โปรกอล์ฟของโลกในอดีต BILLY CASPER กล่าวไว้ว่า “การจับกริพที่ถูกต้องคือหัวใจสำคัญของการบังคับลูก” และเน้นว่า “ท่านจะไม่มีโอกาสสวิงได้อย่างถูกต้อง หากท่านจับกริพไม่ถูกวิธี” ดังนั้นนักกอล์ฟที่มีปัญหาเรื่องนิ้วล๊อคจึงเป็นอุปสรรคในการเล่นกอล์ฟเป็นอย่างยิ่ง
นิ้วล๊อคหรือ TRIGGER FINGER คือการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็น (STENOSING TENOSYNOVITIS) ของเอ็นที่ใช้งอนิ้วมือหรือนิ้วหัวแม่มือตรงบริเวณโคนนิ้ว โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดบวมที่ฝ่ามือบริเวณดังกล่าว และจะปวดมากขึ้นเมื่อขยับนิ้วมือนั้น อาจมีอาการฝืดกำมือไม่ค่อยเข้าในตอนตื่นนอนเช้า ถ้าได้แช่น้ำอุ่นและนวดเบาๆอาการจะดีขึ้น ถ้าเป็นมากขึ้นจะงอหรือเหยียดนิ้วนั้นลำบาก มีอาการสะดุดเหมือนการกางและหุบใบมีดพับ และอาจมีเลียงดังเหมือนขึ้นไก่ปืน (TRIGGER) มักพบเป็นกับนิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วหัวแม่มือ
สาเหตุของอาการสะดุดดังกล่าวในเวลางอเหยียดนิ้วนั้น เกิดขึ้นเพราะบริเวณโคนนิ้วจะมีพังผืดยึดเอ็นนั้นเอาไว้ในลักษณะเหมือนถ้ำที่รถไฟลอดเข้าออก (PULLEY) และเมื่อเอ็นมีการอักเสบบวมขึ้น หรือเป็นก้อนเป็นตุ่มขึ้นมา จึงลอดผ่านเข้าออกถ้ำลำบาก เกิดติดขัดหรือสะดุดที่บริเวณปากถ้ำทั้ง 2 ด้าน นิ้วจึงมีการดีดเหมือนมีดพับ พร้อมทั้งอาจรู้สึกดังกึ๊ก-กั๊ก เวลาเราพยายามงอ เหยียดนิ้วนั้น
สาเหตุของการอักเสบไม่ทราบแน่ชัดอาจเกิดจากการใช้มือทำงานในท่ากำมืออย่างแรงซ้ำๆบ่อยๆ เช่น ในนักกีฬากอล์ฟ เทนนิส แบตมินตัน ผู้ที่ใช้นิ้วหิ้วของหนักบ่อยๆ หรือทำสิ่งของอะไรนานๆ มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบมากในวัยกลางคน
การรักษาแบ่งเป็น 1 รักษาโดยไม่ผ่าตัด ประกอบด้วย การรับประทานยาลดอาการอักเสบ ลดอาการบวมและอาการปวด และการทำกายภาพบำบัด ได้แก่ การแช่น้ำอุ่น หรือพาราฟินร้อน การรักษาด้วยคลื่นเสียง ถ้าอาการไม่ดีขึ้นแพทย์อาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์ตรงบริเวณปลอกเอ็นที่อักเสบนั้น
2 การรักษาโดยการผ่าตัด จะทำการผ่าตัดในรายที่มีการติดหรือสะดุดของการงอเหยียดนิ้ว และรักษาโดยการฉีดยาแล้วยังไม่ได้ผล โดยจะทำการผ่าตัดเปิดพังผืดที่รัดเอ็นนั้นออก ทำให้เอ็นเคลื่อนไปมาได้คล่องไม่ติดขัดอีก
ทั้งนี้ใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2 สัปดาห์ และนักกอล์ฟสามารถกลับมาซ้อมเพื่อออกรอบได้ภายใน 1 เดือน มีคำถามว่า แล้วจะกลับมาเป็นนิ้วอื่นอีกได้ไหม? ตอบว่า มีโอกาสเป็นได้ครับโรคนี้ เหมือนเวลาท่านเดินข้ามถนนโอกาสถูกรถชนอีกมีครับ ขึ้นอยู่กับความระมัดระวังและความไม่ประมาทของท่านเองครับ และโรคนี้ก็ป้องกันได้โดยที่นักกอล์ฟจะต้องจับกริพให้ถูกวิธี อย่ากำแน่นเกินไป และหมั่นบริหารนิ้วมือ ถ้ามีอาการเจ็บอักเสบต้องหยุดพักและรักษาโดยเร็ว อย่าปล่อยทิ้งไว้จนมีอาการมากขึ้น