xs
xsm
sm
md
lg

บทสรุปฤดูกาลปกติ NBA “เลอบรอน-เคดี” ชิง MVP

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เคดี” ลุ้นปลดล็อก MVP
เอเยนซี - ศึกบาสเกตบอล เอ็นบีเอ (NBA) กำลังจะปิดฉากเร็คกูลาร์ ซีซัน 2013-14 อย่างเป็นทางการ วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายนตามเวลาประเทศไทย อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญที่ไม่แพ้การประลองความแม่นรอบเพลย์ออฟ คงหนีไม่พ้นการประกาศรางวัลต่างๆ โดยเฉพาะผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) ซึ่งปีนี้ เลอบรอน เจมส์ กับ เควิน ดูแรนท์ ถือเป็นตัวเต็ง โดยมี เบลค กริฟฟิน เป็นตัวสอดแทรก ขณะที่ดาวรุ่งก็ดุเดือดไม่แพ้กัน เนื่องจาก 3 การ์ดอย่าง ไมเคิล คาร์เตอร์-วิลเลียมส์, วิคเตอร์ โอลาดิโป และ เทรย์ เบิร์ก ต่างก็มีดีพอๆ กัน ตามการคาดการณ์ของ “Bleacher Report” สื่อดังของสหรรัฐฯ

1. ผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP)
หลายๆ ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยของ เลอบรอน เจมส์ ซูเปอร์สตาร์ ไมอามี ฮีต ก็มากเกินพอสำหรับตำแหน่งผู้เล่นทรงคุณค่า 26.9 แต้ม 6.9 รีบาวนด์ 6.5 แอสซิสต์ หากมองจากปัจจัยอื่นๆ “คิงเจมส์” นำ แชมป์เก่า ทำผลงานดีสุดของสายตะวันออก แม้มีการบาดเจ็บรบกวน และ ดีเวย์น เหว็ด การ์ดคู่หู ก็มีปัญหาด้านสภาพร่างกาย จนต้องพัก 22 เกม

ในส่วนของ โอกลาโฮมา ซิตี ธันเดอร์ เองก็ไม่แตกต่างกัน เสียทั้ง รัสเซลล์ เวสต์บรูก การ์ดจ่ายตัวเก่ง ที่ต้องผ่าเข่า 2 ครั้ง, เคนดริก เพอร์กินส์, ธาโบ เซโฟโลชา ปลายเดือนกุมภาพันธ์ต่อต้นเดือนมีนาคม รวมถึง เรจจี แจ็คสัน การ์ดสำรอง ยังมาเจ็บหลังอีกราย แต่กระนั้น “โอเคซี” ยังคงมีลุ้นขนะ 60 เกม ท่ามกลางโปรแกรมหฤโหดของสายตะวันตกยิ่งกว่าอีกฟากหนึ่งของ ไมอามี ฮีต

แน่นอน เสาหลักของ “สายฟ้า” คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก เควิน ดูแรนท์ ด้วยค่าเฉลี่ยปิดสกอร์อันดับ 1 ของลีก 32.0 แต้ม จ่อคว้าแชมป์ทำคะแนนสมัย 4 และมีแนวโน้มจะจบเร็คกูลาร์ซีซันแบบสวยหรู 50-40-90 (ฟิลด์โกล 50.8 เปอร์เซ็นต์ ยิง 3 แต้ม 40.5 เปอร์เซ็นต์ ลูกโทษ 87.4 เปอร์เซ็นต์) และยังช่วยปั้นเพื่อนร่วมทีมมากสุดตลอดอาชีพ 5.6 แอสซิสต์

ระหว่างการช่วงชิงกันเองของ 2 สุดยอดฟอร์เวิร์ดสายตะวันออกและตะวันตก เบลค กริฟฟิน จอมดังค์จาก แอลเอ คลิปเปอร์ส ก็แจ้งเกิดขึ้นมาในฐานะซูเปอร์สตาร์เกรดพรีเมียมอีกรายหนึ่ง โดยเฉพาะการขาดหายไปของ คริส พอล การ์ดจ่ายแม่ทัพช่วงกลางฤดูกาล และ โยอคิม โนอาห์ เซ็นเตอร์จอมขยันจาก ชิคาโก บูลล์ส ที่ก้าวมาเป็นตัวหลักแทน เดอร์ริค โรส ที่บาดเจ็บ และ ลูโอล เดง ที่ถูกเทรดไป คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส แต่ทั้งคู่ก็น่าจะทำได้เพียงอันดับ 3 เท่านั้น

2. โค้ชยอดเยี่ยม
ดูเหมือนจะไมม่มีใครโดดเด่นเกินกว่า เกร็ก โพโพวิช จาก ซาน อันโตนิโอ สเปอร์ส ซึ่งผนึกกำลัง ทิม ดันแคน ผู้เล่นแห่งแฟรนไชส์ คว้าชัยเกิน 50 เกม ตลอด 16 จาก 17 ฤดูกาล (มีเพียงฤดูกาล 1999 ที่มีการล็อกเอาต์ ทำให้โปรแกรมลดลงเหลือ 50 เกม) แม้ว่า เจฟฟ์ ฮอร์นาเซ็ก กับ สตีฟ คลิฟฟอร์ด จะเข้ามาพลิกชะตาสมันน้อยอย่าง ฟีนิกซ์ ซันส์ และ ชาร์ล็อตต์ บ็อบแค็ทส์ กลายเป็นทีมระดับลุ้นตั๋วเพลย์ออฟ ทั้งที่ยังเป็นโค้ชมือใหม่

“โค้ชพ็อพ” เข็นแฟรนไชส์ที่มีแกนหลักที่อายุอานามเลยเลข 3 กันไปแล้วอย่าง ดันแคน, โทนี พาร์เกอร์ และ มานู จิโนบิลี ซึ่งต้องคอยถนอมความสด เพื่อลุ้นแชมป์สมัย 5 สร้างสถิติชนะมากสุดของทีม 19 เกมรวด พิชิตคู่แข่งช่องว่างเฉลี่ย 8.4 แต้ม การเติม มาร์โก เบลิเนลลี จอมแม่นชาวอิตาเลียน เพียง 1 คน ถือเป็นการแต่งทัพที่ขจัดความอ่อนล้าของผู้เล่นตัวเก๋า ส่วนขุมกำลังที่เหลืออย่าง แพทตี มิลล์ส หรือ คอรีย์ โจเซฟ ก็ขึ้นมาแบ่งเบาภาระ พาร์เกอร์ ที่เหน็ดเหนื่อยกับการแบก ฝรั่งเศส คว้าแชมป์บาสเก็ตบอลยุโรปสมัยแรก ช่วงซัมเมอร์ที่แล้ว

3. ผู้เล่นพัฒนาฝีมือยอดเยี่ยม
การช่วงชิงตำแหน่งผู้เล่นพัฒนาฝีมือยอดเยี่ยมถือว่าดุเดือดไม่แพ้ “รุกกี ออฟ เดอะ เยียร์” ตรงกันข้ามยังมีจอมแม่นอีกหลายรายที่เหมาะสมกับเกียรติยศดังกล่าว อย่าง จอห์น วอลล์, แอนโธนี เดวิส, แลนซ์ สตีเฟนสัน, เดอมาร์ เดอโรซานหรือ เดออังเดร จอร์แดน

วอลล์ ติดโผ “ออล-สตาร์” ครั้งแรก หลังจากรักษาสภาพร่างกายมาตลอดซีซัน พัฒนาด้านการจัมพ์ชูต โดยเฉพาะการยิง 3 แต้ม แม่นสุดในอาชีพ 36.3 เปอร์เซ็นต์ ปิดสกอร์สูงสุด 19.8 แต้ม เช่นเดียวกับ เดอโรซาน (29.9 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งประสานงานกับ คายล์ ลอว์รี พา โตรอนโ แร็พเตอร์ส เข้าเพลย์ออฟ แม้เทรด รูดี เกย์ ให้ ซาคราเมนโต คิงส์ ตั้งแต่ต้นซีซัน สตีเฟนสัน กับ เซิร์จ อิบากา ก็เริ่มจะโดดเด่น เมื่ออยู่กับแฟรนไชส์ที่กำลังคั่วแชมป์อย่าง อินเดียนา เพเซอร์ส และ โอกลาโฮมา ซิตี ธันเดอร์ เจรัลด์ กรีน กับ มาร์เคียฟฟ์ มอร์ริส ต่างก็เป็นขุมกำลังแห่งอนาคตของ ฟีนิกซ์ ซันส์

หากพิจารณาอย่างจริงจัง คงไม่มีใครพัฒนาชนิดก้าวกระโดดเฉกเช่น เดวิส นัมเบอร์วันดราฟต์ 2012 ที่กำลังยกระดับจากดาวรุ่งขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้เล่นดีสุด บางทีตอนนี้อาจมีเพียงรุ่นพี่อย่าง เควิน ดูแรนท์ กับ เลอบรอน เจมส์ ขวางทางอยู่ โดย หนุ่มจากมหาวิทยาลันเคนตักกี ทำค่าเฉลี่ย “ดับเบิล-ดับเบิล” 20.8 แต้ม 10.0 รีบาวนด์ แม้จะยังไม่สามารถเข็น นิวออร์ลีนส์ เพลิแกนส์ เข้ารอบเพลย์ออฟก็ตาม

ส่วนอีกรายหนึ่งที่น่าจับตามอง เห็นจะเป็น จอร์แดน เซ็นเตอร์ แอลเอ คลิปเปอร์ส ซึ่งทำสถิติรีบาวนด์สูงสุด 13.9 ครั้ง ยิงฟิลด์โกล 66.9 เปอร์เซ็นต์ รั้งอันดับ 3 การบล็อก 2.45 ครั้ง และเป็นกำลังสำคัญขันน็อตเกมรับใต้แป้น ทีมใของ ด็อค ริเวอร์ส

4. ดาวรุ่งยอดเยี่ยม (Rookie Of The Year)
คาร์เตอร์-วิลเลียมส์ ถือเป็นตัวเต็งด้วยฟอร์มอันร้อนแรงซึ่งโดดเด่นทั้งเกมรุกและรับช่วงต้นฤดูกาล ประเดิมสนามซัด “ดับเบิล-ดับเบิล” 22 แต้ม 12 แอสซิสต์ กับ 9 สตีล สร้างเซอร์ไพรส์โค่น ไมอามี ฮีต แชมป์เก่า 114-110 ผลงานเฉลี่ย 16.7 แต้ม 6.1 แอสซิสต์ ทว่า จอมแม่นวัย 22 ปี มีมลทินด้านเปอร์เซ็นต์ฟิลด์โกลที่ดูจะต่ำเกินไป 39.9 เปอร์เซ็นต์ ส่อง 3 แต้ม 25.6 เปอร์เซ็นต์ ลูกโทษ 69.2 เปอร์เซ็นต์ รวมถึง ซิกเซอร์ส สร้างทาบสถิติพ่ายรวดสูงสุดของลีก 26 เกม

ด้าน โอลาดิโป ที่ลงเล่นตัวจริงน้อยกว่า “MCW” แต่ผลงานน่าประทับใจไม่น้อยจากค่าเฉลี่ย 14.2 แต้ม 4.2 แอสซิสต์ ส่องฟิลด์โกลแม่นยำ 41.7 เปอร์เซ็นต์ ทว่าในส่วนของ เบิร์ก ดูจะมีภาษีดีกว่าเพื่อน หากมองด้านผลงานของต้นสังกัด เนื่องจากสถิติ แจซซ์ ชนะมากกว่า ฟิลลี กับ แมจิก แม้จะจมบ๊วยสายตะวันตก ทำค่าเฉลี่ย 12.4 แต้ม 5.5 แอสซิสต์ ยิงฟิลด์โกล 37.9 เปอร์เซ็นต์

5. สำรองยอดเยี่ยม (Sixth Man Award)
จามาล ครอว์ฟอร์ด จอมแม่น แอลเอ คลิปเปอร์ส เป็นตัวเต็งชนิดนอนมา (17.6 แต้มต่อเกม) แม้จะมีการบาดเจ็บรบกวนอยู่บ้าง แต่ก็เคยปิดสกอร์หลัก 30 แต้ม ถึง 5 เกม โดยมี 4 เกม ที่ออกสตาร์ทบนม้านั่ง แถมมีส่วนสำคัญต่อ ทีมของ ด็อค ริเวอร์ส ซึ่งมีสถิติชนะ 19 แพ้ 9 หาก ครอว์ฟอร์ด ซัดมากกว่า 20 แต้ม ส่วนอันดับรองๆ อย่าง มาเคียฟฟ์ มอร์ริส กับ เจกรัลด์ กรีน พลังหนุ่ม ฟีนิกซ์ ซันส์ ก็มีผลงานน่าประทับใจไม่แพ้กัน โดยรายแรก สวมบทสำรองทุกเกม เหมา 18.5 แต้ม มากสุดอันดับ 3 และ นิค ยัง เต็ง 3 ถึงจะตกต่ำกับ แอลเอ เลเกอร์ส แต่ก็ทดแทน โคบี ไบรอันท์ การ์ดแม่ทัพ ที่เจ็บพักทั้งซีซันได้ไม่น่าเกลียด แบกทีม 17.5 แต้มต่อเกม มากกว่า เพา กาซอล เสียอีก

* * *คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “MGR SPORT” รับข่าวสารแวดวงกีฬาชนิดเกาะติดขอบสนามคลิกที่นี่เลย!!* * *


“โค้ชพ็อพ” ชิงกับโค้ชแห่งปีกับมือใหม่
“เดวิส” เริ่มสมราคาดราฟต์เบอร์ 1
“เบิร์ก” ชนะมากกว่าเพื่อน
“ครอว์ฟอร์ด” สำรองทีเด็ด “คลิปส์”
กำลังโหลดความคิดเห็น