ASTVผู้จัดการรายวัน-นอกจากลอนดอนทาวเวอร์ ลอนดอนอาย และ หอนาฬิกาบิ๊กเบน ถึงเวลานี้ โอลิมปิก พาร์คกลายเป็นจุดหมายแห่งการท่องเที่ยวของคนจากทั่วเกาะอังกฤษ แม้ว่าทัวร์นาเมนท์กีฬาแห่งมนุษยชาติอาจไม่ได้สร้างความกระตือรือร้นให้กับเหล่าลอนดอนเนอร์ทั้งหลาย หากพื้นที่ที่ในอดีตเป็นแหล่งเสื่อมโทรมไม่ได้รับการพัฒนา ทว่าปัจจุบนเมื่อได้รับการปรับโฉมใหม่ทั้งหมด เหล่านักท่องเที่ยวและแฟนกีฬาทั้งในและนอก “เกรท บริเทน” ต่างมุ่งหน้ามาสู่ “นิวแลนด์” แห่งกรุงลอนดอน
โอลิมปิกพาร์ค สถานที่ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ “ลอนดอน 2012”นั้นภายในประกอบไปด้วย เวลโลโดรม บาสเกตบอลอารีน่า ริเวอร์แบงค์อารีน่า (สนามสำหรับการแข่งขันฮอกกี้) คอปเปอร์ บอกซ์ (สนามสำหรับการแข่งขันแฮนด์บอล) วอเตอร์ โปโล อารีน่า อควาติกเซนเตอร์ (สำหรับกีฬาทางน้ำ) และ โอลิมปิกสเตเดี้ยม นอกจากนี้ยังมีส่วนของ “อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาส เซนเตอร์” หรือ ไอบีซี สำหรับผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ และ “เมน เพรส เซ็นเตอร์” สำหรับผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์
นอกจากสนามกีฬาที่ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 2.5 ตารางกิโลเมตรภายในโอลิมปิกพาร์ค ที่เปรียบเสมือสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งรวมตัวแห่งใหม่ของผู้คนในกรุงลอนดอน ยังมีศูนย์สรรพสินค้าขนาดใหญ่อย่าง “เวสต์ฟีลด์ สเตรทฟอร์ด ซิตี้” ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน รวมไปถึงร้านอาหาร และ เมกกะสโตร์ของที่ระลึกในโอลิมปิก 2012 ขณะที่เหล่าผู้ให้ความสนับสนุนในการแข่งขันครั้งนี้ต่างก็พากันแข่งขันในการเรียกความสนใจจากบูธของตนเอง ทั้งซัมซุง แมคโดนัลด์ โคคาโคล่า หรือรถยนต์ค่ายหรูอย่าง บีเอ็มดับเบิลยู และ มินิคูเปอร์
ทั้งนี้ โอลิมปิกพาร์ค ไม่ได้เป็นเพียงแค่ศูนย์รวมสนามกีฬา หากแต่เป็นศูนย์รวมความสนุกสนานจากเกมการแข่งขัน สีสันของกองเชียร์ รวมไปถึงการได้เข้ามาชม งานแสดงศิลปะ ที่เจ้าภาพได้จัดวางผลงานของศิลปินไว้ตามสนามและทางเดินภายในโอลิมปิก พาร์ค อาทิ “ไอโฟ สเปคตรัม” (Ifo Spectrum) ภาพรั้วแบบสามมิติฝีมือของศิลปิน คาร์สเตน นิโคไล หรือ ผลงานที่มีชื่อว่า “ไวลด์ สวิมเมอร์” (Wild Swimmer) บทกวีที่จารึกแบบนูนต่ำบนแผ่นไม้ ซึ่งทั้งสองผลงานนี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างจากงานศิลปะกว่า 20 ชิ้นในโอลิมปิกพาร์ค
เมื่อรวมเอาความน่าสนใจเกือบทุกแขนงไว้ในพื้นที่แห่งเดียว จึงไม่น่าแปลกใจที่ห้วงเวลานับตั้งแต่เปิดโอลิมปิกพาร์ค จนถึงปัจจุบันจะมีผู้คนจากทั่วสารทิศทั้งในและนอกเกาะอังกฤษเดินทางมายัง “นิวแลนด์” แห่งใหม่ของกรุงลอนดอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการแข่งขันซึ่งเจ้าภาพต้องลงสนามในโอลิมปิกสเตเดี้ยม บรรดาแฟนกีฬาที่ไม่อยากซื้อบัตรเข้าชมที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 100 ปอนด์ (ประมาณ 5,000บาท) จะมารวมตัวกันในโอลิมปิกพาร์ค พร้อมชมการถ่ายทอดสดจากจอขนาดใหญ่โดยมีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่ามีจำนวนอยู่ในหลักเกือบครึ่งแสนเลยทีเดียว
แต่ด้วยความที่ โอลิมปิก พาร์ค คือศูนย์กลางแห่งความสนใจของคนทั้งโลกระบบรักษาความปลอดภัยก่อนเข้าสนามจึงเข้มข้น ขณะที่ค่าครองชีพต่อวันหากคิดจะมาซึมซับบรรยากาศในโอลิมปิก พาร์ค ต้องมีเงินอย่างน้อย 50 ปอนด์ (ประมาณ 2,500 บาท) เป็นอย่างต่ำเพราะอาหารที่อยู่ภายในพื้นที่โอลิมปิกพาร์คนั้น มีราคาเริ่มต้นที่ 8.50 ปอนด์ ( 425 บาท) สำหรับอาหารหนึ่งจาน ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นราคามหาโหด และ รสชาติก็ไม่ได้ดีไปกว่า “แมคโดนัลด์” ที่มีชีสเบอร์เกอร์ ราคา .99 เพนซ์ (ประมาณ 49 บาท) โดยคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ลอนดอน อีฟนิ่งส์ นิวส์ ได้เขียนถึงอาหารในโอลิมปิก พาร์คไว้ว่า “หากคิดจะไปชมการแข่งขันและบรรยากาศในโอลิมปิกพาร์คนั้นให้ซื้ออาหารตามรถโมไบลด์ ริมถนนก่อนที่จะเข้ามาจะดีกว่าเพราะนอกจากราคาจะสมเหตุสมผลแล้วรสชาติก็ยังดีกว่าของที่อยู่ด้านใน”
โดยทีมข่าวกีฬา ASTVผู้จัดการรายวันได้มีโอกาสพูดคุยกับ ครอบครัวจากเมือง “เอสเซส” ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเกาะอังกฤษ ซึ่งทั้งสามคนเดินทามาเพื่อชมการแข่งขันและสัมผัสบรรยากาศของโอลิมปิกพาร์ค โดยเฉพาะซึ่งทุกคนต่างประทับใจกับสิ่งที่ได้พบให้ แต่ทั้งหมดไม่ได้ค้างคืนในลอนดอนเนื่องจากราคาโรงแรมที่พักนั้นสูงเกินไปพวกเขาระบุว่าเมื่อชมการแข่งขันจบ จะกลับบ้านที่ “เอสเซส” ทันที
ทั้งหมดนี้คือภาพรวมของ โอลิมปิก พาร์ค “นิวแลนด์แห่งใหม่ของกรุงลอนดอน เมื่อการแข่งขันโอลิมปิกจบลง หมู่บ้านนักกีฬาจะกลายเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัย ที่เปิดให้บุคคลทั่วไปได้จับจอง ส่วนงานแสดงศิลปะต่างๆ จะกลายเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชม ขณะเดียวกัน สวนสาธารณะภายในโอลิมปิกพาร์ค จะกลายเป็นสถานที่พักผ่อนสำหรบผู้คนในย่าน สเตรทฟอร์ด และไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ข้างหน้านี้ ผู้คนทั่วโลกจะรู้จัก โอลิมปิกพาร์คแห่งกรุงลอนดอนในชื่อใหม่ว่า “ควีน อลิซาเบธ โอลิมปิกพาร์ค”แทน