xs
xsm
sm
md
lg

เหตุผลที่ให้ใช้รถกอล์ฟได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"วันนี้ขอใช้รถนะพี่...ปวดส้นตีนมาก!...เอ๊ยขอโทษ ปวดส้นเท้าน่ะพี่! ปวดมากเลย"

"เออๆ...เห็นใจวะ...เคยเป็น...รองช้ำนะ...ปวดบรรลัย!...ว่าแต่เอ็งออกค่ารถนะ...พี่นั่งด้วยคน จะได้บอกวิธีรักษาให้เอาบุญ"

อาการปวดส้นเท้าเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น ภาวะเส้นเอ็นหรือผังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "รองช้ำ" หรืออาจเกิดจากการกดทับของเส้นประสาทบริเวณส้นเท้า การบาดเจ็บจากการกระแทกของกระดูกส้นเท้า เช่น ตกจากที่สูง เป็นต้น

อาการสำคัญของโรคเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้าอักเสบ (Plamtar Jascitia) คือ ปวดส้นเท้าอย่างมากขณะก้าวลงจากเตียงก้าวแรกหลังตื่นนอน หรือก้าวแรกที่ลุกเดินหลังจากได้นั่งพักนานๆ แต่เมื่อได้เดินไปสักพัก อาการปวดกลับค่อยๆ ทุเลาลง ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ขณะที่เรานอน เอ็นใต้ฝ่าเท้าจะหดตัวพักอยู่ แต่พอเราเริ่มก้าวเท้าลงเดินจะมีการดึงกระชากของเส้นเอ็นอักเสบ จึงทำให้มีอาการเจ็บขึ้นมา

สาเหตุของโรคนี้อาจเป็นเพราะลักษณะงานที่ต้องยืนต้องเดินมาก การมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น พื้นรองเท้าแข็งเกินไป ในรายที่เป็นนานๆ และไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาการจะเป็นเรื้อรังและอาจเอ็กซเรย์หินปูนงอกมาเกาะบริเวณปลายกระดูกส้นเท้าด้วย

การรักษาที่ได้ผลดีในลำดับแรก คือการรักษาโดยวิธีอนุรักษ์นิยมคือการประคบร้อนและการนวดยืดเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้า วิธีที่มักแนะนำให้คนไข้นำไปทำคือให้เอาน้ำอุ่นใส่ขวดแม่โขงหรือขวดน้ำเปล่าแล้ววางบนผ้าหนาๆ เน้นว่าวางบนผ้าหนาๆ เพราะจะต้องขึ้นไปเหยียบ โดยใช้เท้าข้างที่ดีเป็นหลักและใช้เท้าข้างที่เป็นรองช้ำขึ้นไปเหยียบ เพื่อนวดคลึงและยืดเอ็นใต้ฝ่าเท้าพร้อมทั้งได้อบร้อนไปด้วยในตัว ทั้งที่จะสามารถควบคุมน้ำหนักที่จะกดลงบนขวดได้ ทำให้เอ็นหรือผังผืดใต้ฝ่าเท้าหายอักเสบได้เร็วจะได้ลดการกินยาแก้อักเสบแก้ปวดโดยไม่จำเป็น ทำวันละประมาณ 10-15 นาทีก็เพียงพอ นอกจากนี้อาจเปลี่ยนรองเท้าให้เหมาะสมคือรองเท้าที่มีส้นยกสูงขึ้นประมาณ 1 นิ้วถึง 1 นิ้วครึ่งและควรปรับลดกิจกรรมที่ต้องยืนหรือเดินนานเกินไป รวมทั้งควรลดน้ำหนักตัวลงด้วย

หากเป็นคนที่ชอบออกกำลังกายเป็นประจำควรปรับเปลี่ยนประเภทของการออกกำลังกายในช่วงที่มีอาการ โดยกีฬาที่เหมาะสมได้แก่ การว่ายน้ำ การเดินในน้ำ การปั่นจักรยาน หรือถ้าเป็นนักกอล์ฟก็อนุญาตให้ใช้รถกอล์ฟชั่วคราวได้

ทั้งนี้หากอาการดังกล่าวยังไม่ดีขึ้นแพทย์อาจพิจารณาฉีดยาต้านการอักเสบบริเวณส้นเท้าหรือใช้คลื่นกระแทกและยังมีวิธีฉีดเกล็ดเลือด ซึ่งได้จากการเจาะเลือดของผู้ช่วยมาปั่นแยกเอาเฉพาะเกร็ดเลือด แล้วฉีดเข้าไปในบริเวณเส้นเอ็นที่มีอาการอักเสบนั้น

ประมาณ 90 เปอร์เซนต์ของผู้ป่วยมักจะดีขึ้น หลังจาก 2 เดือนที่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม แต่หากไม่ได้ผล ขั้นตอนสุดท้ายคือการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผ่าตัดโดยใช้กล้องทำให้แผลเล็กและฟื้นตัวเร็ว

* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น