xs
xsm
sm
md
lg

ยิงจุดโทษ ยังหยุดยึกยักได้หรือไม่ / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เกมการแข่งขันฟุตบอล โตโยต้า ไทย พรีเมียร์ ลีก 2014 สัปดาห์แรกผ่านไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับข้อสงสัยของแฟนบอลหลายคนเกี่ยวกับลูกจุดโทษจากจังหวะปัญหาช่วงท้ายเกม ทำให้ เมืองทอง ยูไนเต็ด พลิกกลับมาเอาชนะ ชัยนาท ฮอร์นบิล เอฟซี ไปได้ 2-1 นักเตะนกใหญ่พิฆาตไม่เห็นด้วยกับการตัดสินจนเกิดการประท้วงกันวุ่นวายไปพักหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้น หลังจบเกม พวกเขายังสร้างความเสียหายในห้องพักทีมเยือนอีกด้วย แฟนบอลหลายคนตั้งคำถามว่า จังหวะนั้น มันเป็นการทำฟาวล์และต้องโดนจุดโทษจริงหรือ และการยิงจุดโทษของ มาริโอ ยูร็อฟสกี้ ( Mario Gjurovski ) โดยมีการหยุดหนึ่งจังหวะก่อนนั้น ผิดกติกาหรือไม่

ผมได้ชมเกมในวันนั้นด้วย แต่เป็นการชมจากการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ซึ่งมีการฉายภาพช้าให้ชมกันชัดๆ แล้วภายหลังยังได้มาดูคลิพวีดิโอใน ยูทู้บ อีกหลายเที่ยว อันนี้ทำให้ผมได้เปรียบ อลงกรณ์ ฝีมือช่าง ผู้ตัดสินในนัดดังกล่าว ที่มีโอกาสได้เห็นเพียงครั้งเดียวและต้องตัดสินใจภายในวินาทีนั้นด้วย จึงนับว่า การมองของผมกับ อลงกรณ์ มันได้เปรียบเสียเปรียบกันหลายเท่าตัว อย่างไรก็ตาม ผลการพิจารณาจังหวะปัญหาของผม อลงกรณ์ ทำหน้าที่ผิดพลาดครับ กฤษกร เกิดผล ผู้รักษาประตูของ ชัยนาท ไม่ได้ทำฟาล์ว ไม่สัมผัสตัว ปิยะพล ผานิชกุล เลยด้วยซ้ำ

ผมจะไม่พูดถึงการรับงานของผู้ตัดสิน การตั้งใจโกงผลการแข่งขัน ตั้งใจตัดสินให้จุดโทษดื้อๆเมื่อสบโอกาสนะครับ เพราะอันนั้นคงหาหลักฐานมาพิสูจน์ลำบาก มันจะถูกหาว่าเป็นการปรักปรำกันเปล่าๆ แต่สิ่งสำคัญก็คือ หากการตัดสินของ อลงกรณ์ มีปัญหาให้เกิดความคลางแคลงใจอยู่อย่างสม่ำเสมอ อันนี้ผู้เกี่ยวข้องก็ต้องหยิบมาพิจารณาเสียที มันเป็นวิธีการง่ายๆ ในยุคที่ฟุตบอลไทยต้องการความโปร่งใส ขาวสะอาด ยุติธรรม เพื่อให้ผลการแข่งขันเป็นไปตามธรรมชาติ อย่าให้คนไทยที่ตั้งใจทำทีมอย่างบริสุทธิ์ใจต้องพ่ายแพ้ต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือพ่ายแพ้ต่อขบวนการที่เป็นศูนย์รวมของแก๊งค์เหล่าร้ายซึ่งมันมีอยู่จริงๆ ในประชาคมฟุตบอลของไทยนะครับ

สำหรับการยิงจุดโทษนั้น ตามกฎของ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า อันล่าสุด คือของปี 2013/2014 นั้น มีการให้รายละเอียดเกี่ยวกับการยิงจุดโทษไว้ในหมวดที่ 14 เรื่องการเตะจุดโทษ ( The Penalty Kick ) ซึ่งกล่าวเพียงว่า การจะให้ลูกโทษนั้นต้องเกิดจากการทำฟาล์วในเขตโทษซึ่งมีอยู่ 10 ประการ จะตั้งลูกบอลตรงไหน ผู้เล่นต้องยืนตรงไหน กระบวนการขั้นตอนการเตะเป็นอย่างไรบ้าง แล้วเมื่อผู้ตัดสินให้สัญญาณเตะได้แล้วดันเกิดมีการทำผิดกติกาโดยฝ่ายที่ได้ลูกโทษ หรือฝ่ายที่เสียลูกโทษ หรือทั้งสองฝ่าย แล้วจากจังหวะนั้น เตะลูกโทษเข้าประตู ผู้ตัดสินจะต้องทำอย่างไร เตะไม่เข้าประตู ต้องทำอย่างไร อันนี้ไม่ได้พูดถึงการวิ่งไปแล้วหยุดหนึ่งจังหวะก่อนยิงเลย

การสังหารจุดโทษที่ผู้ยิงมักจะหลอกผู้รักษาประตูด้วยการวิ่งไปแล้วหยุดชะงักหนึ่งจังหวะก่อนยิงนั้น ลีลาแบบนี้นิยมกันมากใน ประเทศบราซิว เรียกว่า ปาราดินญา ( Paradinha ) หมายถึง การหยุดยึกยักจังหวะหนึ่งก่อนที่จะเตะ ซึ่งเขาบอกว่า มันไม่แฟร์สำหรับผู้รักษาประตู คนยิงวิ่งไปแกล้งทำเป็นเตะหลอก ผู้รักษาประตูก็พุ่งไปผิดทาง แล้วหมอนี่ก็ซัดใส่ตาข่ายโล่งๆ

ผมจำได้ว่า ในเดือนพฤษภาคม 2010 ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ อัฟริกาใต้ ได้มีการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงกติกาเกี่ยวกับการยิงลูกโทษ โดย คณะกรรมการบริหารสมาคมฟุตบอลนานาชาติ ( International Football Association Board – IFAB ) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแล ออกกฎ กติกาของเกมฟุตบอลได้ปรับเปลี่ยนกฎ ไม่ให้ผู้รับหน้าที่สังหารจุดโทษหลอกผู้รักษาประตูด้วยการวิ่งไปแล้วหยุดชะงักอีกต่อไป แต่ยังไงก็ไม่ทราบครับ ผมก็ยังเห็น Paradinha อยู่จนปัจจุบัน และกติกาดังกล่าวก็ไม่เห็นได้รับการระบุเพิ่มเติมให้ชัดเจนลงในหมวด 14

ยิ่งไปกว่านั้น ผมไปเจอ บทขยาย ของหมวด 14 นี้ มีระบุไว้ว่า “ Feinting to take a penalty kick to confuse opponents is permitted as part of football. However, if in the openion of the referee the feinting is considered an act of unsporting behavior the player shall be cautioned. ” หมายความว่า อนุญาตให้หลอกได้ครับ ถือเป็นเสน่ห์ของฟุตบอล แต่ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้ตัดสินด้วยว่า ถ้าเป็นการเอาเปรียบคู่ต่อสู้อย่างไม่มีน้ำใจนักกีฬา ผู้ตัดสินก็ลงโทษได้ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น