โกเมซ นักวิจัยที่สถาบันระหว่างประเทศและความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ หรือ IRIS ซึ่งหนึ่งในงานขององค์กรนี้ก็คือจับตาประเด็นเกี่ยวข้องที่มีผลกระทบจากการเล่นกีฬาที่เชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มองว่าจากจุดนี้ศึก ยูโร ควรต้องเริ่มใส่ใจเรื่องความปลอดภัยให้มากขึ้น
“ปัญหาการรักษาความปลอดภัยมีความสำคัญในการเตรียมพร้อมสำหรับศึก ยูโร จริงๆ ก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังตั้งแต่แรกแล้วนับตั้งแต่เหตุการณ์กราดยิงที่สำนักงานนิตยสาร ชาร์ลี เอ็บโด ในกรุงปารีสของฝรั่งเศสเมื่อต้นปี 2015 ที่ผ่านมาจนมีผู้เสียชีวิต 17 ราย โดยจำต้องเสริมสร้างมุมมองด้านสถานการณ์การเมืองให้เข้มแข็งขึ้น เพราะทุกองค์กรของรัฐนั้นเชื่อมโยงกันกับกีฬาทั้ง กระทรวงกีฬา, กระทรวงมหาดไทย และ กระทรวงการต่างประเทศ ต้องทำงานร่วมกัน” โกเมซ กล่าวเตือน
รัฐอิสลามเลือกสนามฟุตบอล สต๊าด เดอ ฟรองซ์ เป็นหนึ่งในจุดโจมตี ซึ่งแน่นอนผู้ก่อการร้ายนั้นได้ใช้กีฬาที่ถือเป็นเครื่องมือรับรู้ที่ดีที่สุดของทุกคน โกเมซ เสริมอีกว่า “มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ กีฬาถือเป็นเครื่องมือรับรู้อันถือเป็นเอกลักษณ์ประจำของทุกชาติก็ว่าได้ เพราะเหมือนช่วยรวมทุกคนเข้าด้วยกัน สนามกีฬาก็เกิดจากโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นจึงถือเป็นจุดโจมตีที่น่าโปรดปรานเป็นอย่างยิ่ง แถมเป็นที่ๆ สื่อให้ความสนใจค่อนข้างสูง”
เธียร์รี บริลลาร์ด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกีฬาฝรั่งเศส ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเพิ่มการรักษาความปลอดภัย แต่แค่คำพูดของนักการเมืองแค่นั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่นและสร้างการรับรู้ที่เพียงพอให้ประชาชน เพิ่มงบประมาณให้กับเมืองต่างๆ ที่จะเป็นเจ้าภาพ ยูโร จัดตำรวจและทหารควบคุมตามจุดสาธารณะต่างๆ นำโดยแฟนโซน, ช่องทางขนส่งสาธารณะ อาจรวมไปถึงบริเวณชายแดนของสหภาพยุโรป เหล่านี้ถือเป็นคำถามที่ต้องตอบ เพราะหากทำไม่ได้เมื่อถึงวันแข่งหากมีสัญญาณอันตรายอาจมีการยกเลิกโรงแรม บริษัททัวร์ต่างๆ ก็จะสูญเสียรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล
ก่อนหน้านี้ชาติที่เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่าง โอลิมปิก 2012 ลอนดอน เกมส์, โอลิมปิก ฤดูหนาว 2014 ที่โซชิ และ เวิลด์ คัพ 2014 ที่ บราซิล ล้วนเตรียมมาตรการรับมือเอาไว้อย่างพร้อมสรรพโชคดีเหตุการณ์รุนแรงไม่เกิด แต่จากนี้ถือเป็นของจริงที่ ฝรั่งเศส ต้องเผชิญ การโจมตีที่กรุงปารีสได้สร้างเสียงสะท้อนที่มีขนาดใหญ่ไปสู่ทุกวงการและมีผลกระทบอย่างมากต่อประชากรของโลก โดยตอนนี้ยังคงเร็วเกินไปที่จะวัดผลที่ตามมาอย่างเต็มรูปแบบ แต่เชื่อว่าอีกไม่นานก็คงจะรู้