เอเยนซี - จิมมี คอนเนอร์ส, จอห์น แม็คเอนโร, จิม คูเรียร์, พีท แซมพราส, อังเดร อากัสซี, ไมเคิล ชาง และ แอนดี ร็อดดิค คือ นักเทนนิสรุ่นต่อรุ่นที่การันตีได้ว่า สหรัฐอเมริกา คือหนึ่งในชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในวงการเทนนิสชาย แต่ต้องวงเล็บว่าเมื่อครั้งอดีต เพราะปัจจุบันไร้นักหวดเลือดใหม่ติดท็อปเทนของโลก
นักเทนนิสสัญชาติสหรัฐฯ ที่อันดับสูงสุดตอนนี้ที่ 14 ของโลกคือ จอห์น อิสเนอร์ แถมคว้าแชมป์ระดับอาชีพได้เพียง 9 รายการ ส่วนผลงานระดับ แกรนด์ สแลม ดีที่สุดคือเข้ารอบ 8 คนสุดท้าย “ยูเอส โอเพน” เมื่อปี 2011 อีกทั้งเมื่อกวาดสายตาไปยังท็อป 100 ของประเทศ มีดังนี้ โดนัลด์ ยัง อันดับ 48, สตีฟ จอห์นสัน อันดับ 55, แจ็ค ซอค อันดับ 56, แซม เคอร์เรย์ อันดับ 61และทิม ซมิเชค อันดับ 92 ทั้งไม่มีวี่แววว่าใครจะมาเป็นอัศวินม้าขาวปลุกชีพของวงการให้เฟื่องฟูขึ้นมาอีกครั้ง
โฆเซ ฮิเกราส อดีตนักเทนนิสชาวสเปนยุคปี 1973-1986 คือโค้ชผู้ปลุกปั้น ชาง ที่เคยทำอันดับสูงสุดที่ 2 ของโลกปี 1996 ให้คว้าแชมป์ เฟรนช์ โอเพน ปี 1989 ตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี 4 เดือน รวมถึงช่วยให้ คูเรียร์ ซิวสแลมได้ถึง 4 รายการ (เฟรนช์ โอเพน 1991,1992 และออสเตรเลียน โอเพน 1992,1993) จนขึ้นแท่นบัลลังก์สูงสุดของโลกปี 1992 และเคยร่วมงานกับผู้เล่นระดับแนวหน้าอย่างคาร์ลอส โมยา, แซมพราส, กิเยร์โม โคเรีย และโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ปัจจุบันเปิด “โฆเซ ฮิเกราส เทนนิส เทรนนิง เซนเตอร์” ที่ปาล์ม สปริง แคลิฟอร์เนีย อีกทั้งยังทำงานกับ “สมาคมพัฒนานักเทนนิสสหรัฐอเมริกา” มองว่าปัญหาตอนนี้อยู่ที่ตัวผู้เล่นเอง ที่ดูจะไม่มีการพัฒนา
“วงการเทนนิสสหรัฐฯตอนนี้ตกต่ำมาก ทำให้ผมนอนไม่หลับ ผู้เล่นของเราดูจะด้อยความสามารถ เวลาลงแข่ง พวกเขาต่างได้รับการฝึกฝนทั้งแบ็กแฮนด์, โฟร์แฮนด์ และการเสิร์ฟเป็นอย่างดี แต่กลับไม่เข้าใจว่าควรจะงัดแท็กติกใดมาใช้สยบคู่ต่อสู้ พวกเรามีโค้ชที่ดีแล้ว แต่วัฒนธรรมของผู้เล่นต้องมีการปรับปรุงขนานใหญ่ ผมจะไม่อ้างว่า ส่วนใหญ่นักกีฬาที่มีชื่อเสียงในปัจจุบัน มักจะอยู่ในวงการฟุตบอล หรือบาสเกตบอล แต่ถ้าประเทศเราไม่มีกีฬาสองชนิดนี้ บางทีอาจมีเด็กหนุ่มหันมาตีเทนนิสมากขึ้นก็ได้ และเมื่อไหร่ที่เรามีจำนวนโค้ชมากกว่าผู้เล่น เวลานั้นเราคงวิกฤต” อดีตโค้ชวัย 61 ปีกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีอดีตนักหวดชาวสหรัฐฯ ซึ่งเคยติดในท็อป 40 ของโลก แต่ไม่อาจเปิดเผยตัวเองได้ เพราะเกรงจะกระทบต่อหน้าที่การงาน เผยปัจจัยอื่นที่มากระทบว่า “สมัยก่อน ตนเองต้องพยายามเค้นฟอร์มทำผลงานให้ดีที่สุดในแต่ละรายการ เพื่อที่จะนำเงินมาค่าจ่ายที่พัก แต่ปัจจุบันเหล่าผู้เล่นหลายคนได้เงิน ได้ที่พักฟรี และสิทธิ์ไวลด์การ์ด ชีวิตพวกเขาช่างสบาย นอกจากนี้ ยังเคยได้รับการบอกเล่าจากเพื่อนโค้ชด้วยกันว่า สมัยนี้ผู้เล่นดาวรุ่งอเมริกาบางคน เลือกที่จะปฏิเสธการซ้อมที่กินเวลามากกว่า 45 นาที เพราะกลัวเหนื่อย และเสียเวลาทำอย่างอื่น”
ด้าน ร็อดดิก ซึ่งเป็นผู้เล่นสหรัฐฯ คนสุดท้ายที่ชูถ้วย แกรนด์ สแลม คือ “ยูเอส โอเพน 2003” และเป็นผู้เล่นจากบ้านเกิดคนสุดท้ายที่ได้นั่งแท่นมือ 1 ของโลก (พฤษศจิกายน 2003 / 13 สัปดาห์) เป็นอีกหนึ่งคนที่กังวลกับวงการเทนนิสในประเทศ หลังจากช่วง 10 ปีหลัง ยังไม่เคยมีใครก้าวขึ้นมาทดแทนเหล่าสตาร์รุ่นพี่ได้เลย และชี้ว่าขั้นแรกเลยควรจะหวังให้บรรดาดาวรุ่งกลับมาติด 50 อันดับแรกของโลกก่อน
“ในประเทศนี้ เป็นเรื่องของการต่อสู้ และคิดว่าเราต้องมีการพัฒนา และมั่นใจกับระบบเยาวชน ตนสร้างชื่อขึ้นมาช่วงปลายยุคของ อากัสซี กับ แซมพราส จากนั้นผู้คนก็เริ่มหมดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราต้องมองหาใครสักคนที่พอจะมาเป็นความหวังได้ แต่ก็เป็นความรู้สึกที่นานเกินไปกับการรอคอยความสำเร็จ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถหาซื้อกันได้ ตอนนี้คงหวังได้เพียงแค่ให้บรรดาดาวรุ่งกลับมายืนใน 50 อันดับแรกให้ได้ก่อน และทุกอย่างน่าจะเริ่มต้นได้ดีอีกครั้ง” อดีตจอมเสิร์ฟหนักวัย 31 ปีเผยกับ “ฟ็อกซ์ สปอร์ต”
ถึงแม้ในประเภทชายเดี่ยว จะยังไม่มีใครที่ก้าวขึ้นมาได้อย่างเด่นชัดนัก แต่ในประเภทคู่ นอกจาก บ็อบ-ไมค์ ไบรอัน พี่น้องเจ้าของแชมป์ แกรนด์ สแลม ประเภทคู่ 15 รายการ วัย 36 ปีแล้ว คนประเทศอเมริกันเพิ่งได้ทำความรู้จักกับ ซอค หนุ่มวัย 21 ปี ซึ่งจับคู่กับ วาเซค พอสพิซิล จากแคนาดา ล้มคู่แฝด ไบรอัน ครองแชมป์ชายคู่ “วิมเบิลดัน 2014” ได้อย่างยิ่งใหญ่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนที่ปลายเดือนเดียวกัน ทั้งสองจะต่อยอดช่วยกันหยิบแชมป์ที่แอตแลนตา ร่วมกันอีกหนึ่งรายการ จนทำให้อันดับโลกในประเภทคู่ พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 23
อย่างไรก็ดี ถ้าดูแค่ประเภทเดี่ยว ก็มีเพียงแค่ อิสเนอร์ และ เคอร์เรย์ เท่านั้น ที่มีประสบการณ์ในการคว้าแชมป์มาบ้าง (รายหลังเคยได้แชมป์อาชีพ 7 รายการ แต่ครั้งสุดท้าย ต้องย้อนกลับไปปี 2012) แต่ก็มักจะประสบปัญหาฟอร์มการเล่นไม่สม่ำเสมอ ตอนนี้แฟนลูกสักหลาดสหรัฐฯ ก็ทำได้แค่หวังว่าจะมีดาวรุ่งดวงใหม่ขึ้นมาในเร็ววัน ซึ่งหากจบศึก แกรนด์ สแลม สุดท้ายของปี 2014 “ยูเอส โอเพน” ที่จะเริ่มวันที่ 25 สิงหาคมนี้ แล้วยังไม่เห็นแววใครเข้าตา ก็อาจจะพูดได้เต็มปากว่าถึงจุดจบของวงการเทนนิสชายอเมริกาแล้ว
* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *