xs
xsm
sm
md
lg

เคานต์ดาวน์ความพร้อม จากอินชอนสู่ อช.เกมส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รถชัทเทิลบัส ไปส่งทุกสนาม
ASTV ผู้จัดการรายวัน - ศึก เอเชียน อินดอร์ แอนด์ มาร์เชียล อาร์ต เกมส์ ครั้งที่ 4 ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ รูดม่านไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม แม้เป็นเพียงทัวร์นาเมนต์ระดับเล็ก แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเตรียมความพร้อมของคณะกรรมการโอลิมปิกเกาหลีใต้ ในการรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาระดับยักษ์แห่งเอเชีย ซึ่งจะกลับมาใช้เมืองแห่งนี้เป็นสังเวียนรองรับนักกีฬาและคณะสื่อมวลชนจากชาติต่างๆ โดยทีมข่าว MGR Sport ที่บินลัดฟ้าไปเกาะติด “อินชอนเกมส์” ตลอด 8 วันที่ผ่านมา จึงถือโอกาสเช็กความพร้อมของเจ้าภาพในเรื่องต่างๆ ก่อนที่ “เอเชียน เกมส์ 2014” จะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 19 กันยายน ปีหน้า

ระบบคมนาคม
สำหรับการเดินทางไปยังสนามแข่งขันต่างๆ สื่อมวลชนสามารถเลือกใช้บริการรถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี มิเตอร์ หรือ รถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งถือว่าสะดวกสบายเป็นอย่างมาก โดยผู้ที่สนใจอยากนั่งรถโดยสาร หรือรถไฟฟ้า ทางเจ้าภาพก็จะมอบบัตรเติมเงินให้ใช้กันฟรีๆ ภายในวงเงิน 1 หมื่นวอน (ประมาณ 274 บาท) หรือถ้าเลือกแท็กซี ก็สามารถยืนเรียกได้ตามถนนต่างๆ อัตราค่าบริการเริ่มต้นที่ 2,400 วอน (ประมาณ 65 บาท) หรือมากกว่านี้หากเลือกคันที่หรูกว่าปกติ แต่ถ้าไม่อยากเสียเงินก็เดินไปขึ้นรถ ชัตเติลบัส ข้าง เพรส เซ็นเตอร์ ซึ่งจะมีป้ายระบุจุดหมายปลายทางอยู่ด้านหน้าทุกคัน

การประชาสัมพันธ์
ถือเป็นเรื่องที่ฝ่ายจัดการแข่งขันที่เกาหลีใต้ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับกิจกรรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งทัวร์นาเมนต์ เอเชียน อินดอร์ แอนด์ มาร์เชียล อาร์ต เกมส์ ก็ได้มีการนำแบนเนอร์หรือป้ายโฆษณาต่างๆ ไปติดตั้งรอบตัวเมือง เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนรู้สึกตื่นตัวจน อยากเดินทางจากบ้านไปชมและเชียร์นักกีฬาของเจ้าถิ่น เท่านั้นไม่พอ ยังมีการยิงสปอตโฆษณาผ่านทางจอทีวีอย่างต่อเนื่องทุกช่องทุกสถานี แม้ศึก อินชอนเกมส์ ที่ผ่านมาจะมีผู้ชมค่อนข้างบางตา เพราะเป็นทัวร์นาเมนต์แข่งกันไม่กี่ชนิดกีฬา แต่เชื่อว่าเมื่อถึงคราว เอเชียน เกมส์ น่าจะมีแฟนกีฬาเข้ามาชมกันเต็มความจุสนาม

สนามแข่งขัน-ความปลอดภัย
ศึก “อินชอนเกมส์” ครั้งล่าสุด เลือกใช้สนามแข่งขันซึ่งล้วนเป็นสนามกีฬาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเมืองและฮอลล์ขนาดใหญ่ ถึง 9 แห่งด้วยกัน ซึ่งถือว่าได้มาตราฐานเป็นอย่างดี เพราะยังไม่เคยมีข่าวว่านักกีฬาได้รับบาดเจ็บขณะลงแข่งแม้แต่รายเดียว พร้อมติดตั้ง อินเตอร์เน็ต ทั้งระบบแลน (LAN) และ ไวไฟ (WIFI) ให้สื่อได้ใช้ส่งข่าวฟรีทุกสนาม ขณะที่ระบบรักษาความปลอดภัยก็ถือว่าจัดเต็ม เนื่องจากมีข้าราชการระดับทหาร คอยสอดส่องอยู่ตามจุดต่างๆ แถมยังมีเครื่องมือตรวจจับแม่เหล็กตั้งไว้ด้านหน้า ทว่ายังมีความหละหลวมอยู่บ้าง บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยให้ผู้คนเดินเข้าออกสนามรวมถึงห้องพักนักกีฬากันได้ง่ายเกินไป

อาสาสมัคร
อีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับทัวร์นาเมนต์กีฬา โดยที่ผ่านมาฝ่ายเจ้าภาพได้ระดมอาสาสมัครทั้งกลุ่มพ่อบ้าน-แม่บ้าน และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จำนวนกว่า 7 พันคน มาคอยอำนวยความสะดวกไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอกสารข้อมูล แนะนำเส้นทาง ขับรถ ชัตเติลบัส รับส่งนักกีฬาและสื่อมวลชนไปยังสนามแข่งขัน ซึ่งบรรดาอาสาสมัครทุกคนล้วนพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องปากแถมยังต้อนรับด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แม้ในเรื่องของการทำงานจะมีปัญหาบ้าง อาทิ คนขับรถ ชัตเติลบัส มาไม่ตรงเวลาจนทำให้หลายฝ่ายมีเวลาเตรียมตัวทำงานหน้าสนามกันไม่ถึงครึ่งชั่วโมง และโชเฟอร์บางคนยังเป็นมือใหม่ ไม่ชำนาญเส้นทางจนพาผู้โดยสารหลงไปที่อื่น แต่เชื่อว่าข้อผิดพลาดทุกอย่างจะได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นในช่วงเวลาที่เหลืออีก 1 ปีต่อจากนี้
แบนเนอร์ประชาสัมพันธ์ตามรถไฟฟ้า
สนามแข่งขันได้มาตรฐาน
อาสาสมัครทำงานแข็งขัน
กำลังโหลดความคิดเห็น