ASTV ผู้จัดการรายวัน - หากเอ่ยถึงกีฬาขี่ม้าในประเทศไทย อาจมีเพียงไม่กี่ชื่อที่ผุดขึ้นมา คือ “ณีนา” รุจิราภรณ์ ล่ำซำ ลิเกิ้น สาวลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ที่เพิ่งลงแข่งประเภทอีเวนติงศึก โอลิมปิก ลอนดอน เกมส์ มาหมาดๆ เมื่อกลางปีที่แล้ว ทั้งที่วัยแค่ 20 ปีเท่านั้น ถ้าย้อนไปไกลกว่านั้นอีกหน่อยก็คงหนีไม่พ้น “ปูไข่” พงศ์สิรี บรรลือวงศ์ เจ้าของเหรียญทองประเภทข้ามเครื่องกีดขวางศึก เอเชียน เกมส์ ที่ปูซาน เกาหลีใต้ ปี 2002 แต่ล่าสุดมีดาวดวงใหม่ของวงการนี้เกิดขึ้นคือ เสียงซอ เลิศรัตนชัย ที่ไปสร้างชื่อคว้าอันดับ 2 การแข่งขันชิงแชมป์โลกรายการ “เอฟอีไอ เวิลด์ จัมปิง ชาลเลนจ์” โดยถูกจ๊อกกีสาวเจ้าถิ่นของเวเนซูเอลาเฉือนไปเพียงแค่แต้มเดียว
เสียงซอ เป็นบุตรสาวคนเล็กของ วินิจ ดีเจชื่อดังในอดีตของเมืองไทย กับ “ส้มโอ” เพ็ญพิสุทธิ์ เลิศรัตนชัย เหนืออื่นใดสิ่งที่ทำให้สื่อกีฬาทุกสำนักและทุกแขนงจับตามองไม่ใช่เพราะความโด่งดังของทั้งพ่อและแม่ แต่เป็นความสามารถที่สาวน้อยวัย 17 ปีหมักบ่มจนได้ที่ ส่วนครอบครัวนั้นเหมือนเป็นแรงผลักดันและคอยสนับสนุนให้ก้าวมาจนถึงวันนี้
ส่วนหนึ่ง เสียงซอ น่าจะได้เลือดของ วินิจ คุณพ่อที่มีความเป็นสปอร์ตแมน ชอบเล่นกีฬาหลากหลายชนิดสมัยหนุ่มๆ รวมถึงมีสนามม้าบริเวณบ้านพักย่านบางไทร ส่วนลูกสาวนั้นเริ่มต้นเล่นกีฬาว่ายน้ำก่อนเป็นลำดับแรกที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ดูหน่วยก้านแล้วน่าจะเอาดีทางด้านขี่ม้ามากกว่าจึงให้ไปศึกษาที่โรงเรียนนานาชาติแฮร์โรว์ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เพราะถือเป็นสถาบันที่สนับสนุนกีฬาชนิดนี้ด้วย
“น้องซอ” หรือ เสียงซอ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักกีฬาขี่ม้ากับทีมข่าว MGR Sport ว่า “ช่วงแรกเป็นนักกีฬาว่ายน้ำ แต่รูปร่างเล็กมากจน สายลับ ซึ่งก็คือพี่สาวเล่นขี่ม้าอยู่ก่อนแล้ว แอบท้าว่าถ้าไปแข่งว่ายน้ำแล้วได้แชมป์กลับมาจะยกม้าให้เป็นรางวัล 1 ตัว สุดท้ายก็ได้เหรียญรางวัลกลับมาจนตกใจกันไปทั้งบ้าน จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นก็ว่าได้ จากนั้นได้มีโอกาสติดตามคุณพ่อและพี่สาวดูการฝึกซ้อม ก่อนเริ่มหัดจริงจังเมื่ออายุ 8 ขวบ โดยเริ่มจากขี่ม้า PONY (ม้าแคระ) และเริ่มแข่งขันตั้งแต่นั้นมา พอได้รางวัลติดไม้ติดมืออีก จึงเริ่มติดใจการขี่ม้าตั้งแต่นั้นมา โดยปัจจุบันมีอยู่ 2 ตัวชื่อ VICTORY อายุ 10 ปีได้จากพี่สาวและ ELMO ซื้อจากประเทศเนเธอร์แลนด์สเมื่อปี 2011 โดยมีคุณแม่เดินทางไปเป็นเพื่อนและตามไปทุกที่ที่มีการแข่งขันตั้งแต่นั้นมา”
แน่นอนว่ากีฬาชนิดนี้ถือว่าห่างไกลกับคนไทยพอสมควร แต่ เสียงซอ ไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะสามารถค้นพบเสน่ห์ของการควบไปบนหลังม้าและบังคับให้ไปดั่งใจต้องการ “ส่วนตัวมองว่าขี่ม้าถือเป็นกีฬาที่เปิดกว้างตรงที่ไม่จำกัดเพศและรูปร่างที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบคู่ต่อสู้เมื่อเทียบกีฬาชนิดอื่นๆ และกีฬาชนิดนี้ยังมีเสน่ห์ฝึกให้เราอดทนและปลูกฝังให้รักสัตว์เข้าใจเวลาอยู่กับมัน เพราะต้องคลุกคลีพูดคุยทุกวัน ทำความสะอาดทั้งอาบน้ำรวมถึงคอกม้า จัดอาหารให้กินครบ 3 มื้อ เพราะคนกับม้าต้องสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเมื่ออยู่สนามแข่งขันถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด”
การแข่งขันขี่ม้ามีหลายประเภท แต่ทำไมต้องเป็นข้ามเครื่องกีดขวาง เสียงซอ เผยว่า “ปกติกีฬาขี่ม้าจะมีทั้งหมด 3 ประเภท เริ่มจากประเภทศิลปะบังคับม้า มองว่าเป็นการทำอะไรที่ซ้ำซากน่าเบื่อและไม่รู้สึกท้าทายอะไร ส่วนอีกประเภทคือการแข่งขันขี่ม้าข้ามภูมิประเทศหรือครอสคันทรี ซึ่งก็อันตรายจนเกินไป เพราะหากม้ากระโดดข้ามไม่ผ่านก็จะเกิดอันตรายต่อนักกีฬาและสัตว์เองด้วย จึงเลือกในประเภทสุดท้ายก็คือประเภทกระโดดข้ามเครื่องกีดขวางที่ดูท้าทายและไม่อันตรายมากเกินไป”
ซึ่งบ้าน เลิศรัตนชัย เรียกได้ว่าต้องสร้างพิพิธภัณฑ์ย่อมๆ เอาไว้เก็บรางวัลที่ เสียงซอ กอบโกยมาได้ แต่ที่ภาคภูมิใจที่เห็นจะเป็นแชมป์การแข่งขันขี่ม้าชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่นักกีฬาทุกคนใฝ่ฝันอยากได้มาครอบครองมากที่สุด เพราะถือเป็นเกียรติสูงสุดของชีวิตเลยก็ว่า โดยรายการนี้จะต้องขี่ม้าข้ามเครื่องกีดขวาระดับความสูง 140 เซนติเมตร ซึ่งใช้ระยะเวลาในการฝึกซ้อมถึง 3 ปี โดยเริ่มไต่ระดับจาก 80 ซม.
ตอนนี้ เสียงซอ จบการศึกษาระดับไฮสกูลที่โรงเรียนนานาชาติแฮร์โรว์เรียบร้อยแล้ว จึงทำให้ปีนี้ได้หยุดพักเรียน 1 ปี ก่อนจะเข้าระดับมหาวิทยาลัยปีหน้า ซึ่งเธอตั้งใจศึกษาต่อคณะนิเทศศาสตร์ หรืออักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่ก็มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเผยว่า “เป็นคนที่ชื่นชอบวิชาภูมิศาสตร์และภาษาเป็นอย่างมาก ตั้งใจอยากศึกษาต่อด้านภาษานอกเหนือจากอังกฤษแล้ว ยังชื่นชอบภาษาฝรั่งเศส เพราะในอนาคตอาจจะต้องสื่อสารกับโค้ชขี่ม้าชาวสวิส ที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เลย”
สุดท้ายนี้หลายคนย่อมอยากรู้ว่า เสียงซอ วางเป้าหมายเกี่ยวกับการขี่ม้าไว้ที่ใด เพราะนักกีฬาทุกคนย่อมอยากที่จะรับใช้ชาติ ซึ่งก็คือการผ่านตัดตัวประเภทข้ามเครื่องกีดขวางติด 1 ใน 5 คนเพื่อลุย ซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ที่เนปิดอว์ ประเทศเมียนมาร์ ปลายปีนี้ แม้ยอมรับเป็นงานหนักที่จะคว้าเหรียญทอง เพราะต้องใช้ม้าที่ฝ่ายจัดการแข่งขันเตรียมไว้ให้จึงเป็นความท้าทายที่จะต้องฝ่าฟันให้ได้ รวมถึงการแข่งขัน ยูธ โอลิมปิก เกมส์ ที่หนานจิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ปี 2014 ที่ถือเป็นสถานีต่อไปอีกด้วย