xs
xsm
sm
md
lg

รางวัลเกียรติยศฟุตบอลโลก 2014 / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

ทีมชนะเลิศการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิวนั้น นอกจากจะได้รับ ฟีฟ่า เวิร์ลด์ คัพ โทรฟี่ เหรียญรางวัล รวมถึงเงินรางวัลที่มีจำนวนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับผลงานของแต่ละทีมแล้ว ยังมีการพิจารณารางวัลอื่นๆ อีกมากมาย

ในช่วงปี 1930-70 นั้น ทีมชนะเลิศฟุตบอลโลกได้รับ เวิร์ลด์ คัพ ไปครองเป็นระยะเวลา 1 ปี โดย ฟีฟ่า สัญญาว่า ทีมใดที่ชนะเลิศครบ 3 ครั้งก็จะได้โทรฟี่นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ไปเลย ในระหว่างนั้น ปี 1946 ชื่อของโทรฟี่ถูกเปลี่ยนมาเป็น ชุล รีเม (Jules Rimet) เป็นเกียรติแก่ ประธาน ฟีฟ่า คนที่ให้กำเนิดการแข่งขันฟุตบอลโลก และ บราซิว ก็ได้แช้มพ์ครบ 3 หนในปี 1970 ได้ ชุล รีเม โทรฟี่ ไปเป็นกรรมสิทธิ์

หลังจากนั้นมา ฟีฟ่า สั่งทำโทรฟี่ใหม่เป็นทองคำ 18 กะรัต และใช้ชื่อว่า ฟีฟ่า เวิร์ลด์ คัพ โทรฟี่ คราวนี้ไม่มีการมอบให้ทีมชนะเลิศเป็นกรรมสิทธิ์อีกแล้ว แม้จะชนะกี่หนก็ตาม แต่ให้ครอบครองถึงเพียงฟุตบอลโลกหนต่อไปเท่านั้น พร้อมกันนั้นก็ทำของเทียมชุบทองมอบให้แทน โดยมีเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญบรอนซ์ให้แก่ นักเตะ และเจ้าหน้าที่ทีม 3 อันดับแรกอีกด้วย จะมีพิลึกหน่อยก็ในปี 2002 ที่ดันทำเหรียญรางวัลให้อันดับ 4 ด้วยคือ เกาหลีใต้ ที่เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการแข่งขัน

นอกจากนั้น ยังมีรางวัลอื่นๆ ที่น่าสนใจคือ นักเตะยอดเยี่ยมในแต่ละนัด ที่เรียกว่า แมน อ็อฟ เดอะ แม็ทช์ ซึ่งมีการเปิดให้ผู้ชมจากทั่วโลกร่วมโหวทด้วย รางวัลลูกบอลทองคำ มอบให้นักเตะยอดเยี่ยมประจำทอร์นาเม้นท์ อันนี้เริ่มมาตั้งแต่ฟุตบอลโลก 1982 ที่ สเปน

รางวัลรองเท้าทองคำ มอบให้นักเตะที่ทำประตูสูงสุดในทอร์นาเม้นท์ ซึ่งถ้ามีผู้ทำประตูสูงสุดเท่ากัน 2 คนหรือมากกว่านั้น เขาก็มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อให้รางวัลเพียงคนเดียวคือ นำเอาจำนวนการผ่านบอลให้เพื่อนทำประตูได้มาเปรียบเทียบกัน ใครทำได้มากกว่าก็เป็นผู้ได้รับรางวัลนี้ไป แล้วถ้ายังเท่ากันอีก คราวนี้ก็มาดูกันว่าใครใช้เวลาในการลงเล่นน้อยกว่ากัน ทั้งนี้ การยิงประตูด้วยการเตะจุดโทษในเวลาปกติหรือในช่วงต่อเวลาพิเศษนั้นก็นับเป็นการทำประตูด้วย แต่การดวลจุดโทษเพื่อหาทีมชนะเมื่อจบ 120 นาทีนั้น ไม่ให้นำมานับรวมนะครับ

รางวัลถุงมือทองคำ มอบให้ผู้รักษาประตูยอดเยี่ยมประจำทอร์นาเม้นท์ โดยทีมงานวิจัยเทคนิคของ ฟีฟ่า จะเป็นผู้พิจารณาตัดสินให้ผู้รักษาประตูที่เหมาะสมเอง รางวัลนี้เพิ่งเริ่มมอบกันครั้งแรกใน ฟุตบอลโลก 1994 โดยคนที่ได้รับรางวัลคนแรกคือ มีเชล ปรูด็อม ผู้รักษาประตูทีมชาติเบลเจี่ยม ปี 1998 เป็น ฟาเบียง บารเต๊ซ ของ ฝรั่งเศส ปี 2002 โอลิเวอร์ คาน ทีมชาติเจอรมานี ปี 2006 จานลุยจิ บุฟฟอน อิตาลี และ ปี 2010 อีเคร กาซีย้าส สเปน รางวัลนี้ถูกใช้ชื่อว่า ยาชิน อวอร์ด เพื่อให้เกียรติแก่ เลฟ ยาชิน อดีตผู้รักษาประตูฉายา แมงมุมดำ หรือ เสือดำ ของ สหภาพโซเวียต ในยุคปี 1950-70

รางวัลนักเตะดาวรุ่งยอดเยี่ยม มอบให้แก่นักเตะที่เพิ่งเล่นฟุตบอลโลกหนนี้เป็นหนแรก และมีอายุไม่เกิน 21 ปีเศษเท่านั้น นั่นคือต้องไม่เกิดก่อนวันที่ 1 มกราคม 1993 อันนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นแค่นักเตะที่อายุน้อยแต่ยิงประตูได้เยอะแล้วจะได้รับการยกย่องให้เป็นนักเตะดาวรุ่งยอดเยี่ยม แต่ ฟีฟ่า มีความต้องการสรรหานักเตะที่เต็มเปี่ยมไปด้วย ทักษะ สตายล์การเล่นล้ำเลิศ มีพรสวรรค์ รวมทั้ง เล่นอย่างขาวสะอาด และที่สำคัญ ต้องแสดงให้เห็นว่า เล่นจากหัวจิตหัวใจด้วยรักในเกมฟุตบอล ซึ่งก็เป็นอีกรางวัลที่ทีมงานวิจัยเทคนิคของ ฟีฟ่า จะเป็นผู้พิจารณาตัดสิน

อีกรางวัลหนึ่งก็คือ แฟร์ เพลย์ อวอร์ด มอบให้ทีมที่มีสถิติการเล่นที่ขาวสะอาดที่สุด นั่นคือสกปรกน้อยที่สุด อันนี้คงพิจารณาได้ไม่ยาก สามารถนับคะแนนได้จากการโดน ใบเหลือง ใบแดง น้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม เขาจะพิจารณาให้เฉพาะทีมที่ได้ผ่านเข้าสู่ รอบ น็อค เอ๊าท์ เท่านั้น แม้เล่นสุภาพเหลือเกิน แต่ตกรอบแรกก็ไม่เอาครับ

* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น