ASTVผู้จัดการรายวัน – เมื่อถึงเดือนเมษายนของทุกปี นอกจากกระแสความคึกคักแห่งเทศกาลวันสงกรานต์อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ในแบบไทยๆ ยังมีความสำคัญอีกประการหนึ่ง ด้วยว่าชายไทยวัยครบ 21 ปีบริบูรณ์ทุกคน ต้องตบเท้าเข้ารับคัดเลือกเป็นทหารกองเกินประจำปี ไม้เว้นแม้แต่นักกีฬาระดับทีมชาติ ที่ต้องเข้าร่วมคัดเลือกเกณฑ์ทหารด้วยเช่นกัน สำหรับปีนี้ในวงการกีฬาคงไม่มีใครที่จะฮือฮาไปกว่า "เจ้ามุ้ย" ธีรศิลป์ แดงดา กองหน้าตัวเก่งของ "กิเลนผยอง" เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ยืดอกร้องขอเป็นทหารอากาศ ผลัด 1 โดยไม่ต้องลุ้นจับ ใบดำ-ใบแดง ให้เสียเวลา
แม้ที่ผ่านมาจะการคัดเลือกทหารกองเกิน จะมีเพียง 3 เหล่า ประกอบด้วย ทหารบก, ทหารอากาศ และทหารเรือ ทว่า พล.ต.ท ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่าในปี 2559 เตรียมจะเปิดการเกณฑ์ตำรวจเพิ่มเข้าไปอีกประมาณ 10,000 นาย เพื่อแก้ปัญหากำลังพลขาดแคลน ซึ่งจะใช้วิธีการเดียวกับ การเกณฑ์ทหารคือ จับใบดำ-ใบแดง และมีการรับสมัครเช่นกัน นับเป็นโอกาสอันดีที่ชายไทยโดยทั่วไป หรือแม้แต่นักกีฬา ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ จะมีโอกาสก้าวขึ้นไปรับใช้ชาติในเครื่องแบบสีกากี เฉกเช่น "ซิโก้" ร.ต.ท. เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง หัวหน้าผู้ฝึกสอนฟุตบอลทีมชาติไทย หรือ พ.ต.ท. วิจารณ์ พลฤทธิ์ สารวัตร งานอำนวยการ สถานีตำรวจภูธรฟากท่า จ.อุตรดิตถ์ ที่เคยเป็นอดีต นักมวยเหรียญทองโอลิมปิก เมื่อปี 2000 ที่ประเทศ ออสเตรเลีย มาก่อน
ซึ่งในโอกาสนี้ ทีมข่าว MGRsport ได้จังหวะนั่งจับเข่าคุยถึงประสบการณ์ของนักกีฬาทีมชาติไทย ระดับตำนาน ที่ผันตัวเลือกเดินเส้นทางสีกากีอย่างเต็มตัว อย่าง "โจ้หลังเท้า" พ.ต.ต.สืบศักดิ์ ผันสืบ อดีตนักตะกร้อชาวไทย ที่พกสถิติสวยหรูพาทีมชาติไทย คว้า 7 เหรียญทองกีฬา เอเชียนเกมส์ ก่อนที่จะประกาศอำลากลิ่นสาบเหงื่อแห่งการฝึกซ้อม ไปรับบทบาทใหม่ในชุดสีกากี เมื่อปี 2010 หลังจบศึก กวางโจวเกมส์ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยจีน ด้วยตำแหน่งล่าสุดสารวัตรงานป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน
อดีตนักตะกร้อชาวไทย เท้าความให้ฟังถึงความฝันในวัยเด็กด้วยการวางเป้าเส้นทางของตัวเอง จะต้องเข้ารับราชการตำรวจสถานเดียวเท่านั้น " ตั้งแต่เด็กใครถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ผมก็ตอบอย่างหนักแน่นตลอดว่าอยากเป็นตำรวจ ตอบแบบไม่มีเหตุผล เพราะเราเห็นภาพว่าตำรวจเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์และปกป้องประชาชน จนกระทั่งเรียนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก็ไปสอบนายร้อยตำรวจ ทุ่มเทสุดชีวิตทั้งความรู้และ ดีกรีทางด้านกีฬาในตอนนั้น สมัยก่อนการเข้า นายร้อยยังมี โควต้านักกีฬาอยู่ แต่เหมือนเป็นดวงที่ยังไม่เข้าข้างเรา เนื่องจากทางโรงเรียน นายร้อยรับทั้งนักกีฬาที่มีความสามารถทั้งด้าน ฟุตบอล , บาสเกตบอล และ กรีฑา แต่ไม่มี ตะกร้อ ตอนนั้นจึงยังสอบไม่ผ่าน”
“ช่วงที่ผิดหวังจากการสอบ ผมก็ยังมีความตั้งใจเช่นเดิม เพียงแต่โอกาสยังไม่เอื้ออำนวย กระทั่งมัธยมฯ 6 มีโอกาสไปคัดตัวนักกีฬาเยาวชนทีมชาติ ซึ่งก็ติด สุดท้ายผมมานั่งคิดดูว่า ถึงไม่ได้เป็นตำรวจก็ไม่เป็นไร เมื่อชีวิตถูกกำหนดมาให้เดินเส้นทางสายที่มุ่งหน้าสู่การเป็นนักกีฬา เราก็ต้องเดินไปให้สุดท้าย จากนั้นก็ตั้งหน้าตั้งตาฝึกซ้อมจนสามารถประสบความสำเร็จได้ในระดับที่ผมเองก็ต้องยอมรับว่าพอใจกับชีวิตนักกีฬา” สืบศักดิ์ ย้อนความหวังวันวาน
แม้จะผิดหวังในครั้งแรกกับการเข้ารับราชการตำรวจ ทว่าดูเหมือนว่าโชคชะตาจะเข้าข้าง อดีตนักหวดลูกหวายหน้าหล่อรายนี้ ในจังหวะที่เขากำลังหวนคิดถึงวันวานว่าอยากกลับไปเดินตามฝันของตัวเองด้วยการเป็นตำรวจอีกครั้ง ประจวบเหมาะกับช่วงโอกาสที่ได้พบกับ พล.ต.อ. สันต์ ศรุตานนท์ ใน การแข่งขันกีฬา ซีเกมส์ 2001 ที่ประเทศ มาเลเซีย จึงตัดสินใจ เดินเข้าไปขอโอกาสเข้าไปรับราชการ
"ผมจำได้ดีเลย เมื่อปี 2544 พล.ต.อ. สันต์ ศรุตานนท์ ที่เป็นนายกสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทย และยังดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับบัญชาตำรวจแห่งชาติด้วย เดินทางมาที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อเยี่ยมเยียนให้กำลังใจนักกรีฑาทีมชาติไทย บังเอิญผมซึ่งเป็นนักกีฬาตะกร้อก็พักอยู่ที่โรงแรมเดียวกัน มีโอกาสพบท่านที่ห้องอาหารของโรงแรม วันนั้นไม่ทราบเหมือนกันว่าคิดอะไร แต่ที่แน่ๆ คืออยากเป็นตำรวจ อาศัยว่าเรามีผลงานอยู่แล้ว เลยตัดสินใจเดินเข้าไปพบท่าน จังหวะประจันหน้ากันท่านก็ถามสารทุกข์สุขดิบ ก่อนที่ผมจะเรียนท่านไปตรงๆ ว่า ท่านครับผมอยากเป็นตำรวจ พล.ต.อ.สันต์ ท่านก็ดีใจหายเลย บอกว่าเอาสิ มีผลงานมีอะไรก็ลองมาสอบดู" สืบศักดิ์ กล่าวอย่างหนักแน่น
หลังจากที่ได้พบกับ ผบ.ตร. ในขณะนั้น ปีถัดมา สืบศักดิ์ ก็สามารถสอบเข้าไปเป็นตำรวจได้สำเร็จ เจ้าตัวจำได้แม่นว่าเป็นวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 ดำรงตำแหน่งแรกคือ พลสำรองพิเศษ กองกำกับการสายตรวจ 191 ซึ่งก็ทำหน้าที่ งานธุรการเอกสารทั่วไป ซึ่งช่วงนั้นยังต้องซ้อมตะกร้ออยู่แต่ด้วยความใจรักก็จะปลีกเวลามาทำงาน ที่ 191 ตลอด
"ผมติดยศแรกเป็นพลสำรองพิเศษก่อน ต่อมาเป็นพลสมัคร ชีวิตราชการก็ไต่เต้าเรื่อยมาเป็นสิบตำรวจตรี และสิบตำรวจโท ซึ่งตอนที่เป็น สิบตำรวจโท เรียนจบปริญญาโทพอดี ทำให้ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผบ.ตร.ขณะนั้นปรับตำแหน่งขึ้นให้เป็น ร.ต.ต เมื่อปี 2551 จากนั้นอีก 8 เดือนจึงได้ขึ้น ร.ต.ท. สองปีต่อมาได้เป็น ร.ต.อ. หลังจากนั้นไม่นานจึงตัดสินใจเลิกเล่นตะกร้อ”
ทั้งนี้เส้นทางการเดินของ “โจ้หลังเท้า” ไม่เหมือนกับนักกีฬาระดับตำนานรายอื่น ที่ส่วนมากจะกลับไปเป็น ผู้ฝึกสอน ให้กับทีมชาติไทย ซึ่งเหตุผลของเขาคือเริ่มอิ่มตัวกับวงการไปเรียบร้อยแล้ว
“เหตุผลสำคัญที่ผมตัดสินใจอำลาทีมชาติ เนื่องจากตอนนั้นติดยศร้อยตำรวจตรี ยิ่งรู้สึกว่าอยากทำงาน เพราะก่อนหน้านี้ ชีวิตวนเวียนอยู่กับกีฬามาตลอด ปีสุดท้ายก่อนเลิกเล่น พูดได้เลยว่า เวลาตื่นมาซ้อมแทบจะขอโค้ชว่า ไม่ซ้อมได้หรือไม่ อยากแข่งเลยเพราะผมซ้อมจนทุกอย่างมันเป็นอัตโนมัติ รู้วิธีหมดแล้วว่า จะทำอย่างไรให้เรามีร่างกายดี มีกำลังใจ ไม่กังวลอะไร “ อดีตจอมเสิร์ฟเท้าหนัก เผย
“ซึ่งแม้จะไม่อยากซ้อม แต่ผมถือเป็นนักกีฬารุ่นพี่ ทุกปีมีนักกีฬาน้องใหม่เข้าสู่แคมป์ทีมชาติ จะมาออกอาการขี้เกียจ หรืองอแงไม่ได้ เพราะเราเป็นที่จับจ้อง และอยู่ในสายตานักกีฬารุ่นใหม่ตลอดเวลา อีกทั้งในระบบการฝึกซ้อมมันต้องอยู่ในวินัยเหมือนกันหมด ถึงไม่อยากซ้อมก็ต้องซ้อม ต้องเป็นแบบอย่าง ส่วนตัวพูดตรงๆ เลยผมอึกอัดมาก ต้องซ้อมกีฬาทั้งที่ผมอยากไปทำงาน แต่ต้องอดทน คนเราไม่ใช่ว่าอยู่ๆ แล้วมันจะเก่งได้เลย ผมรู้ดีว่ากว่าจะมีนักกีฬาเก่งๆ ขึ้นมามันใช้เวลานานมาก ซึ่งผมก็ใช้เวลาหมดไปมากกับการซ้อม ผมเก็บตัวถึง 2 ปี กว่าจะได้ไปแข่งขันเอเชียนเกมส์ ที่กวางโจว ซึ่งพอจบการแข่งขัน ก็ประกาศเลิกเล่นในทันที ผมคิดว่าพอแล้วกับกีฬาตะกร้อ และไม่คิดจะไปเป็นผู้ฝึกสอนอีกด้วย”
ตำนานเสิร์ฟหลังเท้ากล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อช่วงต้นปี 2558 หลังกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ประกาศเลื่อนยศจาก ร.ต.อ.ขึ้นมาเป็น พ.ต.ต. และย้ายมาประจำการทำงานในตำแหน่ง สารวัตรงานป้องกันและปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน โดยมีหน้าที่หลักคือการป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่
แม้ในสายงานดังกล่าวอาจไม่โลดโผนเหมือนการทำหน้าที่มือปราบ ทว่าสารวัตรหมาดๆ วัย 37 ปี ที่ดูแลงานด้านสายตรวจ ยืนยันว่าเป็นงานสำคัญไม่แพ้การทำคดีใหญ่ๆ เช่นกัน "งานสายตรวจก็เป็นหนึ่งในงานป้องกันและปราบปราม ก็มีหลากหลาย มีทั้งงานมวลชนที่ใช้ ในการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งก็เป็นงานที่ผู้บังคับบัญชาให้ความสำคัญมาก อย่างสายตรวจต้องไปเจอประจำกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่คาดไม่ถึง แม้จะเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ ทั่วไป เช่นการช่วยเหลือประชาชนที่รถเสียบนถนนหลวง หรือ มีชาวบ้านขอความช่วยเหลือข้างทาง เราก็ต้องช่วยให้ได้ทุกอย่างมันอาจจะไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่ แต่พอเราช่วยเขาเสร็จแล้ว เรากลับมีความสุขใจบางอย่างที่ไม่อาจอธิบายเป็นคำพูดได้ เห็นชาวบ้านที่เดือดร้อนมาคลายทุกข์ เราก็สบายใจ ทำให้ประชาชนมองเห็นตำรวจในภาพที่บวกมากยิ่งขึ้นด้วย
ด้วยความเป็นซูเปอร์สตาร์ในวงการกีฬาของเมืองไทย “สารวัตรโจ้” ยอมรับว่าประชาชนทั่วไปยังคงติดภาพลักษณ์นักกีฬาของจอมเสิร์ฟหลังเท้าอยู่ แม้จะแต่งเครื่องแบบเต็มยศออกปฏิบัติหน้าที่ ทว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานมวลชนแต่อย่างใด
“ผมอยากให้มองที่บทบาทและหน้าที่มากกว่า เราอยู่ในสายงานป้องกันและปราบปราม ซึ่งเป็นงานมวลชนชื่อเสียงที่เรามีตอนเป็นนักกีฬา มันก็อาจจะทำให้งานง่ายขึ้น เพราะทุกคนรู้จักตัวเราดีอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่ออกขอความร่วมมือ ตรวจบัตรประชาชนตามสถานบันเทิง ประชาชนส่วนใหญ่จะจำได้ มาขอถ่ายภาพด้วย ซึ่งผมไม่ขัดข้องเลย ขอแค่ผมทำงานก่อน เสร็จแล้วมา ใครจะมาถ่ายรูปคู่กัน มาเลย ถึงแม้ผมจะเป็นอดีตนักกีฬามีชื่อเสียง มียศ พ.ต.ต. แต่ผมไม่ถือตัวเลย ถ้าผมถือตัวแล้วผมจะช่วยชาวบ้านได้อย่างไร ผมต้องทำงานกับประชาชน ใครจะมาขอความร่วมมือก็เต็มใจ ไม่เคยเกี่ยงสักครั้ง”
ขณะที่การเป็นนักกีฬาผู้โด่งดังจากวงการตะกร้อ แล้วก้าวมาทำหน้าที่สารวัตรงานป้องกันและปราบปราม อาจถูกมองอย่างหมิ่นเหม่เรื่องความสามารถในวงการสีกากี ซึ่ง สืบศักดิ์ กล่าวว่าเขาไม่เคยมีปัญหากับผู้ใต้บังคับบัญชาเลย โดยต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี เหมือนที่ชีวิตไม่เคยด่างพร้อยเมื่อครั้งเป็นนักกีฬา
"วันแรกที่ผมรับตำแหน่ง พ.ต.ต. มาถึงสถานีตำรวจ มีออกตรวจสายตรวจ ก็แนะนำตัวเองเลยว่าผม พันตำรวจตรีสืบศักดิ์ ผันสืบ ทุกคนรู้อยู่แล้วตั้งแต่วันคำสั่งออก และก็มานั่งคุยกันเลยว่า คุณอาจจะรู้จักผมมาในนามนักกีฬา แต่วันนี้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงมอบหมายคำสั่งให้มาทำงาน อยากจะขอความร่วมมือให้ทำงานด้วยกันอย่างเต็มที่ ซึ่งเราก็คิดมาตลอดว่า ทำอย่างไรให้เขาอยากทำงานกับเรา ซึ่งก็ต้องมีวิธีพูด และวิธีปฏิบัติ ชีวิตนักกีฬา กับชีวิตตำรวจไม่เหมือนกันแน่ แต่บางอย่างก็ปรับใช้กันได้ เหมือนเมื่อครั้งที่เราเป็นนักกีฬารุ่นพี่ ก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับรุ่นน้อง เป็นผู้บังคับบัญชาของตำรวจชั้นผู้น้อย เราก็ต้องปฏิบัติกับเขาด้วยความระมัดระวังไม่ใช้ตกเป็นข้อครหาได้เช่นกัน"
สำหรับอนาคตวงการสีกากี “สารวัตรโจ้” ยืนยันว่า ไม่ได้ตั้งเป้าเอาไว้ เนื่องจากมองว่าการเข้ารับราชการตำรวจถือเป็นกำไรชีวิตแล้ว "ตอนนี้ทุกอย่างเป็นกำไรของชีวิตหมด เพราะเรามีโอกาสสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ แล้วก็สร้างชื่อเสียงตัวเอง ไปไหนมีคนรู้จัก มีคนให้ความร่วมมือตลอด ถือเป็นความโชคดีส่วนตัวที่เราได้มาจากกีฬา อย่างได้โอกาสมาเป็นสารวัตร เจ้านายก็เน้นย้ำมาตลอดว่า ให้ตั้งใจทำงาน โดยรวมแล้วความคิด ผมตอนนี้สบายๆ ทำงานอย่างเดียว สร้างเครือข่ายการทำงาน สร้างความเป็นมิตรกับประชาชนทุกฝ่าย ไม่มีอะไรขาดทุนแล้ว อันไหนดีเราก็เก็บไว้ ส่วนเรื่องที่ไม่ดีที่เจอมาก็เป็นประสบการณ์ไป”
"ทุกคนรับราชการก็มีเป้าหมายหมด อยากอยู่ในความก้าวหน้า ไปจนระดับที่หวังไว้ แต่สำหรับผมแล้วทุกวันนี้ใช้ชีวิตมีความสุข ทำงานเต็มที่มีเพื่อนและผู้บังคับบัญชาที่เข้าใจ ไม่ต้องคิดอะไรมาก ถ้าเราจะได้ก็คือวาสนาของตัวบุคคล ตอนนี้มองว่าทุกอย่างฟ้าลิขิตไว้แล้ว เราไปฝืนมันไม่ได้ เพียงแต่เราทำอะไรได้วันนี้ก็ต้องทำให้ดีที่สุด"
พร้อมกันนี้ ตำนานวงการลูกหวายไทย ยังได้ฝากไปถึงนักกีฬารุ่นน้องในวงการตะกร้อ ถึงแนวคิดการดำเนินชีวิตด้วยประสบการณ์ที่มีมากว่า 37 ปี ว่า “กีฬาตะกร้อ เราคงไปเปรียบเทียบกีฬาอื่นไม่ได้ เพราะกีฬาชนิดนี้ได้รับความนิยมเพียงทวีปเอเชีย ไม่เหมือนกีฬาฟุตบอลหรือกีฬาอื่นที่เป็นกีฬาอาชีพ จบจากการเป็นนักกีฬายังไปทำงานระดับสโมสรอื่นๆ ได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือทุกคนต้องมองหาอาชีพที่จะเลี้ยงตัวเมื่อต้องปลดระวางจากการรับใช้ชาติด้วย”
“ ผมเคยถูกเชิญให้ไปพูดคุยกับเด็กนักเรียนที่ตั้งเป้าอยากเป็นนักกีฬาทีมชาติ ซึ่งเป้าหมายนั้นไม่ผิดเลย แต่การที่อยากเล่นกีฬาอย่างเดียว ไม่อยากเรียนอีกต่อไปแล้ว ได้โควต้าเข้าเรียนมหาลัยมีชื่อเสียงก็ไม่ต้องการ ผมต้องอธิบายกับนักกีฬาเหล่านี้ให้เปลี่ยนความคิด ว่าต่อให้ติดทีมชาติจริงๆ เล่นกีฬาได้สักพักพออายุเข้าสู่ปลายอาชีพ จะรู้ทันทีเลยว่าตัวเองไม่มีหลักประกันเลย จึงต้องให้ความสำคัญกับการเรียนควบคู่กันไปด้วย”
“หากว่าเราเรียนจบ สามารถหางานอาชีพอื่น หรืออย่างน้อยๆ หากว่ามีวุฒิการเรียนระดับปริญญาตรี ควบคู่ไปกับการเล่นกีฬา เราสามารถใช้ความสามารถด้านกีฬาเข้าทำงานในหน่วยงานต่างๆ ได้ อีกทั้งเรื่องการเรียนในมหาวิทยาลัย ยังมีความช่วยเหลือจากรุ่นพี่ รุ่นน้อง จบไปสามารถชักนำไปสู่หน้าที่การงานที่ดีได้ ดังนั้นผมจึงปลูกฝังนักกีฬา และคนใกล้ชิดเสมอว่าให้เห็นความสำคัญของการเรียนให้มากที่สุด”
สุดท้าย พ.ต.ต. สืบศักดิ์ ผันสืบ ยังเผยถึงนักกีฬาทีมชาติทุกคน ที่ใฝ่ฝันอยากจะมาเป็นตำรวจว่า หากมีโอกาสเข้าสู่แวดวงสีกากีได้ ขอให้ตั้งใจทำงานเพื่อส่วนรวมให้มากที่สุด “อยากให้ทุกคนที่เข้ามาได้ก็ให้ขยันทำงาน มันเป็นความมั่นคงของชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ผมว่าสายกีฬาได้เปรียบเรื่องความขยัน อดทน ซึ่งเป็นเรื่องที่นักกีฬาต้องมีอยู่แล้วกว่าจะประสบความสำเร็จ ต้องอดทน กดดัน ทุกอย่างมันผ่านมาหมดแล้ว ทีเหลือแค่มาปรับใช้กับงานนิดหน่อย อย่าคิดว่าเราเป็นดารา หรือเป็นซูเปอร์สตาร์ ต้องทำงานกับทุกคนได้หมด ขอให้ทุ่มเทกับการงานให้มาก วันนี้ไม่เห็นผล ไม่เป็นไร วันหน้าต้องมีคนเห็นแน่"
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *