xs
xsm
sm
md
lg

“ใจสั่น ใจหวิว” ไม่ใช่เรื่องชิว ชิว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไม่น่าเชื่อว่าประชาจะอายุสั้นอย่างนี้! ถึงแม้อายุจะย่าง 62 ปีแล้ว แต่ประชายังดูหนุ่มกว่าอายุสัก 10 ปี เห็นจะได้ ชายอารมณ์ดี รูปร่างท้วม หวีผมเรียบแปล้ ชอบใส่เสื้อสีส้มออกรอบ ใครๆเห็นก็ต้องจำได้ ประชาเป็นโรคไหลตาย (นอนหลับแล้วไม่ตื่น) ใครจะไปเชื่อ?

ทางการแพทย์ “โรคไหลตาย” เป็นภาวะผิดปกติของหัวใจที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิตอย่างหนึ่ง เรามักได้ยินข่าวผู้ที่กำลังเล่นกีฬาอยู่แล้วเกิดอาการวูบ หมดสติ หัวใจวาย เสียชีวิตกะทันหันชนิดส่งโรงพยาบาลไม่ทันอยู่เนืองๆ ทั้งที่เจ้าตัวก็ไม่รู้ว่าเป็นโรคหัวใจมาก่อน

ความจริงแล้วมีคนจำนวนไม่น้อยที่หลงคิดไปว่าอาการที่ตัวเองเป็นอยู่บ่อยๆเป็นอาการของโรคที่ไม่ร้ายแรง อาจเป็นเพราะมีกรดในกระเพาะมาก หรือมีอาการเพลียเพราะหักโหมงานมากไป หลงไปกินยาขับลมช่วยย่อย ยาบำรุง หรือยาคลายเครียดต่างๆ กว่าจะรู้ว่ากำลังมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจก็สายไปเสียแล้ว

ปกติอัตราการเต้นของหัวใจจะอยู่ที่ 60-80 ครั้งต่อนาที ขณะนั่งพัก และขณะเดินหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นเป็นประมาณ 80-100 ครั้งต่อนาที และมากกว่า 100 ในขณะวิ่ง แต่ถ้าหัวใจมีอัตราการเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายขณะนั้น ก็ถือว่าหัวใจมีอัตราการเต้นผิดปกติ ซึ่งโดยทั่วไปสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ

1.หัวใจเต้นช้าผิดปกติ จะมีอาการที่สำคัญคือ เกิดภาวะที่ร่างกายจะได้รับเลือดไม่เพียงพอกับความต้องการ ถ้าเป็นน้อยก็จะมีอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง ถ้าเป็นมากขึ้นก็จะมีอาการเหนื่อยแม้ในขณะพัก ถ้าเต้นช้าขั้นรุนแรงจะมีอาการหน้ามืด หมดสติ หรือเสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นได้

2.หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ จะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรง เหนื่อยกว่าปกติ ในผู้ป่วยสูงอายุหรือมีโรคหัวใจอ่อนกำลังอยู่เดิมอาจทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ หัวใจล้มเหลว หมดสติ หรือเสียชีวิตได้

นอกจากโรคหัวใจที่เกิดจากการผิดปกติของอัตราการเต้นของหัวใจแล้ว ยังอาจเกิดจากความผิดปกติของจังหวะการเต้นของหัวใจก็ได้ กรณีที่หัวใจเต้นผิดจังหวะนี้มักจะเกิดจากการที่มีจุดกำเนิดไฟฟ้าหัวใจนอกเหนือจากจุดกำเนิดไฟฟ้าปกติของหัวใจ (SA node) ซึ่งจะปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาเป็นครั้งคราว ไม่สัมพันธ์กับกระแสไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาจาก SA node ทำให้รบกวนจังหวะการเต้นของหัวใจ เกิดการเต้นผิดจังหวะขึ้นได้

สรุปว่าภาวะหัวใจเต้นผิดปกติมีหลากหลายชนิด แต่ละชนิดมีวิธีการรักษาแตกต่างกันไป แต่พอจะแบ่งแนวทางการรักษาได้ดังนี้
1.หัวใจเต้นช้าผิดปกติ แก้ไขได้โดยการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ
2.หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
2.1.ขั้นรุนแรง ซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเฉียบพลันยังสามารถแก้ไขได้ด้วยการใส่เครื่องกระตุกหัวใจ
2.2.ขั้นไม่รุนแรง สามารถรักาด้วยการใช้ยาต้านการเต้นผิดปกติ หรือการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ

ดังนั้นเมื่อนักกอล์ฟได้ทำความรู้จักกับโรคหัวใจดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเกิดความไม่แน่ใจว่าอาการเหนื่อยง่ายใจสั่นที่เป็นอยู่จะใช่โรคหัวใจหรือไม่ ทางที่ดีก็คือไปพบแพทย์เพื่อปรึกษา และตรวจเช็คเสียให้แน่ใจจะดีกว่าครับ ก่อนที่จะสายไป
กำลังโหลดความคิดเห็น