ผู้จัดการรายวัน 360 - นับเป็นอีกหนึ่งทัวร์นาเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก สำหรับศึกวอลเลย์บอล “เวิลด์ กรังด์ ปรีซ์” เพราะเป็นเวทีคัดเลือกชาติหัวกะทิระดับโลกมาประชันฝีมือกันเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้เรื่องของเจ้าภาพจัดการแข่งขันรอบสุดท้ายแต่ละครั้งจะสลับหมุนเวียนกันไป ซึ่งในปี 2016 ประเทศไทยได้รับเลือกให้รับหน้าเสื่อ ซึ่งจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 กรกฎาคม 2559 โดยเชื่อว่าแฟนลูกยางคงเตรียมนับวันรอกันไว้แล้ว แต่ก่อนจะถึงวันนั้นยังมีอีกหลายอย่างที่ไทยต้องรับมือเพื่อให้ทุกอย่างออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด ประกอบด้วยหัวข้อต่างๆ ดังนี้
- สนามจัดการแข่งขัน
ทางสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย ยังคงยืนยันที่จะใช้สนาม อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก ที่เคยใช้เป็นสังเวียนรอบแบ่งกลุ่มเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เนื่องจากทางการกีฬาแห่งประเทศไทย ยินดีที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยในเรื่องค่าใช้จ่ายและส่งเจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกในการดำเนินการต่างๆ แม้จะต้องเตรียมแผนขยายที่นั่งเพิ่มเป็น 10,000 ที่ จากเดิมที่จุได้ราวๆ 6,000 ที่ เพื่อรองรับบรรดาแฟนลูกยางทั่วโลกที่จะเดินทางมาชมแมตซ์ใหญ่ครั้งนี้
ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะต้องทำการรื้อที่นั่งเดิมออกทั้งหมด เพื่อที่จะรองรับผู้ชมได้กว่า 10,000-15,000 คน และเชียร์กันในบรรยากาศการแปลกตากับเก้าอี้ปูนเปลือย แต่ถือว่าคุ้มค่าในการใช้สนามแห่งนี้ เพราะแผนเดิมของสมาคมฯ คือการใช้ อิมแพ็ค อารีนา เมืองทองธานี ซึ่งในมีค่าใช้จ่ายต่อการเช่าสนาม 5 วัน ถึง 12,000,000 บาทถือว่าสูงเกินความจำเป็น
- เทคโนโลยีใหม่
อีกหนึ่งสิ่งที่เราจะได้เห็นนอกจากสนามแข่งขันที่เปลี่ยนไปแล้ว ตามกฎของสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติ บังคับให้มีจอยักษ์ภายในสนาม เพื่อถ่ายทอดจังหวะอารมณ์ สีหน้าผู้เล่น หรือภาพรีเพลย์การเล่นสำคัญๆ รวมทั้ง “ตาข่ายแอลอีดี” คือตาข่ายที่ขึงอยู่กลางสนามแข่งจะสามาถรองรับการฉายภาพได้นั่นเอง ซึ่งจะส่งตรงมาจากสหพันธ์ สำหรับประเทศที่ได้จัดแข่งขันสนามสุดท้ายได้ใช้เท่านั้น ทั้งนี้ยังไม่รวมจอยักษ์ถ่ายทอดสดบริเวณรอบสนามแข่งขันอีกด้วย
- บัตรเข้าชม
นับเป็นปัญหาของสมาคมฯ ที่ต้องหาวิธีจัดการกับบัตรเข้าชมที่ไม่เพียงพอ และเกิดช่องว่างให้ตั๋วผีกักตุนโก่งราคา ซึ่งเบื้องต้น "บิ๊กติ๋ม" ร.ท.ชาญฤทธิ์ วงษ์ประเสริฐ นายกกิติมศักดิ์สมาคมวอลเลย์บอลฯ เผยว่า จะพิจารณาให้มีการลดโควต้าบัตรต่อคนจากเดิม 1 คนซื้อได้ 4 ใบ เป็น 1 คนซื้อได้ 2 ใบ ในการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ และจะแบ่งจำนวนบัตรออกมา 25% เพื่อจำหน่ายให้แฟนวอลเลย์บอลที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด หรือแฟนต่างชาติ ได้หาซื้อกันหน้าสนาม
แม้ว่าจะเป็นการแข่งขัน เวิลด์ กรังด์ ปรีซ์ สนามสุดท้าย แต่ทางสมาคมฯ ก็ยืนยันที่จะจำหน่ายตั๋วในราคาเดิมกับการเป็นเจ้าภาพรอบแบ่งกลุ่ม นั่นคือ เริ่มต้นตั้งแต่ราคา 200, 300 และ 500 เพราะสิ่งที่ต้องการไม่ใช่กำไรจากการจำหน่ายบัตร แต่เป็นการมอบความสุขให้แฟนลูกยางนั่นเอง
- ซุปตาร์ลูกยางแน่นสนาม
เนื่องจากวอลเลย์บอลระดับโลกครั้งนี้ จัดขึ้นก่อนรอบคัดเลือกวอลเลย์บอล โอลิมปิก 2016 เพียง 1 เดือน และมีโอกาสที่ชาติใหญ่ๆ อย่าง อเมริกา, บราซิล, ญี่ปุ่น หรือ จีน จะส่งผู้เล่นชุดสำรองเข้าแข่งขัน ทางสมาคมฯ จึงได้วางแผนประสานงานกับสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติในการออกกฎข้อบังคับให้ทุกชาติส่งผู้เล่นชุดใหญ่เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 9 คน ไม่เช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าร่วมรายการ เวิลด์ กรังด์ ปรีซ์ ในครั้งถัดไป ซึ่งจะส่งผลต่อคะแนนสะสมอันดับโลกแน่นอน
สำหรับการเป็นเจ้าภาพสนามสุดท้าย ลูกยางสาวทีมชาติไทย จะได้สิทธิ์ลงเล่นโดยอัตโนมัติ พร้อมกับอีก 5 ทีมที่มีอันดับรอบแรกดีที่สุด ขณะที่รูปแบบการแข่งขัน จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 3 ทีม แล้วเอาอันดับ 1-2 ของแต่ละกลุ่ม ไปเล่นในรอบรองชนะเลิศต่อไป