ASTVผู้จัดการรายวัน / เอเยนซี - มหกรรมกีฬาแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “ซีเกมส์” ครั้งที่ 27 เปิดฉากขึ้นแล้วอย่างเป็นทางในวันนี้ (พุธที่ 11 ธันวาคม 2556) ซึ่งถือเป็นการกลับมาเป็นเจ้าภาพครั้งแรกของ พม่า ในรอบ 44 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 อีกทั้งยังเป็นหนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ที่ประเทศซึ่งเคยโดนปิดกั้นด้านเสรีภาพ ได้ทำหน้าที่ต้อนรับแขกผู้มาเยือน โดยใช้กีฬาเป็นสื่อกลางให้เพื่อนบ้านเข้าถึง พม่า ได้ง่ายยิ่งขึ้น
สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หรือ “พม่า” นามที่ชาวไทยคุ้นหูกัน ตกอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารมานาน ที่ผ่านมามีสหประชาชาติ องค์กรต่างๆ รวมถึงบรรดานักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย ออกมาช่วยกันต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ จนกระทั่ง เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีคนปัจจุบันเปิดใจให้มีการปรองดองกันมากขึ้น นำมาสู่การปฏิรูปประเทศครั้งสำคัญ มาวันนี้ พม่า ที่ห่างเหินการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ไปนานถึง 44 ปี ได้รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพเปิดประตูต้อนรับคณะนักกีฬาหลายพันคนจากทั้งหมด 10 ชาติ ไม่ว่าจะเป็น บรูไน, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ติมอร์ เลสเต, สิงคโปร์ รวมทั้ง ไทย
ครั้งนี้ พม่า ได้เนรมิต “นครเนปิดอว์” เมืองหลวงแห่งใหม่ขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ โดยมีอีก 3 เมืองอย่าง ย่างกุ้ง, มัณฑะเลย์ และ ปาเต็ง ช่วยกันรองรับการชิงชัย 460 เหรียญทอง ซึ่งสิ่งที่ทีมข่าว MGR Sport สัมผัสได้คือ มาตรฐานสิ่งก่อสร้างต่างๆ ถือว่าใหม่แกะกล่อง มีโรงแรมที่พักมากกว่า 25 แห่งในการต้อนรับแขกบ้านแขกเรือน รวมทั้งหมู่บ้านนักกีฬาถูกออกแบบได้อย่างทันสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ขณะที่ สนามวันนะ เต็กกี สังเวียนฟาดแข้งนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลชาย ซึ่งมีความจุ 3 หมื่นที่นั่ง พร้อมด้วย อินดอร์ สเตเดียม, สปอร์ต คอมเพล็กซ์ และเพรสเซ็นเตอร์ ค่อนข้างอลังการงานสร้างทีเดียว
การเดินทางในเนปิดอว์ ถือว่าสะดวกเป็นอย่างยิ่ง มีถนนใหญ่ขนาด 8-16 เลน ไว้รองรับ พร้อมกันนี้ยังมีแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดเรียงรายให้เลือกใช้บริการ ไม่รวมถึง ชัตเติลบัสที่ออกทุกๆ 5 นาทีคอยให้บริการฟรีแวะเวียนไปตามสนามต่างๆ ส่วนที่ ย่างกุ้ง ยังคงคราคร่ำไปด้วยความวุ่นวายของย่านการค้า สภาพการจราจรติดขัดไม่แพ้กรุงเทพฯ การเดินทางนอกจากแท็กซี่ ยังมีรถทัวร์ชั้นดีค่าบริการ 5 หมื่นจ๊าด (ประมาณ 1,640 บาท) ใช้เวลา 6 ชั่วโมง เพื่อข้ามไปยัง เนปิดอว์ ซึ่งห่างกันราว 300 กิโลเมตร หรือสามารถเลือกใช้บริการเครื่องบิน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 160 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 5,200 บาท)
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของทรัพยากรบุคคลที่คอยประสานงาน แม้สามารถพูดภาษาอังกฤษสื่อสารกับคณะนักกีฬาและสื่อมวลชนจากแต่ละชาติได้คล่อง แต่จากการร้างสนามในการจัดมหกรรมกีฬาไปนานกว่า 4 ทศวรรษ ทำให้การทำงานในส่วนของการอัปเดตผลการแข่งขันแบบเรียลไทม์ โปรแกรมล่วงหน้าในแต่ละวัน ยังดูติดขัดกว่า 2 ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นที่ สปป.ลาว หรือ อินโดนีเซีย ทั้งนี้เชื่อว่าเมื่อไฟในกระถางคบเพลิงถูกจุดขึ้นอย่างเป็นทางการ ระบบต่างๆ น่าจะเซตได้อย่างลงตัวขึ้น
สำหรับ พิธีเปิดการแข่งขัน เจ้าภาพซุ่มซ้อมเตรียมงานร่วมกับคณะออร์แกไนเซอร์จากไทยและหลายชาติที่ร่วมด้วยช่วยกันอยู่นานถึง 9 เดือน จึงรับประกันถึงความยิ่งใหญ่ได้ โดย พม่า แย้มการแสดงตลอด 4 ชั่วโมงเต็ม เน้นความเป็นเอกลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของคนในชาติ ประกอบ แสง สี เสียง อลังการ ที่จะช่วยบอกเล่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จนนำมาสู่ความเป็นสากลของ พม่า ได้อย่างเห็นภาพ โดยครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก เต็ง เส่ง เป็นประธานในพิธี ส่วนการจุดคบเพลิงยังเป็นความลับสุดยอดเช่นเคย แต่มีกระแสว่าอาจใช้นักยิงธนูจุดไฟให้โชติช่วง ด้านคณะนักกีฬาไทยได้รับพระมหากรุณาจาก พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ที่ทรงเสด็จร่วมเดินลงสู่สนามด้วย โดยมี “อาร์ม” ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง แข้งฟุตซอลตัวเก่งเป็นผู้ถือธงไตรรงค์นำขบวน
ส่วนความตื่นตัวกับซีเกมส์ครั้งนี้ แม้ผู้ชมตามสนามต่างๆ ยังคงน้อยอยู่ แต่ โมห์ โมห์ เนย์ วาน ไกด์นำเที่ยววัย 20 ปี เผยกับสำนักข่าว “เอเอฟซี” (AFP) ว่า “เป็นเรื่องดีและน่าตื่นเต้นสำหรับพม่า เพราะนานมากแล้วที่คนในประเทศไม่ได้เห็นการแข่งขันกีฬาเหมือนชาติเพื่อนบ้าน เป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงและลบภาพในอดีต”
ขณะที่ ธิฮา ซอว์ นักข่าวที่คร่ำหวอดในวงการมานาน ทิ้งท้ายไว้ว่า “การแข่งขัน ซีเกมส์ ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสถานะของประเทศ เราไม่ได้รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพมานานถึง 44 ปี ดังนั้นจึงถือเป็นชื่อเสียงของชาติและจะแสดงให้เห็นว่าเราเติบโตไปแค่ไหน นี่คือสิ่งที่พม่ากำลังต้องการอย่างยิ่ง”