ASTV ผู้จัดการรายวัน – ที่ผ่านมาบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่มักมองว่า “ร้านเกม” คือสถานที่ต้องห้าม เนื่องจากเป็นแหล่งรวมตัวของลูกหลานจนดึกจนดื่นไม่ได้สร้างประโยชน์อะไร แถมเกมส่วนใหญ่ที่เล่นกันก็นิยมความรุนแรงเป็นพวกแนวต่อสู้หรือสงคราม จนนำมาสู่การทะเลาะเบาะแว้ง บ้างก็หนักข้อไปถึงขั้นที่ต้องหาเงินมาซื้อไอเทมเพื่อจะนำไปเพิ่มศักยภาพจะได้สามารถเล่นชนะคนอื่นๆ
ที่เอ่ยมาคือเหตุผลบางส่วนที่ทำให้เรื่องการเล่นเกมไม่ค่อยได้รับการยอมรับในประเทศไทย ต่างจากต่างชาติที่มีการแข่งขัน “อี-สปอร์ต” (Electronic sports) บรรจุในศึกระดับชาติที่เพิ่งผ่านพ้นไปอย่าง “เอเชียน อินดอร์ แอนด์ มาร์เชียล อาร์ตส์ เกมส์” ที่เมืองอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อปี 2013 ทีมที่ส่งแข่งก็มาจาก เกาหลีใต้, อูซเบกิสถาน, คาซัคสถาน, จีน, ไต้หวัน, มาเลเซีย และ เวียดนาม
แต่ล่าสุดถือว่าเริ่มแพร่หลายจนมีเกมเมอร์หัวใจไทยเพิ่งเปิดตัวทีม 1st.Acer ดีกรีแชมป์ประเทศไทย 2015 เพื่อเตรียมเข้าร่วมแข่งขันศึกชิงแชมป์โลก “Special Force World Championship 2015” ที่ประเทศไต้หวัน ในนาม “Acer Predator Team” ชิงเงินรางวัลมูลค่ากว่า 2,000,000 บาท
ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้กีฬาชนิดนี้มีผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็คือเงินรางวัลที่สูงขึ้นชนิดน่าตกใจ ทำให้วงการนี้ไม่ใช่เรื่องไก่กาอีกต่อไป ลบคำครหาที่หลายๆ คนเคยพูดไว้ว่า “อี-สปอร์ต” ไม่น่าจะประสบความสำเร็จระดับชาติ
อัครวัฒน์ ศิริการณ์ ผู้จัดการทีม Acer Predator Team เผยว่า “ปัจจุบันมีเด็กที่เล่นเกมอยู่ค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งเราจะต้องไปคอยสังเกตผู้ที่มาสมัครแข่งขันในแต่ละรายการ ว่าใครพอจะมีแววพัฒนาต่อไปได้บ้าง โดยจะดูจากการเล่นที่ชาญฉลาด ส่วนใหญ่ผู้ที่มาแข่งขันจะมีความคุ้นเคยกับเพื่อนๆ ที่ร่วมเล่นมาด้วยกันอยู่แล้ว จึงไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรมาก เหนืออื่นใดคือจะต้องมีทีมเวิร์คด้วย”
ซึ่งเมื่อมารวมกันเป็นทีมมีการแข่งขันที่เดิมพันด้วยแชมป์ ชื่อเสียงและเงินรางวัล จึงต้องฝึกซ้อมอย่างหนักไม่ต่างกับกีฬาอื่นๆ อัครวัฒน์ กล่าวอีกว่า “สำหรับเกม Special Force 2 ที่จะไปแข่งในปีหน้านั้น ประเทศไทยเพิ่งเปิดให้เล่นในปีนี้ ซึ่งเราจะต้องไปเจอกับชาติที่เป็นต้นตำรับอย่าง เกาหลีใต้ รวมทั้งญี่ปุ่น ที่ได้ทดลองเล่นเกมนี้มาก่อนเรา และไต้หวันที่เป็นเจ้าภาพก็ไม่สามารถประมาทได้ ทางทีมจึงได้มีการนัดรวมตัวกันทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อวางแผนการเล่น และแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าร่วมกัน ในขณะที่วันธรรมดาวันจันทร์-ศุกร์ ทุกคนจะไปทำหน้าที่ของตนเอง แต่ก็ยังซ้อมกันผ่านระบบออนไลน์ในช่วงดึก เพราะเราตั้งเป้าหมายว่าจะติด 1 ใน 4 ให้ได้ในการแข่งขันครั้งนี้”
ไม่ใช่แค่บรรดาผู้ปกครองเท่านั้นที่ช่วงแรกๆ ยังไม่ยอมรับ เพราะมองไม่เห็นลู่ทางทำเงินเพื่อหารายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องรวมถึงครอบครัวในอนาคต ยิ่งวงการกีฬาไทยแล้วไม่ยอมรับ “อี-สปอร์ต” เข้ามาเป็นกีฬาด้วยซ้ำ
สราวุธ ศุภจัตุรัส เจ้าของรองแชมป์ International esports federation 2013 เกม First Person Shooting ในฐานะกัปตันทีม เผยว่า “แต่ละทีมจะมีผู้เล่นประมาณ 5 คน รายได้หลักของผู้เล่นทุกคนมาจากการแข่งขันรายการย่อยๆ ที่จัดเกือบทุกสัปดาห์ ถ้าเป็นแชมป์ก็จะได้รับประมาณ 20,000-30,000 บาท แต่ถ้าเป็นรายการชิงแชมป์ประเทศไทยก็จะพุ่งสูงถึงหลักแสน และหลักล้านในเวทีโลก”
สำหรับ “อี-สปอร์ต” ในปัจจุบันนั้นจะเป็นภาคเอกชนให้การสนับสนุนเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงต่างๆ ห่วงเรื่องพฤติกรรมของเด็กติดเกมมากกว่าจึงออกมาตรการควบคุมบรรดาร้านเกมต่างๆ จนเหมือนเป็นสิ่งที่ตีตราว่าเด็กคนไหนที่เล่นเกมนั้นคือพวกมีเวลาว่างมากเกินไป ดังนั้นคงจะเป็นการยากที่จะมีการตั้ง สมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย ให้เกิดขึ้นได้จริงๆ
ส่วนเหตุที่ไทยไม่สามารถส่งกีฬา “อี-สปอร์ต” แข่งขันยังต่างประเทศระดับนานาชาติ เพราะขาดการรับรองจาก การกีฬาแห่งประเทศไทย ทั้งที่บรรดาเกมเมอร์ทั้งหลายก็มีรางวัลติดไม้ติดมือการันตีมาแล้วแทบทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรจะมองให้กว้างและมองเสียใหม่เปิดโอกาสส่งเสริมเพื่อให้เป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาสร้างชื่อเสียง เพราะการเล่นเกมก็ได้ฝึกการวิเคราะห์ วางแผน ใช้ปฎิญาณไหวพริบ ได้เหมือนกัน