xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ยัน “สายสวนหัวใจ” แบบเหมาโหลมีคุณภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สปสช. ยัน Stent รักษาหลอดเลือดหัวใจ สิทธิบัตรทอง ได้มาตรฐานสหรัฐฯ และอียู จวกซื้อแบบเหมาโหลทำผู้ป่วยตายมากเป็นการอ้างแบบลอยๆ เหตุงานวิจัยที่อ้างเป็นของปี 2548 แต่จัดซื้อแบบเหมาโหลทำปี 2552 ใช้วัดกันไม่ได้

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีกระแสข่าว “สเตนท์ (Stent)” หรือ ขดลวดค้ำยันผนังหลอดเลือดที่ใช้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในสิทธิบัตรทองไม่มีคุณภาพ เพราะซื้อแบบเหมาโหล ว่า สปสช. จัดซื้อ Stent รวมผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งมีคุณภาพและได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อย. สหรัฐฯ และมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมของสหภาพยุโรป โดยมอบให้ อภ.ดำเนินการจัดซื้อตั้งแต่ปี 2552 มีบริษัทผ่านมาตรฐานเข้ามาประมูลได้ 2 รายการ คือ สายสวนเพื่อขยายหลอดเลือดโคโรนารีด้วยขดลวดเคลือบยาต้านการตีบซ้ำ ยี่ห้อ Firebird ของบริษัท Thai Osuka โดยประมูลได้ในราคา 30,000 บาท และสายสวนเพื่อขยายหลอดเลือดโคโรนารีด้วยขดลวดไม่เคลือบยา ซึ่งได้ยี่ห้อ Liberte ของบริษัท Boston Scientific โดยประมูลได้ในราคา 6,800 บาท แต่หลังประมูลเสร็จ กลับถูกโจมตีว่า นำของที่ไม่มีมาตรฐานมาใช้กับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง เพราะ Stent ของบริษัท Thai Osuka ทำจากโรงงานในประเทศจีน ซึ่งข้อเท็จจริงพบว่า Firebird เข้ามาในไทยตั้งแต่ปี 2548 มีผลการวิจัยของ รพ.ศิริราช ว่า มีความปลอดภัยสูง

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ปัจจุบัน Stent ที่ สปสช. จัดหาก็ล้วนแต่ได้รับการรับรองคุณภาพจากสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ข้อกล่าวหาที่บอกว่า Stent ที่ สปสช. จัดหาไม่มีคุณภาพ เพราะซื้อแบบเหมาโหลเป็นอันตราย จึงเป็นข้อกล่าวหาลอยๆ ไม่มีหลักฐานและไม่มีมูลความจริง และการที่เอางานวิจัยของ รพ.รามาธิบดี มาอ้างนั้น ก็เป็นข้อมูลปี 2548 แต่ สปสช. จัดหา Stent ร่วม อภ. ในปี 2552 จึงไม่สามารถเอามาสรุปได้ว่า เป็นเพราะการจัดซื้อรวมของ สปสช. ทำให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองตายเยอะกว่าสิทธิข้าราชการ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น