“พี่อ้วนครับ…เป็นไง วันนี้ทำไมต้องใช้รถล่ะ” “มันปวดขาครับหมอ ขาซ้ายมันปวดแล้วชาๆเย็นๆ ยังไงก็ไม่รู้” ชายรูปร่างท้วมตอบพร้อมกับเลิกขากางเกงขึ้นโชว์หน้าแข้งซ้ายให้หมอดู “อุ๊ย! ขาขาวจั๊วอย่างกับผู้หญิง แล้วขนหน้าแข้งมันหายไปไหนหมด เอ๊ะ พี่เป็นเบาหวานหรือเปล่าเนี่ย? “เป็นอยู่แล้ว…ละมันเกี่ยวกันไหมเนี่ย?” “เกี่ยวอย่างแรงเลยครับพี่ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง”
ผู้ที่เป็นเบาหวาน ควรตรวจเท้าอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือบ่อยกว่านั้นตามความจำเป็น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางศัลยกรรมหลอดเลือดกล่าวว่า “การตรวจเท้าในผู้ป่วยเบาหวาน เป็นการตรวจอวัยวะส่วนปลาย คือเท้า ที่มีโอกาสเกิดภาวะเลือดไปเลี้ยงน้อย จากการตีบตันของหลอดเลือด ร่วมกับการเกิดปลายประสาทอักเสบ ทำให้สูญเสียการรับความรู้สึก ซึ่งถ้าเท้าเกิดรอยแผลเล็กๆขึ้นโดยไม่รู้ตัว จะไม่รู้สึกเจ็บ และอาจกลายเป็นแผลติดเชื้อลุกลาม จนทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสโลหิต หรือต้องตัดขาตัดเท้าได้ในที่สุด
สัญญาณเตือน….
• ขนที่ขาหรือเท้าจะน้อยลง
• สีผิวที่ขาจะซีด หรือบางรายจะคล้ำขึ้น
• คลำชีพจรที่ส้นเท้าไม่ได้ หรือเบาลง
• เท้าจะเย็นกว่าอีกข้างหนึ่ง
• มีแผลเรื้อรังที่เท้า
แล้วรู้ได้อย่างไร?
นอกจากประวัติและการตรวจร่างกาย ซึ่งจำเป็นต้องทำทุกรายที่มีอาการเตือนดังกล่าวแล้ว ยังมีการตรวจคัดกรองด้วยการวัดความดันเทียบระหว่างแขนกับขา ที่เรียกว่า Ankle - Brachial index หรือ ABI ซึ่งสามารถบอกได้คร่าวๆว่า ผู้ป่วยมีภาวะนี้ซ่อนอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการไม่แน่ชัด หรือยังไม่มีอาการ
รักษาอย่างไร?
การรักษาแผลเบาหวานที่เท้า ที่เกิดจากโรคหลอดเลือดตีบตันมีหลายวิธี ผู้ป่วยที่มีการตีบตันเพียงเล็กน้อย อาจเริ่มด้วยการใช้ยารักษา ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่มากขึ้น เช่น การสอดสายสวนขยายหลอดเลือด ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในการรักษา หรือการผ่าตัด By pass ต่อเส้นเลือดเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงส่วนปลายขาได้
ข้อดีของวิธีการสอดสายสวนเพื่อขยายหลอดเลือด คือ ไม่ต้องผ่าตัด เพียงเจาะเข็มเล็กๆเข้าไปที่ผิวหนัง และไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน …เอ้า พี่อ้วนขาใหญ่ เอาไงดี!!