“โอ้ย!เสียวว่ะ” หัวหน้าก๊วนตะโกนเสียงหลง
“เป็นอะไรเฮีย!” ลูกก๊วนตะโกนถามด้วยความตกใจที่เห็นเฮียชูวัย 65 ปี เหวี่ยงไม้ทิ้งแล้วทำท่ากุมหัวใจตัวงอ หลังการสวิงเบ่งอย่างหนักหน่วงที่หลุมพาร์ 3 ยาว….เฮียพูดไม่ออก ได้แต่กรอกหน้าด้วยความเจ็บปวดหน้าอกด้านซ้ายอย่างแรง
พักซุ้มก่อนให้ก๊วนหลังผ่าน” หมอประจำก๊วนสั่ง ก่อนเข้าปฐมพยาบาลและวินิจฉัยแยกโรค ทุกคนกลัวลูกพี่จะหัวใจวาย แต่พอได้พัก อาการก็ดีขึ้นเรื่อยๆ จะมีเจ็บแปล๊บขึ้นมาเวลาขยับตัว หรือยกแขนเท่านั้น ไม่มีอาการปวดร้าวไปที่หัวไหล่หรือแขนซ้าย หรือเหนื่อยหอบแต่อย่างไร…เฮ้อ!โล่งไปที
อาการเจ็บที่หน้าอกแบบไหนจึงเป็นอาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด?
ถ้ามีอาการเจ็บแบบเจ็บแปล๊บๆอยู่ดีๆก็เจ็บจี๊ดขึ้นมา โดยไม่สัมพันธ์กับการออกกำลัง อาจเจ็บมากขึ้นเวลาเอี้ยวตัวผิดท่า เป็นอยู่ประมาณไม่เกิน 1-2 สัปดาห์อาการก็หายไป แบบนี้เป็นการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกอักเสบ ซึ่งไม่เป็นอันตราย ทานยาคลายกล้ามเนื้อก็หาย
แต่หากจุดที่เจ็บอยู่ตรงกลางหน้าอก เจ็บบีบเหมือนมีของหนักกดทับ และมักมีอาการปวดร้าวไปที่กราม หลัง ไหล่ซ้าย หรือต้นแขนซ้าย บางครั้งเจ็บไปถึงลิ้นปี่ อาการสัมพันธ์กับการออกกำลัง มีหน้ามืด เหงื่อออก และเหนื่อยหอบ แบบนี้แหละที่น่าเป็นห่วง
สาเหตุของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพของหลอดเลือดตามวัย รวมไปถึงมีไขมันในเลือดสูง ยิ่งในคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายจะยิ่งทำให้ไขมันมาเกาะตัวได้มากขึ้น ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว เป็นเหตุให้หลอดเลือดอุดตันได้ง่ายขึ้นด้วย
ปัจจัยเสี่ยงมีดังนี้ คือ
- อายุมากขึ้น รวมถึงการสูบบุหรี่
- เพศชาย เป็นได้มากกว่าเพศหญิง
- มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง
- พันธุกรรม มีคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ
หากเกิดภาวะนี้ต้องนั่งพัก งดกิจกรรม งดการออกแรง หากมียาอมใต้ลิ้นก็ให้รีบอมยา หากนั่งพักแล้ว 10 -20 นาที ยังไม่หาย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ในรายที่เกิดอาการอุดตันจนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้เลย ก็จะต้องรีบรักษาด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจทันที ดังนั้นเมื่อมีอาการไม่ว่าจะเป็นครั้งแรกหรือครั้งเดียวก็ตาม ควรรีบมาพบหมอเพื่อจะได้ทำการรักษาในขณะที่อาการยังไม่มาก หากปล่อยไว้จะกลายเป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และโรคนี้รักษาแล้วไม่หายขาด อาจเป็นซ้ำที่อื่นได้อีก จึงควรป้องกันโดยเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงข้างต้น และเมื่ออายุ 40 ขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี มิฉะนั้นคุณอาจต้อง “ร้องไห้หนักมาก”
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *